แกะรอย‘6คำร้อง’ยุบเพื่อไทย ทางรอด'นายใหญ่'-จับตารัฐประหารเงียบ
แกะรอย‘6คำร้อง’ยุบเพื่อไทย วัดใจ‘นายใหญ่’ ปมสับขาหลอก‘ชัยเกษม-แพทองธาร’ ทางรอด จับตากกต.รับลูก “นักร้องนิรนาม” สัญญาณ รัฐประหารเงียบ?
KEY
POINTS
- “นิติสงคราม” ลาม ปมยุบพรรคไล่ล่า “พรรคเพื่อไทย” อาจกระทบไปถึงพรรคร่วมรัฐบาล จะ “ครอบงำ” หรือแค่ “ครอบครอง” ยังต้องลุ้น
- จำนวนนี้ มีในส่วนของ“นักร้องนิรนาม” รวมอยู่ด้วย น่าสนใจว่าจะเป็นหนังม้วนเก่าซ้ำรอยพรรคส้ม หรือเรียกว่าเป็น "รัฐประหารเงียบ" หรือไม่
- เพื่อไทยยังมั่นใจ ปมสับขาหลอก“ชัยเกษม-แพทองธาร” ชิงนายกฯทางรอด
- หากแผนล้มกระดานทำสำเร็จนั่นหมายถึงตัวเลขสส.ที่จะหายไปจำนวนมาก ส่งผลในเชิงดุลอำนาจ ที่อาจถูกเปลี่ยนมือในทันที เกมนี้แน่นอนว่า “นายใหญ่บ้านจันทร์ฯ” ที่ช่ำชองการเมืองมานานย่อมอ่านเกมรู้ดูเกมออก
“นิติสงคราม” ลาม ปมยุบพรรคไล่ล่า “พรรคเพื่อไทย” อาจกระทบไปถึงพรรคร่วมรัฐบาล จะ “ครอบงำ” หรือแค่ “ครอบครอง” ยังต้องลุ้น
หลังมีรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ “แสวง บุญมี” เลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม
จากเหตุ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค มีการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ โดยเห็นว่า “คำร้องมีมูล” จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ
กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่บุคคลนิรนาม หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้อง
โดยอ้างถึงพฤติการณ์ของ “ทักษิณ” รวมทั้งการที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุม ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเมื่อวันที่14ส.ค.
อีกทั้งการให้สัมภาษณ์ของ"ทักษิณ" หลายครั้งเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่นายทักษิณได้แสดงไว้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล
เหล่านี้อาจเข้าข่ายขัดมาตรา 29 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
การที่พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็เข้าข่ายขัดมาตรา 28 ซึ่งหากการสอบสวนพบว่าเป็นความผิดก็จะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อกกต.ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (3)ของกฎหมายเดียวกันได้
แกะรอย “4นักร้อง” 6คำร้องที่กกต.ตั้งเรื่องสอบแน่นอนว่า สะท้อนถึงเกม “นิติสงคราม”เอาคืนจากฝ่ายตรงข้ามระบอบทักษิณ โดยเฉพาะในส่วนของเรืองไกร ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ได้รับสัญญาณมาจาก “บ้านป่ารอยต่อ” เปิดเกมเอาคืน “นายใหญ่” บ้านจันทร์ส่องหล้า
ที่น่าสนใจคือจำนวนนี้ มีในส่วนของ“นักร้องนิรนาม” รวมอยู่ด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีความเห็นในเชิงกฎหมายจากฝั่งกกต. กรณี “ไม่มีการปรากฎชื่อผู้ร้อง” อาจถือเป็น“บัตรสนเท่ห์” มีโอกาสที่กกต.จะตีตกคำร้องสูง
เป็นที่รู้กัน “นักร้องนิรนาม” คนดังกล่าวไม่ใช่คนอื่นไกล แต่เป็นคนที่เคยสร้างผลงานในคดีที่เกี่ยวข้องกับพรรคส้มในอดีต รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมกลุ่ม3นิ้ว
โดยการยื่นของนักร้องคนดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการในปกปิดชื่อ ที่อยู่ เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัย
แถมในคำร้องมีการเก็บข้อมูลมาเป็นระยะจะด้วยการรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองทั้งหมด หรือมีการชี้ช่องมาจาก "มือที่มองไม่เห็น" หรือไม่ ก็ยังเป็นปริศนาที่น่าขบคิด
“นักร้องนิรนาม” สัญญาณรัฐประหารเงียบ?
