เจาะขุมกำลังสื่อสาร ‘นายกฯอิ๊งค์’ บ้านพิษฯ-ตึกไทยฯ ชกไม่ตรงเป้า?
สำรวจองคาพยพด้านการสื่อสารรอบตัว นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร มีคีย์แมนอยู่ทั้งฉากหน้าและฉากหลังของนายกฯ คนที่ 31 โดยปรากฎชื่อของ "นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" ทีมบ้านพิษณุโลก ส่วนตึกไทยคู่ฟ้ามีทั้ง "นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช" และ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ"
KEY
POINTS
- สำรวจขุมกำลังคีย์แมนด้านสื่อสารข้างกาย “นายกฯ อิ๊งค์” และ “พรรคเพื่อไทย” ปรากฎชื่อทีมงานที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก มี "นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" อยู่ฉากหลัง
- "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ที่ปรึกษาของนายกฯ เข้ามาช่วยเติมเต็มทิศทางการสื่อสารของนายกฯ
- "นพ.สุรพงษ์" และ "ณัฐวุฒิ" ทั้งสองเคยอยู่ฉากหลังและฉากหน้ากระบวนทัพการสื่อสารของ "พรรคเพื่อไทย" ในห้วงเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 สุดท้ายต้องยุติบทบาท หลัง "พรรคเพื่อไทย แพ้การเลือกตั้งให้กับ "พรรคก้าวไกล"
- "อดีตกลุ่มแคร์" และ "ทีมนาตาชา" คือ ห้องเครื่องกระบวนการสื่อสารและการสร้างภาพลักษณ์ของนายกฯ แพทองธาร
- “ช่องเอ็นบีที” ให้พื้นที่ “นายแบก” และ “นางแบก”และผู้ประกาศข่าวจากช่อง “วอยซ์ทีวี”ที่เพิ่งปิดตัวไปเมื่อกลางเดือน พ.ค.2567 เข้ามาเป็นกองหนุนการสื่อสารให้รัฐบาล
ยุทธศาสตร์การสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤติ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากสื่อสารไม่ดี กระแสอาจตีกลับ ส่งผลต่อความนิยมได้
แม้ในห้วง 1 เดือนที่ผ่านมา นายกฯแพทองธาร ชินวัตร จะขยับกระแสนิยม ขึ้นอันดับ 1 จาก “สวนดุสิตโพล” ที่สำรวจ “ดัชนีการเมืองไทย” ประจำเดือน พ.ย. 2567 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,078 คน
แม้ “นายกฯ อิ๊งค์” จะมีกระแสนิยมที่เหนือกว่าผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ แต่กลับเพลี่ยงพล้ำด้านการสื่อสารในภาวะวิกฤติและสาธารณะ ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา จนทำให้ฝั่งตรงข้ามและพรรคคู่แข่งหยิบยกไปสร้างลานจอด เรียก “รถทัวร์” มาลงผ่านโซเชียลมีเดีย
เมื่อสำรวจองคาพยพด้านการสื่อสารที่เป็นมือไม้ให้กับ “นายกฯ อิ๊งค์” และ “พรรคเพื่อไทย” จะพบคีย์แมนหลักๆ อยู่ฉากหลังและอยู่เบื้องหน้า ดังนี้
ขุมกำลังสื่อสาร “บ้านพิษฯ”
ไล่ตั้งแต่ ทีมที่ปรึกษา “บ้านพิษณุโลก” มีขุนพลหลักคือ “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” รองประธานคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกฯ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
มีขุมกำลังการสื่อสารคือทีมงาน “อดีตกลุ่มแคร์” และ“ทีมนาตาชา” ซึ่งเคยดูแลการสื่อสารของ“พรรคเพื่อไทย” ในห้วงเลือกตั้งใหญ่
บทบาทของ “หมอเลี้ยบ” จะคอยซัพพอร์ต นายกฯแพทองธาร ตั้งแต่เริ่มก้าวเท้าเข้าสู่แวดวงการเมือง ตั้งแต่นั่งประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย จนมาถึงหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และหัวหน้าพรรค
องคาพยพของทีมหมอเลี้ยบตั้งแต่ยังไม่เป็นรัฐบาล จะช่วยพรรคดูแลภาพรวมการสื่อสารของพรรคเป็นหลัก โดยกระบวนทัพการสื่อสารช่วงโหมดสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไป 14 พ.ค. 2566 ได้ผนึกกำลังกับ “เดอะเต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยในเวลานั้น
ขณะเดียวกันเพื่อไทยยังได้บรรดาขุนพลแม่ทัพ “นายแบก” และ “นางแบก” ผ่านโซเชียลมีเดีย และมีสื่อในมือคือ “วอยซ์ทีวี” เป็นอีกหนึ่งขา เพื่อทำสงครามใต้ดิน และบนดินกับ “พรรคก้าวไกล” ในขณะนั้น
ทว่า การทำศึกข่าวสารของเพื่อไทย หลังเลือกตั้งทั่วไปกลับพ่ายให้กับก้าวไกล และต่อมา“หมอเลี้ยบ” ได้ยุติบทบาทด้านการสื่อสารของพรรคไปด้วย
