ปปง.ประสาน อสส.- กต.- คลัง ดึงเงิน 2 คดี 'อดีตผู้ว่าฯ ททท.- หุ้นสตาร์ค' กลับไทย

ปปง.ประสาน อสส.- กต.- คลัง ดึงเงิน 2 คดี 'อดีตผู้ว่าฯ ททท.- หุ้นสตาร์ค' กลับไทย

ปปง.เผยร่วมมือ อสส.- กต.- คลัง จ่อดึงเงิน 2 คดีใหญ่ 'หุ้นสตาร์ค - อดีตผู้ว่าฯ ททท.' กลับไทย ลุยแก้กฎหมายฮั้วประมูลภาครัฐ เป็นความผิดมูลฐาน เผยยุคดิจิทัลคนโกงอัพเลเวลเลี่ยงกฎหมาย ทั้งเปิดบัญชีเพื่อโยกเงิน - ซื้อบ้านในต่างประเทศ แต่ยันไม่รอดมือองค์กรตรวจสอบ

เมื่อวันที่  26 ก.ค.2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะด้านกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา เรื่อง Anti-corruption in Digital Disruption Era การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในยุคการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล จัดโดยนักศึกษาโครงการนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกัน และปราบปรามการทุจริตระดับสูง(นยปส.)รุ่น 15 ว่า หน้าที่ของ ปปง. มี 2 ด้าน 1. ทำหน้าที่กำกับผู้มีหน้าที่ต้องรายงาน และ 2. ดำเนินการทางด้านทรัพย์สินกับผู้กระทำผิดมูลฐาน ซึ่งรวมถึงมูลฐานการทำผิดต่อหน้าที่ด้วย ในส่วนนี้มีหน่วยงานที่ดูแลอยู่เรียกว่า 4 ป. ประกอบด้วย ปปง. , กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.),  สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) และ ปปช. หากทั้ง 4 ป. ทำงานร่วมกันเชื่อว่าคนทำผิดไม่รอดแน่ เพราะกฎหมายของแต่ละหน่วยงานออกมาเพื่ออุดช่องโหว่ของกันและกัน แต่ปัญหาคือ ไม่มีข้อมูลกลาง ไม่มีการแชร์ข้อมูลกัน ซึ่งในส่วนของ ปปง.ยอมรับว่า มีเจ้าหน้าที่น้อยการดำเนินงานจึงต้องใช้เวลานาน 

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า  เท่าที่ตนทำคดีจะพบวิวัฒนาการของคนกระทำความผิดมีการเปลี่ยนแปลงมาก ตั้งแต่ ปปง.เมื่อปี 2542 ก่อนหน้านี้ยึดทรัพย์ได้เยอะมาก เพราะกฎหมายที่เพิ่งตั้งใหม่ คนกระทำความผิดยังไม่มีช่องทางหลบเลี่ยง แต่หลังปี 2560 เป็นต้นมา เขาเริ่มมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย เริ่มมีคนรู้กฎหมายมากขึ้น หน่วยงานจำเป็นจะต้องไล่ตาม โดยเฉพาะปัจจุบันเป็นสังคมดิจิทัลยิ่งมีความยากในการไล่ตาม แต่ไม่ได้เกินความสามารถของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั้ง 4 ป. จุดสำคัญคือ เรื่องข้อมูลเราจะต้องบูรณาการข้อมูลกัน

“เราไม่สงสัยหรือว่า เหตุใดจึงมีทนายความเอาหลักฐานมายื่นต่อหน่วยงานใดก็ตามว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีบ้านพักอยู่ที่ประเทศอังกฤษ อยู่สหรัฐอเมริกา ที่จริงเวทีนี้ตนยังเสียดายเราน่าจะเชิญทนายความท่านนั้นเล่าให้ฟังว่าได้ข้อมูลมาอย่างไร ในเมื่อหน่วยงานราชการยังหาไม่ได้ เอามาไม่ได้ ล่าสุดมีเอ็นจีโอไปได้ข้อมูลมาอีก คนกลุ่มนี้เขาไปเอาข้อมูลมาได้อย่างไร  นี่เป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุด การทุจริตปัจจุบันนี้ไม่ได้จ่ายเงินในประเทศ แต่มีการใช้บัญชีม้า ซึ่ง ปปง.พยายามปิดบัญชีนั้น เขาก็ไปจ่ายกันที่ต่างประเทศ เช่น พิธีกรซื้อบ้านให้ผมที่ประเทศอังกฤษ แล้วผมค่อยเข้าไปอยู่” นายสุทธิศักดิ์ กล่าว

