'กมธ.พลังงาน' แนะควรทบทวน MOU44 -ใช้เวทีสภา แจงการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน

'กมธ.พลังงาน' แนะควรทบทวน MOU44 -ใช้เวทีสภา แจงการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน

"รองปธ.กมธ.พลังงาน" รีวิว MOU44 ก่อนเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา แนะควรทบทวน หนุนเป็นกรอบเจรจา เร่ง "รัฐบาล" ตั้ง กก.JCT มีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานร่วม

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีน.ส.วชิราภร​ณ์ กาญจนะ  สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธานกมธ. โดยมีวาระพิจารณาติดตามความคืบหน้าการกำหนดเขตทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ในอนาคต ซึ่งเชิญ กรมสนธิสัญญา กระทรวงต่างประเทศ  กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กองทัพเรือ และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เข้าชี้แจง

\'กมธ.พลังงาน\' แนะควรทบทวน MOU44 -ใช้เวทีสภา แจงการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน

โดยภายหลังการประชุมนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะรองประธานกมธ. คนที่สาม ให้สัมภาษณ์ว่าการประชุมดังกล่าวเป็นเพียงการทบทวนและติดตามความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้กรมสนธิสัญญายืนยันว่าการเจรจาต้องใช้เอ็มโอยู 2544 เป็นกรอบหลักพิจารณา และต้องพิจารณาควบคู่กันระหว่างเขตแดนพื้นที่ที่ทับซ้อนกับผลประโยชน์ในพื้นที่ ตามกรอบของเอ็มโอยู อย่างไรก็ดีหน่วยงานไทยมั่นใจในข้อมูลที่จะนำไปเจรจากับกัมพูชา โดยยึดหลักอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (อันโคลซ) ขณะที่เส้นเขตแดนตามแผนที่แนบท้าย เป็นแค่การรับรู้เส้นของ 2 ฝ่ายที่อ้างอิง ซึ่งเป็นคนละเส้นกัน และไม่มีบทบังคับใช้ตามกฎหมาย

นายศุภโชติ กล่าวถึงข้อเสนอให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 ว่า กมธ.พูดเรื่องดังกล่าวค่อนข้างน้อย เพราะกรณีที่มีเอ็มโอยู 44 ถือเป็นกรอบที่ชัดเจนในการเจรจา ส่วนข้อเรียกร้องให้ปรับปรุงนั้น ต้องศึกษาอีกครั้ง เพราะบริบทที่เกิดขึ้นผ่านมาถึง 20 ปี มีความเปลี่ยนแปลงเยอะ จึงเห็นว่าต้องทบทวน แต่ไม่ถึงขั้นสรุปว่าต้องยกเลิกหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามถึงโอกาสที่จะเจรจาเพื่อนำพลังงานออกมาใช้ก่อนการเจรจาเขตแดนจะแล้วเสร็จ นายศุภโชติ กล่าวว่า  กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้แจงว่าถ้าดูจากกรอบที่เราเคยทำกับมาเลเซียจะต้องใช้เวลาถึง 25 ปี จึงมีคำถามว่า ทรัพยากรเหล่านี้ยังจำเป็นหรือไม่ เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงที่เดินไปสู่พลังงานสะอาด จึงได้พูดคุยว่าหากจะทำให้เร็วกว่านี้ทำอย่างไรได้บ้าง ส่วนเรื่องสัมปทานที่ให้สิทธิกับเอกชนไปแล้ว ต้องพูดคุยกันต่อว่าจะเดินหน้าอย่างไร แต่สิ่งที่ กมธ. ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการยกเลิกสัมปทาน แล้วรัฐต้องมาจ่ายค่าชดเชยให้ โดยใช้ภาษีของประชาชน

\'กมธ.พลังงาน\' แนะควรทบทวน MOU44 -ใช้เวทีสภา แจงการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน

เมื่อถามย้ำว่ากรณีที่คุยเรื่องเส้นเขตแดนแล้วไปไม่ได้ จะคุยเรื่องผลประโยชน์ต่อได้หรือไม่ นายศุภโชติ กล่าวว่า “รอให้ถึงจุดนั้นก่อน แล้วค่อยว่ากัน ตอนนี้ควรย้ำจุดยืนว่าควรเข้าสู่โต๊ะเจรจา โดยนำ 2 เรื่องคือ ผลประโยชน์ และเขตแดน มาคุยพร้อมกัน”

เมื่อถามถึงการตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคไทย-กัมพูชา  (เจทีซี) ไทย-กัมพูชา  นายศุภโชติ กล่าวว่า จากการชี้แจงคืออยู่ในช่วงที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา อย่างไรก็ดี กมธ. มองว่าไม่ควรมีแค่ผู้ที่เจรจาเรื่องเขตแดนเท่านั้น แต่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานด้วย  ดังนั้นองค์ประกอบของ คณะกรรมการเจทีซีที่จะตั้งเห็นด้วยว่าต้องเป็นผู้ที่พูดคุยได้ทั้งเรื่องเขตแดน อาณาเขตประเทศ รวมทั้งทรัพยากร

\'กมธ.พลังงาน\' แนะควรทบทวน MOU44 -ใช้เวทีสภา แจงการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน

“ที่ผ่านมาองค์ประกอบของเจทีซี มีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานค่อนข้างน้อย จึงขอฝากข้อเสนอแนะว่าต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเพิ่มไปด้วย  รวมถึงต้องยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง  และให้การทำงานเป็นกลาง” นายศุภโชติ กล่าว

เมื่อถามว่าช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ เดือน ธ.ค. มองว่ารัฐบาลควรนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่สภาหรือไม่ นายศุภโชติ กล่าวว่า เห็นด้วย เพื่อให้พูดคุยอย่างเปิดเผย และอธิบายให้ประชาชนทราบว่ากำลังทำอะไร เพื่อลดคำถามที่ตามมา และให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าจุดยืนคืออะไร และจะทำอะไรต่อ เพราะปัญหาเรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าที่จะแก้ด้วยคนไม่กี่คน.