'นายกฯ' ปัดตอบ ออกพ.ร.ก.ต่ออายุคดีตากใบ 'ทวี'มองส่อขัด รธน.
"นายกฯ" ปัดตอบ ออกพ.ร.ก.ต่ออายุคดีตากใบ หลังถูกจี้กระทบความเชื่อมั่นรัฐบาลเพื่อไทย ด้าน "ทวี" โยน ถามรองนายกฯมั่นคง มอง ส่อขัดรัฐธรรมนูญ เหตุเอื้อเฉพาะกลุ่ม
เมื่อวันที่ 23 ต.ค.67 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ปฏิเสธ ปฏิเสธการแสดงความเห็นถึงข้อเสนอ ให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดหรือ พ.ร.ก. ต่ออายุคดี สลายการชุมนุมหน้าสภตากใบ ที่จะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ โดยระบุสั้นๆว่า ขอไปก่อนนะคะ
ด้านพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ขอให้ไปถามรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านความมั่นคง โดยปกติการจะออกพ.ร.ก. จะมีกระบวนการการออกกฎหมาย เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีความจำเป็นรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า จะออกเพื่อเฉพาะกลุ่ม เฉพาะเรื่องที่ไม่ใช่เป็นการออกทั่วไป จะต้องมีการศึกษาว่าทำได้หรือไม่ได้
ส่วนอีก 2 วันที่คดีจะหมดอายุความ จะออกเป็นพ.ร.ก. ทันหรือไม่ พันตำรวจเอกทวีระบุว่า อายุความเป็นเรื่องของกฎหมาย พ.ร.ก.จะมาใหญ่กว่ากฎหมายได้อย่างไร พร้อมย้ำว่าตนไม่ทราบจริงๆต้องไปถามรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง
ส่วนเมื่อวานนี้ที่ให้สัมภาษณ์ว่าหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ วันนี้จะมีปาฏิหาริย์หรือไม่ พันตำรวจเอกทวี ระบุว่า เท่าที่ทราบทุกหน่วยงานทำงานอย่างเต็มที่ การทำงานลักษณะนี้ถ้าเรามีความพยายาม บางครั้งมันอาจจะประสบความสำเร็จ
เมื่อถามว่าหมายความว่าได้รับสัญญาณที่ดี ได้รับการติดต่อกลับมาจากผู้ต้องใช่หรือไม่ พันตำรวจเอกทวีระบุว่าไม่ได้ติดต่อแต่รับทราบจากผู้ที่ไปสืบสวนหลายคน
เมื่อถามย้ำว่าจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นใช่หรือไม่ พันตำรวจเอกทวี ย้ำคำเดิมว่ามีข้อมูลว่าอยู่ที่ใดแต่เมื่อไปพิสูจน์ทราบพบว่า ข่าวเมื่อวานกับข่าววันนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมดหวังเพราะยังมีเวลา ต้องทำงานให้เต็มที่
ส่วนกังวลหรือไม่เพราะกับจะกระทบกับฐานเสียงของพรรคประชาชาติที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พันตำรวจเอกทวีระบุว่าวันนี้ อย่าไปกังวลเรื่องเสียงแต่ต้องกังวลเรื่องความยุติธรรม เป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมต้องดูให้รอบด้าน เพราะกระบวนการยุติธรรมเรื่องนี้ ที่เขาบอกว่าความล่าช้าคือความอยุติธรรม แต่หัวอกของผู้เสียหายและญาติ เรื่องการเยียวยาก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ ถ้าเขาได้ลูกหรือพ่อแม่เขากลับมาได้ แต่เมื่อเหตุการณ์มันเกิดขึ้นแล้ว ขบวนการยุติธรรมก็ดำเนินการไปตามกฎหมายขณะนั้น ซึ่งการตรวจสอบเมื่อใกล้ขาดอายุความทุกคนก็กังวล ก็จะหาทางออกว่า ทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรม เดินหน้าก่อนขาดอายุความ จนมาเริ่มในเดือนมกราคม 2567 ในปีสุดท้ายความพยายามในการเร่งรัดกระบวนการยุติธรรม ทำไปถึงสามารถออกหมายจับ ส่วนศาลสั่งให้ตำรวจ ไปจับกุม ในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน เขาก็มีความกังวลเพราะอายุความเหลือน้อย
"ส่วนผู้กระทำความผิด เป็นธรรมดาถ้าเขาต่อสู้คดีก็จะใช้เวลา 10 - 20 ปี ถ้าเขาเห็นว่ามีช่องทางเรื่องอายุความ เขาก็ต้องหลบไป อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่แค่ข้าราชการ วันนี้เรามีหมายจับ 7,000 กว่าหมาย จับได้แค่ 4,000 หมาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความมั่นคงเขาก็หลบไป จนหมายจับขาด นี่เราก็ไม่ว่ากัน แต่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่ต้องช่วยกันจับกุมให้ได้"
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่าถ้าจับไม่ได้จะกระทบอย่างไรกับรัฐบาล พันตำรวจเอกทวีระบุว่า หากจับไม่ได้ก็แค่คดีขาดอายุความ รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องให้ประชาชนรับรู้ เรื่องที่มันเกิดขึ้น เชื่อว่าผู้เสียหายเองก็ไม่ได้หวัง ไปทำร้ายผู้ที่ถูกออกหมายจับ แต่ในฐานะที่ครอบครัวมีผู้เสียชีวิต เขาอยากได้ความยุติธรรมตามกระบวนการ
