‘พท.’ปรับกลยุทธ์งานสภา แก้ภาพติดลบ ‘แจกหมื่น’

‘พท.’ปรับกลยุทธ์งานสภา แก้ภาพติดลบ ‘แจกหมื่น’

"เพื่อไทย" รู้ตัวเอง หากปล่อยให้เกมสภา ถูก "ฝ่ายค้าน" รุกไล่ ปม "ดิจิทัลวอลเล็ต" โดยไม่ตอบโต้ อาจเสียเครดิต-คะแนนนิยม การปรับกลยุทธ์สู้จึงเกิดขึ้น

KEY

POINTS

Key Point : 

  • เกมต่อสู้ในสภาฯ ดูท่าจะใช้เสียงข้างมาก เอาชนะกันอย่างเดียวไม่ได้
  • เพราะ "เพื่อไทย" เสียงรังวัดมาหลายครั้ง จากการถูก "ฝ่ายค้าน" ฮุกหมัดใส่ปลายคาง ปม "แจกหมื่น" หลายครั้ง
  • และยิ่งการดันโครงการเรือธงไม่ได้สักที ทำให้ภาพติดลบ
  • การแก้เกม ปรับกลยุทธ์ของ "เพื่อไทย" จึงเกิดขึ้น เห็นได้จากวงประชุม ถก ร่างกม.ขอเติมงบ  ใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อ 17ก.ค.ที่ผ่านมา
  • เพื่อไทย เปลี่ยนจากฝ่ายตั้งรับ เป็นการประชันหน้าสู้ โต้-ตอบ ข้อครหา-ด้อยค่าของ "ฝ่ายค้านทุกเม็ด"

เวทีสภาผู้แทนราษฎรในวาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ.... วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีเสนอ เพื่อใช้ในโครงการเติมเงินหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กลายเป็นเวทีโต้-ตอบ คนละที ระหว่าง “ฝ่ายค้าน” นำโดย “ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์” กับ “ฝ่ายสนับสนุน” สส.พรรคเพื่อไทย

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ประเด็นนโยบายเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตรอบนี้ รัฐบาลเพื่อไทยไม่ปล่อยให้ถูกชกฝ่ายเดียว หรือถูกไล่ต้อนจนมุม เหมือนรอบการอภิปรายผ่านเวทีสภาฯ เหมือนรอบของการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบฯ 68 หรือกระทู้ถามสด

ทั้ง 2 รอบก่อนหน้านี้ ต้องยอมรับว่า “ฝ่ายค้าน” ทำการบ้านมาดี ปล่อยหมัดน็อกใส่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ รวมถึงพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคที่ชูนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” เป็นเรือธงหาเสียง ย้ำว่าเป็นโครงการไม่ตรงปก คิดไปทำไป ไม่ใช่คิดใหญ่ทำเป็น

จน “เพื่อไทย” เสียรังวัด และถูกลดความเชื่อมั่น จนกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรคเจ้าของนโยบายเรือธง

‘พท.’ปรับกลยุทธ์งานสภา แก้ภาพติดลบ ‘แจกหมื่น’ ที่ผ่านมาในการสู้กันในเวทีสภาฯ “เพื่อไทย-รัฐบาล” เลือกใช้ “เสียงข้างมาก” เอาชนะ ขณะที่ “สส.เพื่อไทย” ที่เป็นหน้าม้าลุกขึ้นสนับสนุน พูดเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ย้ำคำชวนเชื่อว่า “เศรษฐกิจไม่ดี ชาวบ้านต้องการโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อได้เม็ดเงินใช้สอย” โดยไร้ข้อมูลสนับสนุนด้านอื่นๆ ว่า “เติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ใช้เงินมหาศาลนั้น มีข้อดีอย่างไร

ทว่า รอบนี้พรรคเพื่อไทยปรับกลยุทธ์ในสภาฯ ไม่ยอมให้เป็นฝ่ายถูกรุกฆาตฝ่ายเดียว

เห็นได้จากการอภิปรายร่างพ.ร.บ.ของบฯ เพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท เมื่อ 17 ก.ค. “ทีมหลังบ้าน-ฝ่ายวิชาการ”พรรคเพื่อไทย เก็บทุกรายละเอียด ข้อท้วงติง คำด้อยค่าของฝ่ายค้านอย่าง “ศิริกัญญา ตันสกุล” จากก้าวไกล “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” จากประชาธิปัตย์ รวมถึง สส.ก้าวไกล ทุกประเด็น และตอบโต้อย่างทันทีทันควัน

‘พท.’ปรับกลยุทธ์งานสภา แก้ภาพติดลบ ‘แจกหมื่น’ โดยมีหัวหอกสำคัญคือ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย รมช.คลัง ผู้ที่ดูแลโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาตั้งแต่ต้น โดยสวมบทนำตอบโต้ทุกประเด็นสำคัญที่ถูกดิสเครดิต

ทั้งประเด็นความ “เสี่ยง” ผิดกฎหมาย ในเงื่อนไขของการของบฯ เพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท ในหลายประเด็นของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของเงื่อนไขโครงการ จนทำให้ “คิกออฟ” โครงการล่าช้า 

รวมถึงเงื่อนไขของโครงการที่ถูกกล่าวหาว่า ส่อเอื้อ “นายทุน-ผู้ประกอบการรายใหญ่” กีดกันรายย่อย ซึ่ง “จุลพันธ์” ชี้แจงโดยทันทีว่า 

“เหตุที่ยังเริ่มไม่ได้สักที เพราะฟังเสียงฝ่ายค้าน และปรับปรุงรายละเอียด เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจมากที่สุด ด้วยการใช้เวลาพิจารณารายละเอียดทำให้เห็นช่องทางต่อการใช้กฎหมายงบประมาณเป็นแหล่งเงินทำโครงการ แทนการหยิบยืมเงินจากหน่วยงานอื่น”

ขณะเดียวกันได้ใช้กองหนุน สส.เพื่อไทย ที่รอบนี้เลือกใช้ “สส.เก๋าเกม” ลุกอภิปรายสนับสนุน แต่ไม่ใช่แค่พูดว่า “พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ต้องทำให้ได้ และประชาชนรอคอย” เพราะได้สอดแทรกคำอธิบายแทนรัฐมนตรีในบางประเด็นที่พูดไม่ได้

‘พท.’ปรับกลยุทธ์งานสภา แก้ภาพติดลบ ‘แจกหมื่น’

ทั้งการยกประสบการณ์สมัย “พรรคไทยรักไทย” มีนายกฯ​ ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เคยประสบความสำเร็จในการทำนโยบายที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้ประชาชน เพื่อการันตีความคิดที่ว่า “โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต” นั้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบได้จริง 

รวมถึง การเพิ่มตัวคูณทางเศรษฐกิจที่ฝ่ายค้านมองว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” ลงทุน 5แสนล้าน ได้คืนมาแค่ครึ่งเดียว รวมถึงการอ้าง “ความเห็นร่วม” ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ยอมรับให้ “เพื่อไทย” ผลักดันโครงการนี้

กับประเด็นที่ “รัฐมนตรี-สส.เพื่อไทย” ชี้แจงต่อสภาฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการใช้ “คำพูด” เพื่อกู้ศรัทธา และความเชื่อมั่นในทางการเมือง หลังจากที่ถูก “ฝ่ายค้าน” ดิสเครดิต และปรามาสมาแล้วหลายครั้ง

‘พท.’ปรับกลยุทธ์งานสภา แก้ภาพติดลบ ‘แจกหมื่น’ ทว่า ผลในทางปฏิบัติของนโยบายเรือธงยังไม่ปรากฏเป็นภาพที่ชัดเจน ต่อให้จะใช้เวทีสภาฯ พูดตอบโต้ หรือใช้ “สื่อประชาสัมพันธ์” ของรัฐบาลเผยแพร่ข่าวสาร ความนิยมที่ติดลบ ยากจะกู้คืนในการ “อภิปรายที่ดี” ในรอบเดียว

และเมื่อเจอกรณีที่ฝ่ายค้านดักทางเรื่องคอร์รัปชัน เปิดช่องให้นายทุนทำกำไร ยิ่งทำให้เกิดภาพความไม่ไว้วางใจว่า “เงินหมื่น” จะถึงมือ ประชาชนได้ 100%

ดังนั้น ทางแก้เรื่องนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องรีบเข็น “นโยบายเรือธง” ออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อพิสูจน์คำพูด

อย่างไรก็ตาม การเดินเกมเร็วเรื่องนี้ อาจเปิดช่องเป็น “จุดอ่อน” ที่ทำให้ ภาคส่วนของสังคม ฐานะฝ่ายตรวจสอบ ที่สบช่องกับแง่มุมของกฎหมาย ยื่นเรื่องให้องค์กรตรวจสอบได้

‘พท.’ปรับกลยุทธ์งานสภา แก้ภาพติดลบ ‘แจกหมื่น’

เพราะอย่าลืมว่าในอำนาจของ “องค์กรอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีสิทธิที่จะท้วงติงเรื่องเหล่านี้ รวมถึงมีอำนาจที่จะตรวจสอบ หากพบการทำนโยบายที่เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม หรือพบการกระทำที่มิชอบต่อในการทำนโยบาย

เมื่อ “รัฐบาล-เศรษฐา” พยายามหาช่องทาง และอุดรอยโหว่ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอย “โครงการรับจำนำข้าว" จึงต้องจับตาว่า การดันโครงการแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต “ลุยไฟ” ไปนั้น บทสรุปสุดท้ายจะได้กู้หน้า หรือเสียคะแนนให้ “ฝ่ายค้าน” มากกว่ากัน.