ปชน.จี้รัฐบาลแสดงจุดยืนปัญหาเมียนมา ซัดพวกใช้ข่าวปลอมดิสเครดิตพรรค
'ปชน.' แถลงจัดชุดใหญ่จุดยืนไทยต่อสถานการณ์เมียนมา 'รังสิมันต์' ซัดพวกใช้ข่าวปลอมดิสเครดิตพรรค ย้ำไม่มีนโยบายให้สัญชาติ ยก 5 แนวทางบริหารจัดการคนเข้าเมืองอย่างถูกต้อง ผลประโยชน์ตกแก่คนไทย แนะรัฐบาลแสดงบทบาทให้เกิดสันติภาพโดยเร็วเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นตอ
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2567 นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) แถลง Policy Watch เรื่อง “ประเทศไทยควรทำอย่างไรกับปัญหาเมียนมา” โดยกล่าวว่า ประเด็นเมียนมามีความสำคัญ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศไทย หลายครั้งนำมาสู่ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ที่ดิสเครดิตพรรคประชาชน จึงต้องการใช้โอกสนี้ชี้แจงปัญหาและข้อเสนอของพรรคต่อการแก้ไขปัญหา โดยกรณีล่าสุดที่รัฐบาลประกาศมอบสัญชาติให้กับบุคคลรวมถึงบุตรของบุคคลซึ่งเป็นผู้อพยพกว่า 480,000 คน เรื่องนี้มีการศึกษาตั้งแต่สภาฯ ชุดที่แล้ว พวกเขาคือคนไทยที่ตกหล่น เขาสมควรได้รับสัญชาติไทยมาตั้งนานแล้ว พวกเขาคือคนไทยเหมือนพวกเรา เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมาไม่ได้รับสิทธิ์อย่างที่ควรได้รับ ทำให้หลายคนต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ชุดปัจจุบันที่ตนเป็นประธาน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ส่งให้รัฐบาล จึงขอขอบคุณรัฐบาลที่เห็นความสำคัญ ทำให้คนเหล่านี้ได้เป็นคนไทยอย่างเต็มภาคภูมิ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ประเด็นต่อมา ที่มีความพยายามจะดิสเครดิตพรรคประชาชนว่าเป็น “พรรคประชาชนพม่า” ยืนยันว่านี่คือข่าวปลอม ไม่ใช่เรื่องจริง เราคือพรรคการเมืองที่พยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาผลประโยชน์ของคนไทย และพยายามชี้ชัดว่านโยบายการต่างประเทศ นโยบายความมั่นคงบริเวณชายแดนในปัจจุบัน มีปัญหา ขาดประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบต่อคนไทย เมื่อย้อนดูพื้นหลังของปัญหาในเมียนมาเพื่อเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างไร ปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นแต่เกิดนานมาแล้ว ประเทศไทยมีผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา (ผภร.) ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ซึ่งเข้ามาตั้งแต่ช่วงปี 2527 มีจำนวนประมาณ 80,000 คน อยู่อาศัยภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราว จำนวน 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และราชบุรี มีสำนักงานศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบดำเนินการ และมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยงานกำหนดนโยบาย
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า หลังจากสถานการณ์การสู้รบและเกิดรัฐประหารในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมามีตัวเลขปรากฎชัดในรายงานการพิจารณาศึกษาของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ว่ามีผู้หนีภัยความไม่สงบเข้ามาในประเทศไทยจำนวนประมาณ 51,280 คน ในหลาย ๆ ระลอก โดยพำนักในพื้นที่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้เป็นการชั่วคราว สิ่งที่เราต้องคิดต่อคือข้อมูลของสหประชาชาติที่บอกว่า กลุ่มที่เป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา จำนวนเกือบ 3.5 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีมากกว่า 760,000 คนที่อยู่ตามแนวชายแดนติดต่อกับชายแดนไทย ได้แก่ รัฐฉาน (ตอนใต้) รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และภาคตะนาวศรี ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่า หากสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมายังไม่จบสิ้น มีความเป็นไปได้ที่ผู้พลัดถิ่นกลุ่มนี้จะเข้ามาในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีผู้ที่คาดว่าจะอพยพเพราะได้รับผลกระทบจากการบังคับเกณฑ์ทหารในเมียนมาเข้ามาด้วย ราวร้อยละ 10 หรือ 1.4 ล้านคน นอกจากนี้ วันนี้ประเทศไทยมีคนเมียนมาอยู่ในประเทศแล้วมากกว่า 6 ล้านคน และยังมีแนวโน้มเข้ามาอีกเรื่อย ๆ ขณะที่เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายน้อยกว่าครึ่ง คำถามสำคัญคือเราจะดำเนินการกับตัวเลขนี้อย่างไร