เมื่อถามย้ำว่าหากไม่สามารถจับกุมได้ความรับผิดชอบของรัฐบาลจะอยู่ในระดับใด พันตำรวจเอกทวี ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านมาหลายรัฐบาลแล้วสิ้นสุด ส่วนที่มันสิ้นสุด ในรัฐบาลนี้เพราะรัฐบาล มีความรับผิดชอบด้วยซ้ำ ไม่ต้องการทำให้เรื่องขาดอายุความ แต่พอมาถึงกระบวนการยุติธรรมเรามีสารอัยการ เพราะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเราไม่สามารถ ไปแทรกแซงได้ แต่หน้าที่ของรัฐบาลโดยเฉพาะในยุคนี้ ทำเรื่องให้จนสามารถออกหมายจับ ซึ่งในสายตาของประชาชนหรือญาติๆก็ภูมิใจที่ประชาชนสามารถออกหมายจับแม่ทัพภาคได้ ตรงกันข้ามประชาชนมองว่าญาติพี่น้องของเขาถูกออกหมายจับจำนวนมาก ซึ่งมีความเป็นธรรมที่ กระบวนการยุติธรรมสามารถออกหมายจับข้าราชการได้
ส่วนการออกหมายจับถือเป็นผลงานของรัฐบาลหรือไม่ พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่า ไม่ถือว่าเป็นผลงานรัฐบาล แต่ทำให้เห็นว่าเป็นพลวัฒน์ ถ้ามีกฎหมายให้ทำได้เราจะทำอยู่แล้ว แม้แต่การให้ออกพ.ร.ก. ต้องไปศึกษาว่าถ้าออก จะยืดอายุความเฉพาะ 8 คนหรือ 14 คน หรือจะยืดอายุความอีกกว่า 4,000 คน ที่ถูกออกหมายจับเป็นแสนคน เพราะอาจเป็นการออกกฎหมายเพื่อคนใดคนหนึ่ง ถ้าทำได้ก็อยากทำ
พันตำรวจเอกทวี ยืนยันว่า รัฐบาลพยายามคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียหายในคดีตากใบ ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุ ก็มีการดำเนินคดี ซึ่งในขณะนั้นเริ่มตั้งแต่ชันสูตรพลิกศพ ว่าผู้ตายเป็นใคร ใครทำให้ตาย จนกระทั่งปี 2552 ศาลไม่ได้ชี้ และข้าราชการก็ย้ายออกจากพื้นที่ไปหมด ซึ่งต่างจากคดี 99 ศพ ศาลยังระบุว่าอาวุธปืนมาจากเจ้าหน้าที่ แต่คดีนี้ไม่ได้ระบุว่าใครทำให้ตาย โดยในความบกพร่องตรงนั้นตำรวจก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ร่วมกับ สภ. หนองจิก เมื่อปี 2552 ว่าเหตุใดไม่ทำสำนวนให้จบ และเรื่องนี้ก็ถือเป็นความสวยงามของกฎหมาย ที่ประชาชนฟ้องเองได้และมาฟ้องในปีที่ 20
ส่วนกังวลหรือไม่ที่เหลือเวลาอีก 2 วันจะหมดอายุความ พันตำรวจเอกทวี ยอมรับว่า ตรงนั้นก็เป็นความกังวล แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องปกป้องคุ้มครองประชาชนทุกฝ่าย และเราก็เสียใจกับพี่น้องที่เป็นผู้เสียหายในคดีตากใบ ซึ่งพรรคประชาชาติด้วยซ้ำที่เป็นคนหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา โดยนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ นำเรื่องเข้ากรรมาธิการเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ช่วงปลายรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และมีการเรียกหน่วยงานต่างๆ เข้ามาชี้แจงว่า สำนวนยังมีความบกพร่อง ที่ตำรวจยังไม่สืบสวน โดยไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด ที่จะต้องทำภายใน 20 ปีของอายุความ เราก็ทำหน้าที่ตรงนั้นซึ่งก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในระดับหนึ่ง
สำหรับที่มีการตั้ง ข้อสังเกตกรณีแป้งนาโหนด ที่หลบหนีไปนอกประเทศยังนำตัวมาดำเนินคดีได้นั้นมองว่า ข้อกำหนดของแต่ละประเทศต่างกัน และในส่วนของแป้งนาโหนดกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้เสียหาย แต่กรณีนี้กระทรวงไม่ได้เป็นผู้เสียหาย แต่มอบให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปช่วยสนับสนุนข้อมูล
ขณะที่กลุ่มเอ็นจีโอเสนอให้ร้องเรียนต่อศาลระหว่างประเทศนั้น พันตำรวจเอกทวีกล่าวว่า ต้นขอชื่นชมเอ็นจีโอและทุกภาคส่วน ที่สนับสนุนเรื่องนี้ เพราะความยุติธรรม เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องมีส่วนร่วม พร้อมยืนยันรัฐบาลไม่ได้กังวล เพราะรัฐบาลไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการช่วยเหลือใครและไม่มีอคติที่จะช่วยเหลือใคร และหนำซ้ำอยากให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเราคิดเสมอว่า เราใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเป้าหมายสุดท้าย
เมื่อถามว่าแม้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย แต่ตอนนี้เป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะถูกโยงหรือไม่ พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่า ทุกอย่างเมื่อความจริงปรากฏ ความชั่วร้ายก็จะหายไป