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า ล่าสุด ปปง.ร่วมกับ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง สามารถติดตามทรัพย์สิน ติดตามเงินที่ได้จากการกระทำความผิดในประเทศไทยแล้วโยกเงินนั้นไปไว้ที่สหพันธ์รัฐสวิส กลับมาได้ ซึ่งเป็นคดีการกระทำผิดมูลฐานเรื่องการค้ายาเสพติด แต่ประเทศต้นทางหักไปครึ่งหนึ่ง เราได้กลับมา 70 ล้านบาท ก็ยังดีนี่นำเงินกลับมาได้ นับเป็นคดีแรกของไทย ที่นำเงินกลับมาได้  และขณะนี้ยังมีอีก 2 คดี ที่ ปปง.กำลังจะเอาเงินที่ได้จากการกระทำผิดภายในประเทศไปไว้ในต่างประเทศ กลับมา คือ คดีของอดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และคดีหุ้นบริษัทสตาร์ค (STARK) 

“แต่การทำงานกับแต่ละประเทศก็จะมีความแตกต่างกัน เช่น สิงคโปร์ จะต้องประสานงานผ่านกระทรวงการต่างประเทศ แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีว่า ใครก็ตามที่คิดจะทุจริตแล้วเอาเงินไปไว้ต่างประเทศ สักวันหนึ่ง เราสามารถเอาเงินนั้นกลับเข้ามาในประเทศไทยได้ แล้วต่างประเทศเป็นข้อมูลเปิดด้วยซ้ำไป แค่กรอกข้อมูลเข้าไปก็จะรู้ได้ว่าบุคคลนั้นมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ในต่างประเทศ แต่เรายังไม่สามารถจูนได้ซึ่งเราก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนกันไปในยุคดิจิทัล ซึ่งขณะนี้ ปปง.มีกฎกระทรวงเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลจะต้องมีการรายงาน เข้ามาซึ่งจะทำคล้ายๆ โมเดลของธนาคาร” นายสุทธิศักดิ์ กล่าว 

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า คดีล่าสุดที่ต้องยกตัวอย่างคือ กรณีเจ้าหน้าที่ กทม. ที่มีการทุจริตเมื่อปี 2561 แต่ ปปง.สามารถสืบพยานหลักฐานจนออกหมายจับได้ในปี 2567 ได้ก็มาจากการบูรณาการ ของ 4 ป. แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องได้เบาะแสจากผู้ให้ด้วย เรื่องนี้เกิดจากการที่เขาถูกหลอกเลยไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ถ้าเขาไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษก็ไม่มีใครรู้ จะเป็นการสมยอมกันเป็นเรื่องใหญ่ที่เราไม่สามารถรู้ได้

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ ข้อมูลสังเคราะห์ข้อมูลคดีที่พบมากที่สุดคือ การฮั้วประมูล แต่การฮั้วประมูลยังไม่เป็นความผิดมูลฐาน เราจึงต้องไปอ้างเรื่องของ อั้งยี่ ซ่องโจร ดังนั้นขณะนี้จึงอยู่ระหว่างแก้กฎหมายเพิ่มมูลฐานว่า การฮั้วประมูลในหน่วยงานของรัฐเป็นความผิดมูลฐาน ซึ่งผ่านกฤษฎีกา แล้วปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณานำเข้าสภาต่อไป หากกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้คิดว่าสนุกแน่ เพราะเราเห็นอยู่ว่าหน่วยงานต่างๆ มีการฮั้วประมูล เป็นเรื่องใหญ่ ถนนหนทางทำไมซ่อมแล้วซ่อมอีก ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดคนไทยรู้กันหมด ดังนั้นจึงฝากไว้ แม้ว่าอาชญากรจะเป็นอย่างไรก็สุด แล้วแต่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่เหนือกว่าเรา เพียงแต่เราต้องมาบูรณาการกัน อย่างน้อย 4 ป. ร่วมมือกันเมื่อไหร่ ไม่รอดหรอก ขอฝากเอาไว้.

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์