จัดทัพ ‘สงครามอวกาศ’ ทอ. ปูแผนรับภารกิจนอกโลก
ในอนาคต พื้นที่อวกาศเป็นสมรภูมิรบของมหาอำนาจ ไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน หากไม่มีขีดความสามารถในการเฝ้าระวังทางอวกาศ ลาดตระเวน
KEY
POINTS
- ทอ.ไม่ได้สร้างยานอวกาศ หรือไปอยู่ในสถานีอวกาศ ขอเพียงทำหน้าที่ดูแลเรื่องความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง
- ศวอ.ทอ. กำลังวิจัยผลิตดาวเทียมนภา 3 และนภา 4 ร่วมกับไทยคม จิสด้า ทีเอไอ โรงเรียนนายเรืออากาศ ศูนย์วิจัยกองทัพอากาศ เป็นโปรเจกต์ร่วมกัน
“กองทัพอากาศ” เตรียมยิงดาวเทียมนภา 3 และนภา 4 ทดแทนดาวเทียมนภา 1 และนภา 2 ที่กำลังจะหมดอายุใช้งานปี 2568 หลังปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวน และเฝ้าตรวจทางอวกาศ พื้นที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงไทย
พลันที่ โดนัล ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ เตรียมยกระดับนโยบายด้านอวกาศ ตามแผนจัดตั้งกองทัพอวกาศ พร้อมเตือนให้ระมัดระวังขีดความสามารถ จีน รัสเซีย ที่ซุ่มพัฒนาอาวุธทางอวกาศในห้วง 15 ปีที่ผ่านมา
หวังปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐในอวกาศ เช่น ดาวเทียมกว่าร้อยดวง ที่ใช้สำหรับสื่อสารและปฏิบัติการเฝ้าระวัง ตรวจจับอาวุธยิงโจมตี ในสถานการณ์ห้วงอวกาศเดิมเป็นพื้นที่สงบ แต่ปัจจุบันกลายเป็นแออัด และมีความปกปักษ์ต่อกัน
ท่ามกลางการแข่งขันทางอวกาศของประเทศมหาอำนาจรุนแรงมากขึ้น โดยมีเป้าหมายกระทำต่อดาวเทียมของอีกฝ่าย เช่น แทรกแซงสัญญาณ การขัดขวางระบบเซนเซอร์ภาพ ขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียม ฯ
ในสมุดปกขาวกองทัพอากาศไทย ได้ประเมินภัยคุกคาม ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ ภัยคุกคามทางอวกาศ ซึ่งปัจจุบันการแข่งขันเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ
ทั้งจากเศษซากจรวดนำส่งดาวเทียม ดาวเทียมหมดอายุการใช้งาน การตรวจจับดาวเทียมฝ่ายตรงข้าม ปัญหาดาวเทียมชนกัน การรบกวนสัญญาณระบบปฏิบัติการทางอวกาศ และการทำลายขีดความสามารถด้านอวกาศ จากความขัดแย้งระหว่างประเทศ ท่ามกลางภูมิศาสตร์โลกร้อนระอุ
พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เปิดเผยกรุงเทพธุรกิจว่า กองทัพอากาศมองเรื่องอนาคต ภัยคุกคามในอวกาศ ซึ่งหลายประเทศดำเนินการมา 60 กว่าปีแล้ว
ปัจจุบันกองทัพอากาศมีศูนย์ปฏิบัติการด้านอวกาศ และสำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองทัพอากาศ ดังนั้นจะมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงทางอากาศและอวกาศ คาดว่าเสร็จ เม.ย.2568 โดยนำทั้งสองหน่วยงานมาปฏิบัติภารกิจ ไม่เพิ่มกำลังพลหรืองบประมาณ เพียงแต่นำภารกิจไปเพิ่มเติม
ทั้งนี้ หากมองในภาคของธุรกิจ การแข่งขันทางด้านอวกาศค่อนข้างสูง แต่เรื่องความมั่นคงต้องจับตา เพราะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีดาวเทียมชาติอื่นจะชนดาวเทียมของเรา กองทัพอากาศซึ่งเฝ้าระวังอยู่แล้ว ก็แจ้งเตือนไป จึงมีการปรับทิศทาง เข้ามาใกล้สุด 184 เมตร ซึ่งถือว่าใกล้มากในห้วงอวกาศ
ประเทศไทยมีสัมปทานพื้นที่อวกาศ หากเราไม่มีดาวเทียมเฝ้าระวัง อาจจะมีดาวเทียมของชาติอื่นเข้ามาโดยไม่มีทางรู้ได้
