ฉากทัศน์การเมืองร้อนปี 68 พรรคร่วมรัฐบาลต่อรองหนัก
ฉากทัศน์การเมืองร้อนปี 68 พรรคร่วมรัฐบาลต่อรองหนัก ปรับครม.หลังซักฟอก ฝ่ายค้านปั้นผลงาน เร่งเครื่องตรวจสอบ
KEY
POINTS
-
อุณหภูมิทางการเมืองปี 2568 จะร้อนรุ่ม ร้อนแรงกว่าปี 2567 หลายเท่า เพราะเข้าสู่กลางเทอมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก่อนจะครบเทอมสภาฯ ในช่วงต้นปี 2570
-
โดย “พรรคการเมือง” ต้องเตรียมความพร้อมลงสนามเลือกตั้งกันอีกรอบ การขับเคลื่อนทางการเมืองของแต่ละพรรค จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
-
จับตา "ค่ายสีแดง-ค่ายสีน้ำเงิน" ที่จบฉากรัก เปิดฉากรบกันมากขึ้น ภาพคนฉากหน้าร่วมก๊วนกอล์ฟแค่ละคร เพราะคนหลังฉากคือคนบัญชาการเกมทั้งหมด
อุณหภูมิทางการเมืองปี 2568 จะร้อนรุ่ม ร้อนแรงกว่าปี 2567 หลายเท่า เพราะเข้าสู่กลางเทอมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก่อนจะครบเทอมสภาฯ ในช่วงต้นปี 2570 ทำให้ “พรรคการเมือง” ต้องเตรียมความพร้อมลงสนามเลือกตั้งกันอีกรอบ
การขับเคลื่อนทางการเมืองของแต่ละพรรค จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะ “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” ที่มีฐานเสียง ฐานกองกำลัง ทับซ้อนกันหลายพื้นที่ อาจจะถึงเวลาออกอาวุธห้ำหั่นกัน เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ
พรรคการเมืองที่มีเดิมพันสูงกว่าพรรคอื่น หนีไม่พ้น “พรรคเพื่อไทย” หากทำผลงานไม่เข้าเป้า ไม่เข้าตาประชาชนโอกาสที่จะกอบกู้คะแนนนิยมย่อมลดน้อยลงทันที แถมจะกดให้แต้มการเมืองตกต่ำลงกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ศูนย์กลางอำนาจของพรรคเพื่อไทย ต้องการรักษาอำนาจให้อยู่ในมือนานที่สุด เพื่อใช้ต่อรองกับ “หัวขบวนอนุรักษ์” เนื่องจากยังมีภารกิจพา “น้องสาว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ตัวของ “ทักษิณ” ยังไม่ปลอดภัยเสียทีเดียว มีคดีความผิด ม.112 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ “ศาลอาญา” ภายหลังสำนักงานอัยการสูงสุดส่งฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนั้น “ตระกูลชินวัตร” จำเป็นต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อรักษาอำนาจรัฐให้อยู่ในมือต่อไป
การขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทยจากมันสมองของ “ทักษิณ” มุ่งไปในทิศทางใช้บริการ “บ้านใหญ่” โดยเดินสายพบปะคนบ้านใหญ่ในหลายพื้นที่ เพราะรู้ว่ากระแสของ “เพื่อไทย” ไม่พุ่งกระฉูดเหมือนเก่า
โดยการเลือกตั้งนายก อบจ. ในหลายจังหวัด มีร่องรอยยุทธวิธี “กระสุน” นำ “กระแส” ทำให้พรรคเพื่อไทยเอาชนะได้ในหลายพื้นที่ แม้ทักษิณจะลงพื้นที่ช่วย “ลูกพรรค-ลูกทีม” หาเสียง แต่ชัยชนะที่คว้ามาได้ ไม่ใช่กระแสที่เคยพีคเหมือนเก่า