ฉะนั้นในจังหวะที่กกต.รับลูก “นักร้องนิรนาม” ที่เอง ซึ่งถูกมองว่า แฝงไปด้วยนัยที่น่าจับตา
ในมุมมองของ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อ่านเกมเกมนี้ว่า “ร้องนิรนาม” หรือคำร้องที่ภาษาชาวบ้านเรียก “บัตรสนเท่ห์” เป็นหนึ่งในคำร้องที่คิดว่ามีมูลในการตั้งแท่นสอบตามรายงานข่าวจริงหรือไม่ ถ้าใช่ก็ไปกันใหญ่
“คือนั่นเริ่มมีอำนาจมืดลึกลับแล้วมันอันตราย แสดงว่าเป็นระบอบที่เอื้อให้เกิดรัฐประหารเงียบได้ตลอดเวลา”
สับขาหลอก“ชัยเกษม-แพทองธาร” ทางรอดพท.
ประเด็นที่ถูกหยิบมาหักล้างในเวลานี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมั่นอกมั่นใจเห็นจะมี กรณี “ทักษิณ” เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปหารือที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ในวันที่14ส.ค.หลังเศรษฐาพ้นตำแหน่ง
ในมุมของ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย มองว่า กรณี“ทักษิณ” มีการเรียกแกนนำเข้าไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า แม้จะมีการเคาะชื่อ “ชัยเกษม นิติสิริ” เพื่อเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่เช้าวันรุ่งขึ้นพรรค เพื่อไทยเสนอชื่อ “นายกฯอิ๊งค์”แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ ก็ชัดเจนว่า เราเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดอิสระ
จริงอยู่กระบวนการเวลานี้ ยังเป็นเพียงแค่ขั้นตอนชั้นต้น กว่ากกต.จะพิจารณาแล้วเสร็จ หากไม่มีมูลก็ตีตก หากมีมูลก็ต้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรคเส้นทางยังอีกยาวไกล
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทยเองก็มีบทเรียนมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย
ก่อนมาเป็นพรรคพลังประชาชน เวลานั้นเกิดภาพการเมืองท่ามกลางแรงต่อรองทางอำนาจไม่แพ้เวลานี้ โดยเฉพาะการก่อกำเนิดของกลุ่มเพื่อนเนวิน กระทั่งการประกาศแยกทางจาก “นายใหญ่” นำมาสู่วลี “มันจบแล้วครับนาย” ในท้ายที่สุด
หรือกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งถูกมองว่าเป็นสาขาพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้เกมกติกา“บัตรใบเดียว” แต่กลับถูกยุบหลังเปิดตัวได้ไม่ถึง1ปี จนทำให้เสียงพรรคเพื่อไทยเทไปที่พรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งเมื่อปี2562
ทั้งหมดทั้งมวลย่อมกลายเป็นประเด็นที่พรรคเพื่อไทยอาจต้องฉุกคิดอยู่ไม่น้อย
นับตั้งแต่การเดินทางกลับไทยของ “นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า” ที่เวลานี้อยู่ในฐานะผู้บัญชาการหลังฉากไม่ต่างจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เวลานี้มีเสียงในมือ320+
มองเผินๆอำนาจที่ดูเหมือนจะรอมชอม ยังซ่อนไว้ภายใต้อำนาจต่อรอง ทั้งจาก “มือที่มองเห็น” และ “มองไม่เห็น” ไม่ต่างจากนิติสงครามยุบพรรคที่ได้ไม่ได้มีแค่ “6คำร้อง” ข้างต้น แต่อาจมีสารพัดคำร้องที่ตามมาหลังจากนี้
เร็วๆนี้ยังมีกรณีที่ "ธีรยุทธ์ สุวรรณเกษร" ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยกเลิกพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง ของ"ทักษิณ" และพรรคเพื่อไทย
พฤติกรรม6ประเด็นตามคำร้องประกอบด้วย
- ‘ทักษิณ’ ใช้พรรคเพื่อไทยควบคุมการบริหารรราชการแผ่นดิน เอื้อประโยชน์พักอาศัยชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
- ฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุนเซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ที่มีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์
- สั่งการให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือเพื่อแก้รัฐธรรรรกับพรรคประชาชน
- เจรจากับแกนนำของพรรคการเมือง เสนอบุคคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.
