ร้อง ป.ป.ช.สอบ สส.-พรรค แก้ รธน.ตัดอำนาจฟันจริยธรรม ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ร้อง ป.ป.ช.สอบ สส.-พรรค แก้ รธน.ตัดอำนาจฟันจริยธรรม ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

'ศรีสุวรรณ' ลุยร้อง ป.ป.ช.สอบ สส.-พรรคการเมือง ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจ ป.ป.ช.-ศาลรัฐธรรมนูญ สอบจริยธรรม เข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตาม รธน. ม.185 หรือไม่

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและวินิจฉัยกรณี สส. และพรรคการเมือง ยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจ ป.ป.ช. และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง และอื่น ๆ เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลกระโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 หรือไม่

โดยนายศรีสุวรรณ ระบุว่า สืบเนื่องจากมีพรรคการเมืองบางพรรคต้องการแก้ในประเด็นจริยธรรมและอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช.ในการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว มีประเด็นที่อาจไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 185 โดยตรง ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตําแหน่ง การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทําการใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซง(หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ)เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีนักการเมือง/พรรคการเมืองบางพรรคต่างมีบาดแผลจากการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญกันทั้งสิ้น ถูก ป.ป.ช.วินิจฉัยส่งศาลฎีกาพิพากษาลงโทษ และหรือถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ทำให้อดีตนักการเมืองหลายคนต้องพ้นจากตำแหน่ง หลุดจากวงโคจรของการเป็นนักการเมืองไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ล้วนมีผลมาจากการฝ่าฝืนจริยธรรมแทบทั้งสิ้น และยังมีเข้าคิวรอถูกไต่สวนและวินิจฉัยอีกมาก ดังนั้น การที่พรรคการเมือง/นักการเมืองรีบเร่งขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรม โดยไม่สนใจเรื่องปากท้อง เรื่องลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน จึงอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยตรง

ด้วยเหตุดังกล่าว องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงต้องนำความไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการไต่สวนและมีความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจิต 2561 ซึ่งหาก ป.ป.ช.วินิจฉัยว่าเข้าข่าย ก็อาจต้องส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา เพื่อดำเนินการเอาผิดนักการเมืองต่าง ๆ ที่ลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าวต่อไป ซึ่งเราเคยเห็นผลงานของ ป.ป.ช.เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาหลายกรณีแล้ว และเนื่องจากพรรคการเมือง/นักการเมืองกำลังจะเข้ามาก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.โดยตรงอีกด้วย จำจะต้องสั่งสอนนักการเมืองต่าง ๆ ให้จำเป็นบทเรียนเสียบ้าง