ทว่า ทักษิณรู้ดีว่า การเมือง“บ้านใหญ่” แม้จะมีประสิทธิภาพ แต่หากสามารถพลิกฟื้นกระแสให้กลับมาได้ จะยิ่งทำให้ “เพื่อไทย” กลับมาแข็งแกร่งมากขึ้น โดยมีทางเลือกเดียวที่ต้องทำ คือการโชว์ผลงานระดับโบว์แดงของ “รัฐบาลแพทองธาร”
เมื่อเช็กลิสต์นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ในยุค “หัวหน้าอิ๊งค์” ยังมีหลายอย่าง ห่างไกลความจริง อาทิ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 ทุกครอบครัวต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน คนจบปริญญาตรีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 25,000 บาท เป็นต้น
จึงเป็นบทพิสูจน์ฝีมือของ “ทักษิณ-แพทองธาร” จะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ตามคำมั่นสัญญาได้หรือไม่ ที่สำคัญนโยบายหาเสียงจะสามารถดำเนินการตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชนมากน้อยเพียงใด
ขณะเดียวกัน “ทักษิณ-เพื่อไทย” ยังต้องเจอกับ “ทีมสีน้ำเงิน” ทั้งสภาสูง-สภาล่าง ที่จะคอยขัดขวางไม่ให้เดินเกมได้สะดวก เพราะการเลือกตั้งปี 2570 ทั้งค่ายแดง-ค่ายน้ำเงิน ต้องแย่งชิงเก้าอี้ สส.ในพื้นที่ทับซ้อนกันเอง
"ภูมิใจไทย"ชักธงรบ ตรึงพื้นที่
ยุทธศาสตร์ของ “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ ผู้มากบารมีแห่งพรรคภูมิใจไทย เน้นการเมือง “บ้านใหญ่” ที่สามารถคาดหวังประสิทธิภาพในศึกเลือกตั้ง จำนวน 69 สส. ที่มี ทำให้ “ภูมิใจไทย” อยู่ในสถานะพรรคร่วมรัฐบาลเบอร์ 2 หากจะขยับเกมย่อมมีพลังอย่างมาก
ที่สำคัญ ยังมีแรงเสริมจาก สว.สีน้ำเงิน กว่า 150-170 เสียง เป็นแรงส่งให้ “ค่ายสีน้ำเงิน” มีแรงต่อรองทางการเมืองสูงลิบ และคอยสยบ “นายใหญ่” บ้านจันทร์ส่องหล้า ไม่ให้เหิมเกริม
ยี่ห้อ “เนวิน” ลูกน้องเก่า “ทักษิณ” ย่อมอ่านทางกันออกว่า การขยับเกมของ “นายใหญ่-ค่ายแดง” มุ่งทำการเมือง “บ้านใหญ่” เพราะกระแสของพรรคเพื่อไทยไม่พุ่งกระฉูดเหมือนเก่า
เมื่อ“นายใหญ่”ขยับเกม “บ้านใหญ่”หลายพื้นที่จึงทับซ้อนกับภูมิใจไทย โดยเฉพาะฐานกำลังในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ต้องสู้กันหลายจังหวัด หลายเขต จึงไม่แปลกที่ “เนวิน” จะวางเกมให้"ภูมิใจขวาง" หลายเรื่อง ที่ “รัฐบางแพทองธาร”จะเดินหน้า
ดังนั้นในปีหน้า “สส.-สว.”จากค่ายสีน้ำเงิน จะมีทิศทางเคลื่อนเกมการเมืองกระหน่ำ ขวางแรงกว่าเดิม เนื่องจาก “เนวิน” อ่านใจ-ทำนายเกม “ทักษิณ”ว่า จะไม่กล้าพอที่จะ “ยุบสภา” เพื่อเดินเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้ง ทั้งที่ยังเป็นรอง เพราะยังไม่สามารถพลิกฟื้น“เศรษฐกิจ” ได้
รทสช.สลัดทุน-ลูกพรรคแถวตรง
ตั้งแต่ “เดอะตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ รมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ชักธงรบ “นายทุน” เรตติ้ง “รทสช.” ก็พุ่งสูงขึ้น ใกล้เคียงกับช่วง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ยังอยู่บนถนนการเมือง
