ศาลฯตีตกข้อโต้แย้ง 'ธาริต' คดีรวยผิดปกติ
ศาลรธน.ไม่รับวินิจฉัย คำโต้แย้ง "ธาริต-เมีย" กระบวนการพิสูจน์ทรัพย์สิน 341 ล้านบาท ปมร่ำรวยผิดปกติ ระบุศาลแพ่งตัดสินแล้ว-ไม่เข้าหลักเกณฑ์ให้ศาลรธน.รับไว้พิจารณา
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ -25 ก.ค.62 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำสั่งศาล กรณีศาลแพ่งส่งคำโต้แย้งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ และนางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ปช.12/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ปช.1/2561 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 โดยกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากศาลแพ่ง มีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของนายธาริตและนางวรรษมล จำนวน 49 รายการ รวมมูลค่า 341,797,811.58 บาท พร้อมดอกผลของทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 83 แต่นายนายธาริตและนางวรรษมล ยื่นคำคัดค้านคำสั่งศาลแพ่งและโต้แย้งว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 80 ระบุว่า ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับในการดำเนินกระบวนพิจารณา จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 และมาตรา 84/1 มาใช้บังคับ โดยให้ฝ่ายกล่าวหาเป็นผู้พิสูจน์ความจริง ไม่ใช่ให้ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องพิสูจน์ว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กำหนด ศาลแพ่งจึงส่งคำโต้แย้งดังกล่าวเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 81 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดภาระการพิสูจน์ในคดีที่ร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งกรณีดังกล่าวศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้ง 2 ตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว และคดีอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ บทบัญญัติที่มีการโต้แย้งจึงไม่ใช่บทบัญญัติที่ศาลแพ่งจะใช้บังคับแก่คดี กรณีดังกล่าวจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย