นายกฯยันรัฐบาลน้อมนำโครงการพระราชดำริ แก้ปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิต ปชช.
นายกฯ ย้ำ รัฐบาลน้อมนำโครงการพระราชดำริ คัดจาก 600 โครงการ เหลือ 10 โครงการหลัก แก้ไขปัญหาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.00 - 08.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พูดในรายการ “คุยกับเศรษฐา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย โดยเนื้อหาของรายการในวันนี้ นายกรัฐมนตรีพูดถึงการดำเนินโครงการหลัก 10 โครงการของรัฐบาล ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลในการเร่งแก้ไขปัญหาและยกระดับชีวิตของประชาชน โดยการเข้าไปแก้ที่ต้นตอหรือฐานราก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาใน 3 กลุ่มใหญ่นั้นคือ ป่า น้ำ และคน ที่ถือเป็นหัวใจและร่างกายของประเทศ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของรายการ ดังนี้
นายกฯ กล่าวว่า เหนือสิ่งอื่นใด คือความลึกในการทำงาน ถ้าเกิดเราเป็นเอกชนหรือเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่ติดตามข่าว อย่างเช่น ช่วงเวลา 20.00 น. เป็นต้น จะได้ทราบว่ามีโครงการอะไรบ้าง แต่พอลงพื้นที่จริง ๆ ลงไปในฐานะนายกรัฐมนตรี ไปพร้อมคณะที่มีหลากหลายหน่วยงาน และหน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการพระราชดำริ นั้น ๆ ได้มีการนำเสนอในเชิงลึก ทำให้เราทราบถึงความยากลำบากที่เราจะต้องใส่ใจและใส่เงินลงไปและผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปากท้อง การเปลี่ยนแปลงอาชีพ หรือการเปลี่ยนเรื่องที่ไม่ถูกกฎหมายให้เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายในแง่วิถีชีวิตในการทำกินให้เห็นชัดขึ้น
นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านก็ทรงเสด็จลงพื้นที่เยอะมาก เช่นเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ในพื้นที่ที่อาจจะมีความลำบาก อยู่ไกลความเจริญ ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการทำมาหากินเพียงอย่างเดียว เป็นเรื่องของการประกอบอาชีพด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องของน้ำ เรื่องการไม่รุกล้ำป่า เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบสาธารณสุข การศึกษาต่าง ๆ สามารถจะร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเดียวกัน สามารถทำให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในทุกมิติ
นายกฯ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่เป็นปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ถือเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเราในฐานะพสกนิกรชาวไทยร่วมกันเฉลิมฉลองในปีมหามงคล โดยที่เราจะน้อมนำโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่ทำเกี่ยวกับดิน น้ำ ป่า คน มาบรรจุเข้าไปในโครงการที่เราได้ทำขึ้นมา โดยทางรัฐบาลจะร่วมกับภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ ซึ่งได้มีการพูดคุยกันและคัดเลือกกว่า 600 โครงการ มาเป็น 10 โครงการหลัก แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า 600 โครงการ ลดเหลือ 10 โครงการ อีก 500 กว่าโครงการก็ทำอยู่ แต่เรามีโครงการหลัก 10 โครงการซึ่งทุกอย่างอยู่ร่วมกับ “ป่า น้ำ คน”
นายกฯ กล่าวถึงโครงการยกระดับสวนสาธารณะบึงหนองบอนและ Pocket Park 72 แห่ง ว่า บึงหนองบอนถ้าได้ไปดูในแผนที่กรุงเทพมหานคร จะอยู่ติดกับสวนหลวง ร.9 ซึ่งบึงหนองบอนมีพื้นที่หลายร้อยไร่ มีพื้นที่บึงอยู่แล้ว และทางรัฐบาลเองก็ได้ไปสำรวจมา ก็อยากมีการพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่แห่งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีหลายท่านรวมทั้งตนเองได้ลงไปในพื้นที่ดู มีต้นไม้ มีสระน้ำที่ใหญ่ พร้อมพัฒนาให้เป็นศูนย์สุขภาพได้ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของพี่น้องประชาชน ถือว่าเป็นพาร์คที่ใหญ่ที่สุดใน 72 พาร์คที่จะทำ แต่ในบางพื้นที่ 72 พาร์ค บางพื้นที่อาจจะเป็นแค่พื้นที่ไร่เดียวหรือแค่ 2 งาน อยู่ตามพื้นที่ที่มีความแออัดสูง การที่เรามีพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นเหมือนกับที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุง ซึ่งในปัจจุบันที่อยู่อาศัยมีความคับแคบ ก็จะเป็นที่ผ่อนคลายได้ มีพื้นที่ออกกำลังกาย มีสวนสาธารณะเล็ก ๆ หรือมีสนามกีฬาเล็ก ๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนหรือประชาชนทั่วไปได้มีการมาออกกำลังกายได้
นายกฯ กล่าวต่อไปถึงโครงการ 72 ล้านต้น พลิกฟื้นผืนป่า ว่า เพราะสภาพแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เข้าใจว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแจกต้นกล้าซึ่งแต่ละหน่วยงานต่าง ๆ นำไปปลูกในทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่ามีการทำไร่เลื่อนลอยต่าง ๆ เราพยายามที่จะแก้ไขตรงจุดนี้ควบคู่ไปกับเรื่องทำมาหากินด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะมีการตัดป่าไป แต่เรามีการปลูกต้นไม้ทดแทนทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาหน้าดิน หรือเป็นการทำให้เกิดฝนโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการที่เราแจกต้นกล้าไปปลูกเป็นเรื่องที่สำคัญ
นายกฯ ระบุว่าการพัฒนาหรือปรับปรุงสวนสาธารณะ ทั้งพาร์คต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งปลูกป่า ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นที่ประชาชนได้รับตรงแล้ว ยังจะเป็นการที่ทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการรักษาหน้าดินที่ดี ทำให้เรามีฝนตกที่ดีพอ ก่อให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติขึ้นมาได้อีก มีทุก ๆ มิติ ไม่ว่าเป็นมิติของดูแลสภาพแวดล้อม หรือเรื่องของเศรษฐกิจก็ตามที ซึ่งคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมที่ดีคือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ไม่เพียงเท่านั้นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมข้างต้น ล้วนเป็นการทำความดีให้กับสังคมและร่วมกันเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีมหามงคลด้วย