ก่อนหน้านี้ เกิดความแตกแยกภายในพรรค เนื่องจาก“หัวหน้าพี”เผชิญแรงต้านจาก“กลุ่ม สส.”อย่างหนัก และยังมี“มือมืด”เตรียมเทคโอเวอร์ 25 สส.ให้ย้ายสังกัด ทว่า “เลขาฯขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้เข้ามามีบทบาท ผนึกสส.ให้แน่นขึ้น สกัดการ ย้ายออก
อย่างไรก็ตาม การเปิดศึกกับ “นายทุน”กลับทำให้ “พีระพันธุ์-รทสช.” มีเรตติ้งการเมืองสูงขึ้น หลายช่องทางในโชเชียลมีเดียสะท้อนชัดเจนว่า “สาวกส้ม” มีท่าทีสนับสนุน จน “บิ๊ก รทสช.” เห็นสัญญาณของโอกาส ในการสร้างความนิยมให้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับท่าทีของ สส.รทสช. จากที่เคยหวั่นไหว หลังได้รับการทาบทามจากพรรคการเมืองเกิดใหม่ แต่ระยะหลังมานี้สัญญาณเข้มแถวตรง ผนวกกับเรตติ้งพรรคพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ สส.หลายคน เปลี่ยนท่าที มีคำมั่นจะอยู่ร่วมหัวจมท้ายกับ รทสช.ต่อไป
ปชป.ป่วน“บิ๊กทรี”แตกแยกทาง
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เข้าร่วมรัฐบาล คะแนนนิยมยังไม่ฟื้น ผลสำรวจ “นิด้าโพล”ไตรมาส 3 อยู่ที่ร้อยละ 4.40 ไตรมาส 4 ตกลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.40 สะท้อนให้เห็นว่าความนิยม“พรรคสีฟ้า” กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ โดยเฉพาะฐานเสียง “ภาคใต้” โดนพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองรุกคืบมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีข่าว “บิ๊กทรี”ประกอบด้วย “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าพรรค “นายก ชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข เลขาธิการพรรค และ “เสี่ยแทน” ชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรค ระยะหลังความสัมพันธ์ไม่เหมือนเดิม เพราะมีคนกลางเข้ามาแทรก
จึงน่าจับตาว่า ประชาธิปัตย์จะแก้เกมกลางมรสุมแรงศรัทธาอย่างไร เพราะหากปล่อยให้ความนิยมตกต่ำลงเรื่อยๆ ย่อมส่งผลเสียในศึกเลือกตั้ง 2570 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โจทย์สีส้มกระตุ้นกระแส “หัวหน้าเท้ง”
ด้านขั้วฝ่ายค้าน โจทย์เดียว แต่เป็นโจทย์ใหญ่ของ“ขุนพลสีส้ม” คือการกระตุ้นความนิยมของ “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ให้มาอยู่ระดับเดียวกับที่ “เดอะทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยทำได้
ผลสำรวจ “นิด้าโพล”บ่งชี้ว่า กระแสสีส้มลดน้อยลง หลังจากการยุบอดีคพรรคก้าวไกล และทำให้ “พิธา”ถูกตัดสิทธิทางการเมือง โดยในไตรมาส 1 ความนิยมในตัวของ “พิธา” อยู่ที่ร้อยละ 42.75 ไตรมาส 2 ร้อยละ 45.50 ขยับเพิ่มมากกว่าเดิม เช่นเดียวกับอดีตพรรคก้าวไกล ไตรมาส 1 ร้อยละ 48.45 ไตรมาส 2 ร้อยละ 49.20
เมื่อเปลี่ยนมาอยู่ในยุค “หัวหน้าเท้ง” ความนิยมกลับลดฮวบอย่างน่าใจหาย ไตรมาส 3 ร้อยละ 22.90 โดน “แพทองธาร” ขยับแซงขึ้นไป ก่อนจะขยับขึ้นมาในไตรมาส 4 ร้อย 29.85 แซงคืนกลับมาได้ ส่วน “พรรคประชาชน” ไตรมาส 3 ร้อยละ 34.25 และไตรมาส 4 ร้อยละ 37.30
