พิษรัก 'พิษณุโลก' ศึกวัดพลังรัก 'อุ๊งอิ๊ง-เท้ง'
ส่องสังเวียนเลือกซ่อมพิษณุโลก ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ วัดบารมีอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ทัพส้มโหนกระแส ดวลทัพแดง-บ้านใหญ่
“บู้” จเด็ศ จันทรา ค่ายเพื่อไทย สูสี “โฟล์ค” ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ ค่ายประชาชน ส้มมีกระแส แต่ตัวแปรคือ ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า
การเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 กลายเป็นสมรภูมิวัดพลังรักของ 2 ผู้นำคือ “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และว่าที่ผู้นำฝ่ายค้าน กับ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรี
เมื่อพรรคเพื่อไทย เจรจาพรรคร่วมรัฐบาล(พลังประชารัฐ,รวมไทยสร้างชาติ) ขอส่ง จเด็ศ จันทรา ลงสนามชน ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ ศิษย์หมออ๋อง
ทั้งคู่เป็นมวยฟอร์มสด “บู้” จเด็ศ จันทรา เคยลงสมัคร สส.พิษณุโลก เขต 3 มาแล้ว ส่วน “โฟล์ค” ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ เป็นทีมงานของ หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา มาตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคก้าวไกล
หลังพ่ายแพ้แบบหวุดหวิดจากสนามเขต 3 “บู้” จเด็ศ จันทรา ได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ดึงไปนั่งเป็นคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ
สมศักดิ์ เทพสุทิน แม่ทัพเหนือตอนล่าง ดูมั่นอกมั่นใจว่า บู้ จเด็ศ นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ลงสมัครสส.พิษณุโลก เขต 3 (อ.วังทอง อ.เนินมะปราง) เกือบชนะคนสนิทของจุติ ไกรฤกษ์ น่าจะได้ลุ้นในสนามเขต 1
กกต.พิษณุโลก กำหนดวันเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลกคือ วันอาทิตย์ที่ 15 ก.ย.2567 เท่ากับทั้งคู่มีเวลาหาเสียงสั้นมาก อะไรก็เกิดขึ้นได้ในสมรภูมินี้
ปัจจัยเสี่ยงสีส้ม
หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา ได้รับเลือกเป็น สส.พิษณุโลก เขต 1 มา 2 สมัย และปีที่แล้ว หมออ๋องกวาดมาได้ 40,842 คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่งจากพลังประชารัฐ ,เพื่อไทย และรวมไทยสร้างชาติ
ว่ากันตามฟอร์ม พรรคประชาชน (ก้าวไกลเดิม) ย่อมเป็นต่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งหมออ๋อง เหมือนจะรู้สถานการณ์พรรคก้าวไกล ที่อาจจะถูกยุบ จึงให้โฟล์ค-ณฐชนน ลงพื้นที่มาตั้งแต่ต้นปี 2567 และสมัครเป็นสมาชิกพรรคถิ่นกาขาวชาวศรีวิไลย์ เมื่อเดือน มี.ค.ปีนี้
อย่างไรก็ตาม หมออ๋อง และแกนนำพรรคประชาชน ก็ไม่ประมาท เนื่องจากมี 2 ปัจจัยที่อาจทำให้ค่ายสีส้มพลิกพ่ายค่ายสีแดง
ปัจจัยแรก การเลือกตั้งซ่อม สส. ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่มีเลือกตั้งนอกเขต โดยหมออ๋อง ยอมรับว่า คะแนน 4 หมื่นแต้ม กว่า 50% มาจากการหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า
ปัจจัยที่สอง มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ว่าที่นายก อบจ.พิษณุโลก ประกาศสนับสนุน บู้ จเด็ศ ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับกองเชียร์ค่ายสีแดง
ผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.พิษณุโลก เมื่อ 18 ส.ค.2567 เฉพาะเขต อ.เมืองพิษณุโลก มนต์ชัย ได้ 49,896 คะแนนเฉือนชนะหนูนา สิริพรรณ ที่ได้ 41,596 คะแนน
ดังที่ทราบกัน หนูนา สิริพรรณ ได้รับการสนับสนุนจากหมออ๋อง และทีมงานพรรคประชาชน แต่ไม่ชนะมนต์ชัย ทีมพลังพิษณุโลก หรือสายบ้านใหญ่
การเลือกตั้งนายก อบจ.และเลือกตั้งซ่อม สส.เหมือนคือ ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้สมัครนายก อบจ.สีส้ม แพ้รวดทุกสนาม
รวมใจขั้วรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง
เซียนการเมืองแถวพิดโลกมองว่า บู้ จเด็ศ ค่ายเพื่อไทย จะพลิกชนะค่ายสีส้มในการเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 เพราะพรรคขั้วรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง มอบให้เพื่อไทย เป็นตัวแทนลงสนาม
ย้อนไปดูผลการเลือกตั้ง สส.พิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 เมื่อ 14 พ.ค.2566 หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล อันดับ 1 ได้ 40,842 คะแนน
อันดับ 2 สจ.อั้ม-อดุลวิทย์ วิวัฒน์ธนาฒย์ ลูกชาย มนต์ชัย พลังประชารัฐ ได้ 19,096 คะแนน
อันดับ 3 ณัฐทรัชต์ ชามพูนท ลูกสาว เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก เพื่อไทย ได้ 18,180 คะแนน
อันดับ 4 ธนิท กิตติจารุรักษ์ ได้รับการสนับสนุนจากหิมาลัย ผิวพรรณ รวมไทยสร้างชาติ ได้ 10,229 คะแนน
เมื่อพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ไม่ส่งผู้สมัคร สส.ตัดแต้ม ประกอบกับ มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก และเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก เป็นกองหนุน จเด็ศน่าจะได้ลุ้นมากขึ้น
อดีตฐานเสียงกลุ่มอนุรักษ์
กล่าวสำหรับเขตเลือกที่ 1 อ.เมืองพิษณุโลก ในการเลือกตั้ง สส. นับแต่ปี 2544 จนถึงปี 2554 ถือว่าเป็นพื้นที่ของกลุ่มอนุรักษ์นิยม เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับชัยชนะมาตลอด 4 สมัยคือ พิทักษ์ สันติวงศ์เดชา 1 สมัย และ หมอวรงค์ 3 สมัย
ปี 2543 นพ.วรงค์ สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย เมื่อใกล้เลือกตั้งปี 2544 ยิ่งพันธ์ มนะสิการ อดีต สส.พิษณุโลก ที่ย้ายพรรคประชากรไทย มาสังกัดพรรคไทยรักไทย เจ๊แดง-เยาวภา จึงให้ยิ่งพันธ์ ลงสมัคร สส.พิษณุโลก เขต 1 แทนหมอวรงค์
ปรากฏว่า คนเมืองพิดโลกล้มช้างยิ่งพันธ์ โดยหันไปเลือกคนหน้าใหม่ พิทักษ์ สันติวงศ์เดชา ค่าย ปชป. เป็น สส.สมัยแรก
ปี 2548 หมอวรงค์ลาออกจากไทยรักไทย หันมาสวมเสื้อสีฟ้า พรรค ปชป.ลงสนามเขต 1 เอาชนะพิทักษ์ สันติวงศ์เดชา อดีต สส.ที่ย้ายจาก ปชป.ไป ทรท.
หลังจากนั้นอีก 2 สมัย(ปี 2550,2554) กระแสไม่เอาทักษิณมาแรง ในตัวเมืองพิดโลก หมอวรงค์ ค่ายสีฟ้า จึงชนะคู่แข่งแบบสบายๆ
ปี 2562 และปี 2566 บริบทการเมืองใน อ.เมืองพิษณุโลก เปลี่ยนจากสีฟ้ามาเป็นสีส้ม หมออ๋อง ได้รับเลือกเป็น สส. 2 สมัยซ้อน และการเลือกตั้งซ่อม 15 กันยา จะพิสูจน์ว่า พลังสีส้มยังมีมนต์ขลังอยู่หรือไม่