ขณะที่ “เดอะเต้น” เจ้าของฉายา “สุภาพบุรุษไพร่” ก็ยุติบทบาท ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย และถอยไปทำร้านอาหาร “เยี่ยมใต้” ในช่วงที่ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน กำลังตั้งไข่
เมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ “หมอเลี้ยบ” จึงได้กลับเข้ามารับบทบาทช่วยรัฐบาลสื่อสารของคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นนโยบายเรือธง
เมื่อ “แพทองธาร” ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ คนที่ 31 คีย์แมนด้านการสื่อสารนายกฯและทีมงาน ภายใต้ความรับผิดชอบของหมอเลี้ยบก็เริ่มปรากฎอีกครั้ง ส่วน“ณัฐวุฒิ” ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ ไร้เงินเดือนประจำตำแหน่ง ซึ่งว่ากันว่า “เดอะเต้น” มาช่วยดูทิศทางการสื่อสารให้นายกฯ ด้วย
"นาตาชา” ทีมเด็กเกาะติดนายกฯ
สำหรับองคาพยพด้านการสื่อสาร ขับเคลื่อนผลงานรัฐบาลแพทองธาร ที่มี “ทีมบ้านพิษณุโลก” ปัจจุบันดูแล ก็ยังมีรากเหง้าของ กลุ่มแคร์ และบุคลากรอดีตคนข่าว “วอยซ์ทีวี” เป็นกองหนุน
รวมทั้งปีก “ตึกไทยคู่ฟ้า” ยังมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ช่วยดูสปีช การสื่อสารทางการ ในภารกิจต่างๆ
ที่ต้องโฟกัสคือ “ทีมนาตาชา” แม้จะเคยร่วมกระบวนทัพการสื่อสารของพรรคเพื่อไทยอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันทีมนี้เป็นอีกขาหนึ่งของหมอเลี้ยบ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ดูแลการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียของนายกฯ และดูแลเป็นการเฉพาะให้กับนายกฯ แพทองธารเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการสื่อสารของพรรค
เมื่อ “นายกฯ อิ๊งค์” เข้ามาเป็นนายกฯ เต็มตัว “ทีมนาตาชา” ก็ส่งทีมงานเข้ามาตามประกบถึงตึกไทยคู่ฟ้า ต่อเนื่องจากช่วงเลือกตั้งที่เกาะติดแพทองธารไปหาเสียงตามต่างจังหวัด
ด้วยประสบการณ์ของทีมนาตาชา เป็นคนรุ่นใหม่จึงถูกคนในพรรค รวมถึง สส.มองว่า“มือไม่ถึง”ในทางการเมือง ทำให้การสื่อสารบางอย่างของนายกฯ อิ๊งค์ ยังไม่ตรงเป้า เพราะมักเลือกใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลักในการสื่อสาร
ขณะเดียวกัน การสื่อสารในภาพความเป็นผู้นำ นายกฯ อิ๊งค์จะมีเพื่อนสนิทข้างกายอยู่แล้ว และเป็นทีมเลขานุการส่วนตัว ทว่าภาพลักษณ์กลับถูกโจมตีว่าเป็น “นายกฯ ไอแพด”
นอกจากนี้ เลขาธิการนายกฯ ยังช่วยดูกำหนดการ และภาพรวมของคำแถลง แต่ก็ยังถูกมองจากคนที่คลุกคลีพื้นที่การเมืองในพรรคว่า การสื่อสารยังไม่สามารถเรียกคะแนนนิยมของ “พรรคเพื่อไทย” ได้เต็มที่ ทั้งจากการลงพื้นที่ ครม.สัญจร ล่าสุดที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย
เอ็นบีทีผนึกคนเก่าวอยซ์
ทางด้านสื่อรัฐ “กรมประชาสัมพันธ์” ที่มี “จิราพร สินธุไพร” สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ กำกับทิศทางการสื่อสารผ่านทางสื่อในมือของรัฐบาล คือ “เอ็นบีที”
“เอ็นบีที” ในยุค “รัฐบาลเพื่อไทย”ภายใต้การกำกับของ “จิราพร” ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่จึงคลอดแฟนเฟจเฟซบุ๊ก “NBT Connext” ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสื่อสารผลงานของรัฐบาลเพื่อไทยเป็นหลัก
“ช่องเอ็นบีที” ยังให้พื้นที่คนข่าวขุนพล “นายแบก” และ “นางแบก”และผู้ประกาศข่าวจากช่อง “วอยซ์ทีวี” ที่เพิ่งปิดตัวไปเมื่อกลางเดือน พ.ค.2567 เข้ามาเป็นกองหนุนการสื่อสารให้รัฐบาล ผ่านรายการ “คุยคลายข่าว” ช่องเอ็นบีที ช่วง 8 โมงเช้าผ่าน “ธีรัตถ์ รัตนเสวี” อดีตโฆษกประจำสำนักนายกฯ และ แขก คำ ผกา “ลักขณา ปันวิชัย”
ทั้งหมดทั้งมวลในภาวะที่นายกฯ เจอวิกฤติด้านการสื่อสารเข้ามาปะทะจากฝั่งตรงข้าม ทำให้คนการเมืองในเพื่อไทยมองว่าต้องมีการปรับทัพใหม่ เพื่อไม่ให้ตำบลกระสุนตกไปอยู่ที่“นายกฯแพทองธาร”คนเดียว