"สิ่งที่พรรคประชาชนกำลังทำ ไม่ใช่การเอื้อต่อคนเมียนมา แต่เราไม่อยากตั้งรับให้ปัญหาบานปลายแล้วค่อยแก้ไข เรากำลังทำเพื่อคนไทย เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศไทยคือเป้าหมายของการอพยพของเมียนมา ดังนั้น ตัวเลขเหล่านี้อาจจะพุ่งไป 8-9 ล้านคนหรือมากกว่านั้น สถานการณ์จะแย่ลงเพราะพวกเขาต้องหางานทำ ดังนั้น หากไม่มีการจัดการเรื่องอาชีพอย่างจริงจัง จะเกิดการปะทะกันระหว่างคนไทยกับคนเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น หากเข้ามาแล้วไม่มีงานทำ ไม่มีการศึกษา อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องอาชญากรรมตามมา ทั้งหมดจะกลายเป็นปัญหาของประเทศไทย" นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกตินี้ เป็นการเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย นำมาซึ่งปัญหาการจ่ายส่วยการทุจริตคอร์รัปชัน บางพื้นที่จ่ายเป็นรายเดือนหรือรายวัน มีการแบ่งพื้นที่จัดเก็บ แบ่งประเภท ตั้งหลักเกณฑ์การจ่ายกันชัดเจน ปัญหานี้เชื่อมโยงกับขบวนการลักลอบเคลื่อนย้ายมนุษย์และขบวนการค้ามนุษย์ ที่ส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกตินี้ ยังส่งผลให้รัฐไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงของกลุ่มคนเหล่านี้ได้ ทำให้การเตรียมรับมือเพื่อรองรับสถานการณ์แรงงานต่างด้าวไม่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้น นโยบายเรื่องเมียนมาของพรรคประชาชน จึงทำเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ เพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของกฎหมาย ลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่สถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในอนาคต โดยข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเมียนมาที่จะส่งผลดีต่อประเทศไทย มี 5 ด้านดังนี้
(1) ด้านการจัดระเบียบขึ้นทะเบียน เป้าหมายที่สำคัญคือการ “เปลี่ยนส่วยเป็นภาษี” เพราะตอนนี้เรามีปัญหาคอร์รัปชันแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย มีแรงงานที่ลักลอบอยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ต้องลักลอบทำงานโดยจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ ดังนั้น การจัดแรงงานทุกกลุ่มให้เข้าระบบ จะทำให้ไม่มีใครต้องหลบหลังเงามืด ไม่ต้องจ่ายส่วยติดสินบนเพื่อให้ได้ทำงานในประเทศไทย เพราะเงินส่วยนั้นจะเปลี่ยนเป็นระบบการจัดเก็บภาษีอย่างถูกต้อง รายได้จากการทำงานในประเทศไทยของคนเหล่านี้จะส่งกลับมายังคนไทย และจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่จะใช้ในการจัดระเบียบเรื่องอื่น ๆ ต่อไป
(2) ด้านการศึกษา ปัจจุบันคนเมียนมาที่อาศัยภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราว จำนวน 9 แห่ง ไม่ได้รับอนุญาตให้มีการเรียนการสอนภาษาไทย ทำให้เกิดปัญหาการลักลอบออกนอกพื้นที่กำหนด ยากต่อการติดตามกำกับดูแลของหน่วยงานราชการ และยังมีคนเมียนมาอีกส่วนหนึ่งที่มีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การขาดการศึกษาของคนเหล่านี้ ย่อมส่งผลต่อการหารายได้เพื่อดูแลตัวเองและครอบครัว ดังนั้น การที่เราไม่ให้คนเหล่านี้ไม่ได้รับการศึกษา อาจเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชญากรที่สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นในสังคมไทย แต่การให้การศึกษาจะทำให้เขาประกอบอาชีพภายใต้หลักเกณฑ์ที่เรากำหนดได้ ซึ่งจะลดอาชญากรรมในประเทศไทย
(3) ด้านสาธารณสุข ปัจจุบันคนเมียนมาถ้าเข้ามาและขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจะได้รับประกันสังคม สามารถใช้ในการรักษาพยาบาลได้ ขณะที่ผู้หนีภัยการสู้รบจะไม่มีสิทธิเข้าถึงระบบประกันสุขภาพพื้นฐานซึ่งส่งผลกระทบในกรณีเจ็บป่วยเรื้อรังหรือเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ ซ้ำร้ายหากการเป็นโรคเรื้อรังขณะมาอยู่ในประเทศไทยแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดโรคติดต่อหรือโรคระบาดในประเทศไทย ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ข้อเสนอเราคือการขึ้นทะเบียนและจัดเก็บภาษีเมื่อเขาทำงานและมีรายได้ เงินนี้จะนำมาพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ครอบคลุมถึงทุกคน