- เป็นผู้สั่งการ พรรคเพื่อไทย ให้มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
- เป็นผู้สั่งการ พรรคเพื่อไทยนำนโยบายของ ที่ตัวเองแสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่22ส.ค.ไปเป็นนโยบายรัฐบาล
น่าสนใจในเคสของ "ธีรยุทธ์ "เลือกที่จะใช้วิธีเดียวกันกับคดียุบพรรคก้าวไกล ในคดีล้มล้างการปกครอง จากกรณีเสนอกฎหมายประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ด้วยการใช้เทคนิคกฎหมาย ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อประทับตราพฤติกรรมตามคำร้อง ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นไปตามคำร้องขั้นตอนต่อไปก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองในการยื่นยุบพรรคต่อไป
ซึ่งการยุบพรรคกกต.ก็จะชงคำร้องกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญ
ยุบพรรคไล่ล่า พท.‘ครอบงำ-ครอบครอง’
เกมยุบพรรคที่กำลังรุกไล่พรรคเพื่อไทย ยังมีหลายฉากหลายตอนให้ต้องจับตา
ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ คือ กรณีที่พรรคเพื่อไทยมีการโยนหินแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ในประเด็นจริยธรรม ท่ามกลางสารพัดนิติสงครามเวลานั้น
พรรคเพื่อไทยส่งสัญญาณถอยในเวลาต่อมา ด้วยเหตุผลต้นเรื่องมาไม่ได้มาจาก“พรรคเพื่อไทย”แต่เป็น“หัวหน้าพรรคใหญ่”ในพรรคร่วมรัฐบาล
แต่เบื้องลึกมีสัญญาณจาก“บุคคลหลังม่าน”ที่ส่งเสียงเตือน ถึงเงื่อนไขสุ่มเสี่ยง“สุดซอย”
ไม่ต่างจากข่าวคราวการเปิด“วอร์รูมลับ”จาก“ฝ่ายจ้องล้ม”ที่มี“ฝ่ายแค้น”รอจังหวะผสมโรง ที่ไม่ใช่แค่ข่าวลือ
แต่ถึงขั้นมีการ“ตั้งทีมลับ”หารือข้อกฎหมายกันอย่างขะมักเขม้นเสียด้วยซ้ำ หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภาเมื่อใดเกมยุบพรรคจะเริ่มนับหนึ่งทันที
หากแผนล้มกระดานทำสำเร็จนั่นหมายถึงตัวเลขสส.ที่จะหายไปจำนวนมาก ส่งผลในเชิงดุลอำนาจ ที่อาจถูกเปลี่ยนมือในทันที เกมนี้แน่นอนว่า “นายใหญ่บ้านจันทร์ฯ” ที่ช่ำชองการเมืองมานานย่อมอ่านเกมรู้ดูเกมออก
เป็นเช่นนี้ย่อมต้องจับตา สารพัดนิติสงคราม“เกมยุบพรรค” ครอบงำ หรือ ครองครอง ที่ดูเหมือนยังเป็นเพียงแค่สารตั้งต้นเวลานี้ แต่ภายใต้อำนาจต่อรองทางการเมือง จากสารตั้งต้นทำไปทำมา อาจกลายเป็นเชื้อไฟได้ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพลี่ยงพล้ำ