เมื่อนำผลโพลครั้งล่าสุดมาเปรียบเทียบกันจะพบว่า “พิธา” มีคะแนนนิยมมากกว่า “ณัฐพงษ์” กว่าร้อยละ 15.05 และ “อดีตพรรคก้าวไกล” มีคะแนนนิยมมากว่า “พรรคประชาชน” กว่าร้อยละ 11.9
ดังนั้นในมิติของตัวบุคคล “ขุนพลสีส้ม” อาจจะต้องมีโจทย์ใหญ่ให้แก้ จะทำอย่างไรให้ “ณัฐพงษ์” มีคะแนนนิยมสูสีกับช่วงพีคสุดของ “พิธา” เพราะต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งปี 2570 พรรคประชาชนต้องชนะการเลือกตั้ง และได้ สส. เกิน 251 เท่านั้น ถึงจะมีโอกาสเป็นรัฐบาล
ขณะเดียวกัน ต้องจับการพิจารณาคดีเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งอยู่ในมือ ป.ป.ช. โดยมีปัจจุบันมี สส.25 คน ที่ยังมีตำแหน่งอยู่ หาก ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดจะทำให้ 8 สส. เขต พ้นจากตำแหน่ง ส่วน 17 สส.บัญชีรายชื่อ ต้องรอติดตามว่า จะมีการแก้เกมให้ลาออกจากตำแหน่งก่อน ป.ป.ช. จะชี้มูล เพื่อขยับรายชื่อในบัญชีขึ้นมาหรือไม่
ปิด“บ้านป่า”- ปิดฉากพปชร.
จำนวน สส.สายตรง “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เหลือเพียง 20 คน หลัง “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ก่อกบฏขน 20 สส. ย้ายไปสังกัดพรรคกล้าธรรม เพื่อเข้าร่วมรัฐบาล ส่งผลให้ “ลุงป้อม-พปชร.” จำใจอยู่ในสถานะพรรคฝ่ายค้าน
ว่ากันว่า สส. สายตรง “ลุงป้อม” อยู่เพื่อรอวันจาก ขอทดแทนบุญคุณ “นายป้อม” จนนาทีสุดท้าย เนื่องจากรู้ว่าทีมบ้านป่า-พรรคพลังประชารัฐ ยากที่จะเดินต่อทางการเมือง
จับตาปรับ ครม.หลังศึกซักฟอก
นอกจากในมิติของพรรคการเมืองแล้ว อีเวนต์สำคัญของศึกการเมือง หนีไม่พ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่า “พรรคประชาชน” จะยื่นซักฟอกรัฐบาลในช่วงต้นปี
ปมหลักที่น่าจะจับตาคือ ข้อพิพาท “เขากระโดง” ที่ดินของใคร เป็นศึกพรรคร่วมรัฐบาลระหว่าง “เพื่อไทย” ในฐานะกำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศ ห้ำหั่นกับ “ภูมิใจไทย” ในฐานะกำกับดูแลกรมที่ดิน
เมื่อเป็นศึกพรรคร่วมรัฐบาล แต่ “ขั้วฝ่ายค้าน” จ่อยื่นซักฟอก ต้องตามญัตติการซักฟอกจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจใคร ระหว่าง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกฯ รมว.คมนาคม กับ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ รมว.มหาดไทย เพราะไม่ว่าจะซักฟอกใคร เสียงที่จะยกมือไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ อยู่ในซีกเดียวกัน คงทำใจลำบาก
ดังนั้นหลังศึกซักฟอก การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี “แพทองธาร 2” ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน อยู่ที่ “นายใหญ่” จะเดินเกมอย่างไร
ทั้งหมดคือฉากทัศน์การเมืองปี 2568 ที่จะกลับมาร้อนแรง ต่างพรรคต่างต้องเชือดเฉือน หักเลี่ยมกัน เพื่ออนาคต และอำนาจการเมืองของตัวเอง