เริ่มแล้ว ถกงบฯเพิ่ม1.22 แสนล้านบาท 'นายกฯ' ยันอยู่ในกรอบวินัยการเงิน
"สภาฯ" เริ่มถกงบเพิ่มใช้โครงการแจกเงิน 1.22แสนล้านบาทแล้ว "นายกฯ" ยันอยู่ในกรอบวินัยการเงิน มั่นใจมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ.... วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ กล่าวนำเสนอตอนหนึ่งว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.ของรัฐบาล เพราะมีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการใช้ เม็ดเงินที่ได้มานั้นจะนำเป็นเม็ดเงินหมุนเวียน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและกาดำรงชีพ สร้างโอกาสประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งนี้เไม่สามารถรอพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ เพื่อนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ผ่านโครงการเติมเงิน หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่คำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ยุทธศาสตร์ชาติ
นายกฯ ยังชี้แจงต่อฐานะการคลัง ด้วยว่ามีหนี้สาธารณะคงค้าง วันที่ 30 เม.ย.2567 มีจำนวน 1.1 ล้านบาท คิดเป็น 63.78% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่ 70 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทั้งนี้ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง วันที่ 31 พ.ค. 2567 มีจำนวน 3.9แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
นายกฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับ งบรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวน 1.22 แสนล้านบาท มีที่มาจากรายได้รัฐบาล จำนวน 10,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 112,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิม ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 3.4แสนล้านบาท จะทำให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3.6 ล้านล้านบาท
“แม้งบรายจ่ายเพิ่มเติม 67 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิม จะมีการขาดดุลเพิ่มเติม แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวน 9.7หมื่นล้านบาท โดยเมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนกับกฎหมายงบประมาณ จำนวน 7.1 แสนล้านบาท จะทำให้มีรายจ่ายลงทุน จำนวน 8.07 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 17.1% และคิดเป็นสัดส่วน 22.4% ของวงเงินงบประมาณรวม การบริหารงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย” นายกฯ ชี้แจง.