'ศักดิ์สยาม' รวบ 'ราง-ถนน' ดึง 'ทอท.-กพท.' ดูเอง
แบ่งงานคมนาคม "ศักดิ์สยาม" คุมราง-ถนน-ทอท.-กพท. กินรวบ 13 หน่วยงาน "ถาวร" คุม 7 หน่วยงานด้านอากาศรวมการบินไทย ด้าน "อธิรัฐ" ดูแลทางน้ำ "เจ้าท่า-การท่าเรือ" เดินหน้ามอบนโยบาย ลั่นลดแน่ค่ารถไฟฟ้า ทางด่วน มอเตอร์เวย์
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่าได้แบ่งงานของหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคมให้รัฐมนตรีแต่ละคนดูแลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย ตนจะดูแล 13 หน่วยงานหลักด้านระบบราง และทางบก ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กรมการขนส่งทางบก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
กรมการขนส่งทางบก การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมการขนส่งทางราง รวมถึง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และบริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด(มหาชน)
ส่วน นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ จะดูแลหน่วยงานทางอากาศเป็นหลัก รวม 7 หน่วยงานคือ กรมท่าอากาศยาน บริษัทการบินไทยจำกัด(มหาชน) บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์เอเซีย จำกัด สถาบันการบินพลเรือน บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด และบริษัท โรงแรมท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิจำกัด
ด้าน นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมอีกคนหนึ่งนั้นได้ดูแล หน่วยงานทางน้ำ คือ กรมเจ้าท่าและการท่าเรือแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม และรัฐมนตรีช่วยยังได้ร่วมกันแถลงข่าวการมอบนโยบายผู้บริหารและหน่วยงานในสังกัด กระทรวงคมนาคม (วันที่30 ก.ค.62) โดยมีรายละเอียดว่า
1. นโยบายเร่งด่วน จะมีการแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผน เช่น โครงการปรับปรุงถนนพระราม 2 การแก้ไขปัญหามลภาวะ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะโดยบังคับใช้กม.อย่างเข้มงวด การปรับเวลารถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เข้าเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้สอดคล้องกับสภาพการจราจร กำหนดอัตราความเร็วถนน 4 ช่องทางจราจรขึ้นไป ให้ใช้อัตราความเร็วได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัวยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูล และนำเสนอแผนการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทั้ง 4 เรื่อง ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
2. สร้างทางเลือกใหม่ โดยการให้บริการรถรับจ้างโดยสารสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่น และกำหนดแนวทาง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถรับจ้างโดยสารสาธารณะ (TAXI) รูปแบบเดิม โดยมอบให้กรมการขนส่งทางบก ศึกษารูปแบบ การอนุญาตบริการรถรับจ้างโดยสารสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่นที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถ (TAXI) ให้มีการเพิ่มรายได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา และนำเสนอแผนงาน พร้อมแนวทางปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
3. การพัฒนาคุณภาพการบริการประชาชน โดยให้มีการจัดทำแผนการใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบ ศึกษา และจัดทำแผนแก้ปัญหาด่านเก็บเงินทางพิเศษ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) ให้รถสามารถผ่านด่านเก็บเงินได้อย่างรวดเร็ว ลดความแออัดของรถบริเวณหน้าด่าน
4. ลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน การพัฒนาการให้บริการรถโดยสารประจำทาง ขสมก. และรถร่วมโดยสารประจำทาง ให้เป็นรถโดยสารปรับอากาศทั้งระบบ และมีการจัดเก็บค่าโดยสารเป็นระบบ E–Ticket ระบบตั๋วร่วม นอกจากนี้ยังให้มีการศึกษาแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า ปรับลดค่าผ่านทางพิเศษทุกประเภท (ทางพิเศษ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โทลล์เวย์) ตั้งแต่ 5 – 10 บาท โดยไม่มีผลกระทบต่อสัญญา ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทาง พร้อมนำเสนอแผนงานแนวทางปฏิบัติ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
5. พัฒนาการคมนาคมขนส่งทางราง เช่นการพัฒนารถไฟทางคู่ เพิ่มการขนส่งระบบราง 30% ภายในเวลา 3 ปี เพื่อให้เป็นระบบโลจิสติกส์หลักในการขนส่งสินค้า การสนับสนุนภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน รวมถึงการ ศึกษา วิจัย และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากรางที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสามารถใช้ให้เกิดผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าสูงสุดในอนาคต เพื่อให้บริการประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ
6. พัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ให้เป็นการเดินทางและการขนส่งทางเลือกในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเชื่อมโยงกับการคมนาคมขนส่งระบบอื่น ๆ และการพัฒนาการขนส่งทางน้ำจากท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อลดปริมาณรถบรรทุกจากภาคใต้เข้าสู่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
7. พัฒนาการคมนาคมขนส่งทางอากาศ เพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และท่าอากาศยานภูมิภาค ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 150 ล้านคน รวมถึง สนับสนุนสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) ให้บริการประชาชนในภูมิภาคเพิ่มขึ้น และให้มีคุณภาพการให้บริการตามมาตรฐานสากล