นอกจากนี้ ยังมีการลาดตระเวนทางอากาศ ซึ่งเป็นที่มาของข้อมูล น้ำท่วมจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ นำภาพถ่ายทางอากาศมาเปรียบเทียบ มาวิเคราะห์ทำเป็นแนวทางน้ำไหล ส่งให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการ จะใช้ช่วยเหลือประชาชน การเฝ้าระวังป้องกัน โดยการใช้อุปกรณ์ที่เรามีอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผบ.ทอ.ระบุว่า ในมิติความมั่นคง กองทัพอากาศต้องการให้มีกฎหมายมารองรับการปฏิบัติภารกิจในอนาคต โดยการออกเป็นพระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายรายมาตรา นำเข้าสภากลาโหม ครม.และรัฐสภา รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ
“ทอ.ไม่เคยคิดที่จะไปสร้างยานอวกาศ หรือไปอยู่ในสถานีอวกาศ ขอเพียงทำหน้าที่ดูแลเรื่องความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง และความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงผลประโยชน์ในอวกาศ ปัจจุบันเรามีทั้งดาวเทียมไทยคม จิสด้า และเราก็มีความร่วมมือกับหน่วยงานเหล่านี้ มีการทำเอ็มโอยูร่วมกัน”
พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวว่า ปัจจุบันกองทัพอากาศมีดาวเทียม 2 ดวง คือนภา 1 และ นภา 2 ใช้งบประมาณดวงละประมาณ 50 กว่าล้านบาท มีอายุการใช้งาน 3 ปี ซึ่งดวงแรก(นภา 1) หมดอายุไปแล้ว แต่ยังอยู่ในวงโคจร ยังสามารถส่งข้อมูลได้ จากนั้นจะมีแรงเฉื่อยตกลงมา จะเบิร์นเอาต์ ก่อนถึงพื้นโลก เพราะมีขนาดเล็ก
สำหรับดาวเทียมที่หมดอายุแล้วตกลงมา ก็ตกลงมาบนพื้นโลก หากเราติดตามก็จะรู้ว่าพิกัดการตกอยู่ที่ไหน ก็จะแจ้งเตือน ปัจจุบันพื้นน้ำมีมากกว่าพื้นดิน การออกแบบดาวเทียม จะกำหนดให้ตกลงในทะเล แต่จะมีบางส่วน ที่ตกบนพื้นดิน เพราะปัจจุบัน ดาวเทียมมีจำนวนมาก อาจไม่ตกตามที่กำหนดไว้
ส่วนดาวเทียมดวงที่ 2 (นภา 2) ใช้งานได้ประมาณ 200 วัน ถึง 1 ปี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องสร้างดาวเทียม นภา 3 นภา 4 ประเมินแล้วใช้งบดวงละประมาณ 60 ล้านบาท ส่วนสาเหตุที่ใช้งบสูง เพราะเลนส์กล้องมีราคาแพง ซึ่งปัจจุบันเราสามารถถ่ายภาพได้ระยะ 5 เมตร หากเป็น 1 เมตรเลนส์ก็จะแพงกว่านั้น
“เรามีศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบิน และอวกาศกองทัพอากาศ (ศวอ.ทอ.) ผลิตดาวเทียมได้เอง ตอนนี้ก็ยังใช้งานวิจัยของเรามาทำดาวเทียมนภา 3 และนภา 4 ร่วมกับไทยคม จิสด้า ทีเอไอ (บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด) โรงเรียนนายเรืออากาศ ศูนย์วิจัยกองทัพอากาศ เป็นโปรเจกต์ร่วมกัน เพียงแต่เราต้องจ้างส่งดาวเทียมขึ้นไป และเลนส์เราต้องซื้อ ส่วนอย่างอื่นเราสร้างเองทั้งหมด”
พล.อ.อ.พันธ์ภักดี ยอมรับว่า หากในอนาคต พื้นที่อวกาศเป็นสมรภูมิรบของมหาอำนาจ ไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน หากเราไม่มีขีดความสามารถในการเฝ้าระวังทางอวกาศ ลาดตระเวน มองจากข้างล่างขึ้นข้างบน และมองจากข้างบนลงมาข้างล่าง เช่น มีความพยายามยิงดาวเทียมของเรา ซึ่งเป็นไปได้หมดในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณการเชื่อมต่อเครื่องบินรบที่เราใช้อยู่ จีพีเอส ทุกอย่างเราใช้มาจากดาวเทียมทั้งหมด หากเราไม่มีความสามารถในเรื่องนี้ ต้องรอรับว่าเขาจะทำอะไรกับเรา