(4) ด้านความมั่นคง ต้องยอมรับว่าวันนี้เรามีปัญหายาเสพติดและคอลเซนเตอร์ มีคนจำนวนมากถูกหลอก เราต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้เชิงรุกและเด็ดขาด ตั้งแต่การแถลงนโยบายของรัฐบาล ตนเสนอว่าเราต้องให้ธนาคารรวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์ รับผิดชอบต่อความเสียหายที่ประชาชนโดนหลอก แต่เท่านี้ไม่พอตราบใดที่ Scaming Center ตามแนวชายแดนยังเติบโต คนจีนเทายังข้ามฝั่งไปที่นั่นได้ ตนคิดว่าต้องมีมาตรการสกัดกั้นอย่างจริงจัง
"โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่แม่สาย กระทรวงมหาดไทยต้องมีคำอธิบายต่อคนไทยว่าเหตุใดจึงยังปล่อยให้ไฟฟ้าแม่สายจำหน่ายไฟไปยังฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของว้า ข้อเสนอตนคือต้องตัดไฟฟ้าเสีย พร้อมกันนี้รัฐบาลต้องคุยกับ Space X ว่าจะมีมาตรการในการควบคุม Starlink ที่ถูกใช้งานโดยเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างไร" นายรังสิมันต์ กล่าว
(5) ด้านการต่างประเทศ ความขัดแย้งในเมียนมาโดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร คือต้นตอที่สำคัญของหลายปัญหาข้างต้น ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการต่อเรื่องเมียนมา คือการสนับสนุนประชาธิปไตยเมียนมาเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งไทยสามารถแสดงบทบาทได้ดังนี้
1. เป็นผู้อำนวยความสะดวกเพื่อให้บรรดากลุ่มต่างๆ ของเมียนมา มาร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออก อนาคตของเมียนมาต้องถูกกำหนดโดยคนเมียนมาเอง
2. ส่งสัญญาณไปถึงทุกฝ่าย ว่าการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์จะเป็นการทำลายความเป็นไปได้ในการสร้างสันติภาพระยะยาว
3. สนับสนุนการส่งความช่วยเหลือไปยังประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือโดยตรง
4. หยุดการสนับสนุนทรัพยากรใดๆ ต่อรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อป้องกันการนำทรัพยากรเหล่านั้นไปใช้ในการเข่นฆ่าประชาชน
5. สร้างความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ เพื่อหยุดยั้งกิจกรรมที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา
รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า สำหรับคำถามของหลายคนที่ว่าพรรคประชาชนจะให้สัญชาติแก่คนเมียนมา ตนยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เราไม่มีนโยบายใดๆ ในการให้สัญชาติแก่คนเมียนมา ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในประเทศหรือนอกประเทศไทย นโยบายของพรรคประชาชนคือการคืนสิทธิให้กับคนไทยที่ตกหล่นตกสำรวจ เขาเหล่านั้นอยู่ในประเทศไทยพอ ๆ กับพวกเรา หรืออาจจะก่อนด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือชนเผ่า เรามุ่งเน้นตรงนี้ ส่วนที่ว่าเราเอาเงินภาษีคนไทยไปเลี้ยงดูคนเมียนมา ตนยืนยันว่าเรามีนโยบาย “เปลี่ยนส่วยเป็นภาษี” แหล่งรายได้ที่สำคัญคือการขึ้นทะเบียนและเก็บภาษีของคนกลุ่มนี้ตามที่ตนเสนอ คนไทยไม่ได้เสียอะไรเพิ่ม
ส่วนที่หลายคนถามว่าทำไมประเทศไทยไม่ผลักดันแรงงานเมียนมากลับไปนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนคิดว่าภาคธุรกิจจะตอบเรื่องนี้ได้ดี เพราะแรงงานเมียนมาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจ การผลักดันแรงงานกลับอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ประเทศไทยควรทำสิ่งที่เราทำได้ คือวางแผนการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาให้ชัดเจนและนำพวกเขาเข้าระบบให้ถูกต้อง
“การที่พรรคประชาชนพูดถึงปัญหาเมียนมา คือการพูดถึงวิกฤตที่ประเทศไทยกำลังเจอ ทุกปัญหาต้องได้รับการแก้ไข เราต้องการแก้ปัญหาที่ต้นตอ ยืนยันว่าเราทำเพื่อคนไทยและประเทศไทย ดังนั้นขอให้หยุดดิสเครดิตหรือใส่ร้ายพรรคประชาชนด้วยเรื่องนี้ แต่ขอให้คุยกันด้วยนโยบายและข้อเท็จจริง” นายรังสิมันต์ กล่าว