‘ชัยวุฒิ’ ลั่น พปชร. ไม่ต้องเกรงใจรัฐบาล ชี้ ปัญหาภายใน เกิดจากคนนอกสั่งการ
“ชัยวุฒิ” เผย คนที่ยังอยู่ “พปชร.” มุ่งมั่นทำงานการเมืองต่อ คนออกไปแล้วไม่อยากพูดถึง ชี้ ปัญหาภายในเกิดจากคนนอกครอบงำ เข้ามาสั่งการ ซัด ไม่ใช่ลูกผู้ชาย พวกดูดหรืองูเห่า ลั่น พร้อมลุย ไม่ต้องเกรงใจรัฐบาล
ที่พรรคพลังประชารัฐ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมใหญ่สามัญ ถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ประกาศรีแบรนด์พรรคใหม่ ว่า ไม่ถึงกับรีแบรนด์ ยังคงเป็นพรรคพลังประชารัฐเหมือนเดิม เพียงแต่ได้เน้นถึงอุดมการณ์ให้ชัดเจน และแนวทางการทำงานต่อไปที่เราจะต่อสู้ในอนาคต ทุกอย่างยังเหมือนเดิม
ผู้สื่อข่าวถามว่า สมาชิกพร้อมรับกับการรีแบรนด์พรรคใหม่ครั้งนี้หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า คนที่อยู่สู้กับพรรคมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานการเมืองต่อกับเรา มีอุดมการณ์ร่วมกัน ส่วนคนที่ไม่อยู่ถือว่าออกไปแล้ว ซึ่งมีความชัดเจน และตนไม่อยากจะพูดถึง ส่วนคนที่อยู่คือรักกัน ทำงานร่วมกันแน่นอน
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้พรรคย้ำเรื่องของการไม่แตกแยก แต่ภาพที่ปรากฏออกมามันสวนทางกัน นายชัยวุฒิ กล่าวว่า มันเป็นธรรมดาของพรรคการเมือง มีคนหลายกลุ่มหลายฝ่ายอยู่ด้วยกันก็มีความเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง ตนว่าอย่ามองที่พรรคพลังประชารัฐเลย ทุกพรรคมีปัญหาแบบนี้ เพียงแต่ว่าแต่ละพรรคจะบริหารจัดการภายในพรรคอย่างไร ซึ่งของพรรคพลังประชารัฐที่เกิดปัญหาในครั้งนี้มันไม่ได้เกิดจากภายในพรรคอย่างเดียว แต่เกิดจากบุคคลภายนอกพรรคที่เข้ามาครอบงำ เข้ามาสั่งการด้วย จึงทำให้เกิดปัญหา
เมื่อถามว่า คนที่ครอบงำเป็นคนจากพรรคอื่นใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ก็ดูจากการจัดตั้งรัฐบาลที่มีบุคคลภายนอกเข้ามาสั่งการ ครอบงำ มีการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกในพรรค ถ้าภาษาการเมืองเขาเรียกว่าดูด หรืองูเห่า แบบนี้มันไม่ใช่ลูกผู้ชาย มันไม่ใช่กระบวนการทางการเมืองแบบตรงไปตรงมา ซึ่งทำให้เกิดปัญหากับพรรคพลังประชารัฐ แต่เรื่องนี้ผ่านไปแล้วไม่อยากพูดถึง ตอนนี้เราเดินหน้าทำงานต่อไป
เมื่อถามว่า กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ได้โหวตสวนในการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2568 ไม่ได้เป็นพฤติการณ์ให้ขับออกจากพรรคได้ใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่ถึงจุดนั้น ถ้าถึงจุดนั้นค่อยว่ากันอีกที และในพรรคเรายังไม่มีการพูดคุยถึงการขับ ไม่เป็นไร ใจเย็นๆ
เมื่อถามว่า ท่าทีขึงขังของ พล.อ.ประวิตรในที่ประชุมใหญ่สามัญ เป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ
เมื่อถามว่า กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส อยากให้พรรคขับออกเพื่อจะไปร่วมงานกับพรรคอื่น แต่ดูเหมือนพรรคพลังประชารัฐพยายามดึงรั้งไว้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะยังไม่มีการพูดคุยกัน ตนว่าเรื่อง สส.ที่แยกตัวออกไป คงต้องดูสถานการณ์อีกทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ตอนนี้พรรคยังไม่มีท่าที เรื่องนี้ปล่อยให้ฝ่ายต่างๆ ทำหน้าที่กันต่อไป ยังไม่ถึงเวลาที่จะมาแตกหักกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่เกิดขึ้น มองว่าเป็นลักษณะการแก้แค้นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯกับ พล.อ.ประวิตรหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องไปถามท่าน ตนตอบแทนไม่ได้ แต่การเมืองอย่าพูดเรื่องแค้นหรือความโกรธเคืองอะไรกันเลย เพราะต่างคนต่างทำหน้าที่ และสถานการณ์การเมืองมันเปลี่ยนไปตลอด อย่างวันหนึ่งเห็นหรือไม่ว่าคนที่ไม่ถูกกันยังกลับมารักกันเลย ผลประโยชน์ลงตัวก็ทำงานด้วยกันได้
เมื่อถามว่า แสดงว่าถ้ามีโอกาสเคลียร์ใจคงจะสามารถกลับมาทำงานร่วมกันได้ใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ
เมื่อถามอีกว่า ที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแบบนี้ เป็นเพราะ พล.อ.ประวิตร เสื่อมการปกครองใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ ดูกันเองแล้วกันว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ตนว่า พล.อ.ประวิตร ยังเป็น พล.อ.ประวิตรคนเดิม มีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีพลังที่จะทำงานขับเคลื่อนการเมืองต่อไป ใครจะอยู่ใครจะไปเป็นเรื่องของคนภายนอก ไปบังคับเขาไม่ได้ แต่ตนเชื่อว่าอุดมการณ์หลักของพรรคในการที่จะทำงานเพื่อประชาชนให้อยู่ดีกิน กินดี เศรษฐกิจทันสมัยขึ้น ปกป้องสถาบัน ทำให้บ้านเมืองมั่นคง เป็นแนวทางหลักของพรรคที่จะทำงานต่อไปแน่นอน
เมื่อถามว่า สมาชิกพรรคพร้อมที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า รอดูต่อไปแล้วกัน การที่เราประชุมพรรควันนี้แสดงว่าเราพร้อม มีการตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และยืนยันกับสมาชิกพรรคว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนการตรวจสอบรัฐบาลมีหลายช่องทางอยู่แล้ว ทั้งในสภาผ่านการอภิปราย เราจะทำให้เต็มที่ และการตรวจสอบด้านกฎหมาย ใครทำผิด ใครทำทุจริต เราก็ว่าไป เราจะทำเต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจกันแล้ว เพราะไม่ได้อยู่ร่วมกัน ก็ไม่ต้องเกรงใจกัน ทำให้เต็มที่ เมื่อก่อนเกรงใจกัน แต่ตอนนี้ไม่ต้องเกรงใจกันแล้ว
เมื่อถามว่า พร้อมทำงานร่วมกับพรรคประชาชนใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า การจะทำงานร่วมกันในส่วนของพรรคฝ่ายค้านก็เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย ส่วนจะทำงานร่วมกันแบบไหนต้องมีการพูดคุยกัน อย่างน้อยๆ การอภิปรายในสภาต้องมาคุยเรื่องเวลาที่ต้องมาแบ่งเวลากัน ส่วนการลงมติก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่มีทิศทางอยู่แล้วว่าจะอย่างไร คงไม่จำเป็นต้องตามกันทุกเรื่อง