งัด 'ม.44' แก้ปัญหาการศึกษา-หนี้เกษตร
"คสช." เห็นชอบใช้ม.44 เพื่อแก้ปัญหาการศึกษา-หนี้เกษตร
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ที่ประชุม คสช. เห็นชอบในหลักการของคำสั่ง คสช. เรื่องแรก การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ สืบเนื่องจากที่ผ่านมา การจัดการศึกษาในภาคเอกชนของไทยยังมีปัญหาที่บางสาขาไม่สามารถเปิดได้ จึงจะชักชวนสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเติมเต็ม ในสาขาที่เราขาดแคลน
โดยสถาบันศึกษาฯที่จะเข้ามาต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และตามที่เราพิจารณาว่าเหมาะสม ส่วนเรื่องที่ 2 การพัฒนาการศึกษาของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระดับที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา เช่น อาชีวะ ในส่วนนี้เราจะมีมาตรการที่เข้มกว่าระดับอุดมศึกษาข้างต้น เพื่อจะได้ไม่เป็นคู่แข่งขันของสถาบันการศึกษาของเราเองในประเทศ
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 3 การดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งในส่วนนี้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกร ที่มีคณะกรรมการอยู่ 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟู คณะกรรมการบริหารกองทุน และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรดูแลอยู่ แต่จากการสำรวจเกษตรกรยังมีหนี้สินอยู่ถึง 15,000 ราย วงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในช่วงกำลังจะถูกบังคับคดี วันนี้ คสช.จึงเห็นชอบหลักการให้คณะกรรมการทั้ง 3 คณะจบภารกิจไป
และจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาใหม่ 1 คณะ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมให้ศึกษาจุดอ่อนของกฎหมายฉบับเดิมที่มีอยู่ เพื่อเสนอครม.ให้แก้ไขในคราวเดียวกัน โดยคณะกรรมการชุดนี้มีระยะเวลาในการปฏิบัติงานเบื้องต้น 6 เดือน และหากยังดำเนินงานไม่แล้วเสร็จ ก็สามารถขอขยายระยะปฏิบัติงานจากครม.ได้