หากดาวเทียมของเรา สุ่มเสี่ยงถูกยิง ถูกชน เราไม่สามารถสกัดกั้นได้ เพราะไม่มีอะไรสกัด แต่จะใช้วิธีการประท้วง แจ้งเตือน ตอบโต้ เช่น ดาวเทียม แจ้งเตือนให้เขาปรับทิศทางออกได้ แต่ไม่รู้ว่าในความเป็นจริงจะสามารถทำได้แค่ไหน เราสามารถแจ้งเตือนได้หรือไม่ ก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้ ต้องมีกฎหมายรองรับเพื่อที่จะพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งตอนนี้เอาแค่ป้องกัน ในสิ่งที่เรามี ทั้งน่านฟ้า น่านอวกาศ รวมถึงการช่วยเหลือประชาชน ทรัพย์สินของภาคธุรกิจ
พล.อ.อ.พันธ์ภักดี ย้ำว่า เป้าหมายของกองทัพอากาศ อยากนำบุคลากรที่มีความสามารถมาทำหน้าที่ ให้สอดคล้องกับภัยคุกคามจากอวกาศ เพราะเรื่องพวกนี้ต้องอาศัยการเรียนรู้และศึกษา และที่ผ่านมากองทัพอากาศจึงได้ส่งบุคลากรไปเรียนเรื่องนี้โดยตรง
“ส่วนจะมีความเป็นไปได้ที่กองทัพอากาศ จะเปลี่ยนเป็นกองทัพอวกาศในอนาคต ขณะนี้ยังไม่ทราบ รู้แค่ว่าปัจจุบันต้องทำภารกิจก่อน สมมติในอนาคต มีการรบกันในอวกาศ แบบเดียวกับสตาร์วอร์ เป็นสิ่งที่เราไม่อาจคาดการณ์ได้ แต่นี่คือวิสัยทัศน์ของกองทัพอากาศ ต้องมองไปข้างหน้า ซึ่งมีทั้งโอกาสที่เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างดูไปตามสถานการณ์โลก”
ทั้งนี้ในการประชุม ผบ.เหล่าทัพ ล่าสุด ในที่ประชุมได้แจ้งรับทราบการปรับโครงสร้างกองทัพอากาศ ปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางอวกาศกว่า 29,000 ล้านบาทต่อปี ที่มีการสื่อสารและถ่ายทอดสัญญาณต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 35,600 กิจการ มีการจ้างงาน 1.6 ล้านคน
โดยศูนย์ประสานงานการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ จะเป็นหน่วยขึ้นตรงของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ (ศปก.ทอ.) ซึ่งอยู่ในอำนาจ ผบ.ทอ. ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2568 โดยมีเสนาธิการทหารอากาศ เป็นผู้กำกับดูแล เพื่อให้เป็นหน่วยประสานงานทั้งภายในและนอก ทอ.
สำหรับการปรับโครงสร้างที่ต้องทำควบคู่ในปี 2568 ได้แก่
1.จัดทำร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อเปลี่ยนชื่อกองทัพอากาศ เป็น “กองทัพอากาศและอวกาศ” โดยเมื่อสภากลาโหมเห็นชอบแล้ว จะนำร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป
2.กองทัพอากาศ พิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ” แบบ ศร.ชล. ของกองทัพเรือ เพื่อปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น
ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2568 เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาฯ และการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ขัด รธน. ภายในปี 2569 จากนั้นเป็นขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะใช้ระยะเวลา 3 ปี หรือปี 2571
ท่ามกลางภูมิศาสตร์โลกร้อนระอุ จากการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจทั้งทางบก ทะเล น่านฟ้า สู่อวกาศ กลายเป็นความท้าทายใหม่ของ “กองทัพอากาศไทย” ต้องใช้สรรพกำลังที่มีอยู่ วิจัย คิดค้น สร้างบุคลากร องค์ความรู้ เตรียมรับแรงกระแทกในอนาคต