“สมชัย” โชว์งบการเงิน 18 พรรคการเมือง กู้ยืมเงิน จี้เอาผิดนายทะเบียนพรรคการเมือง-กรรมการ กกต. ด้าน”ศรีสุวรรณ”จ่อร้องสอบเหมาเข่ง พรุ่งนี้ ขณะที่ กกต.ยังนิ่ง ไม่ชี้แจงปมเงินกู้
เมื่อวันที่ 14 ม.ค.63 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีเงินกู้ยืมของพรรคการเมือง ว่าไม่ได้มีเฉพาะพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น พร้อมเปิดรายชื่อ 18 พรรคการเมืองที่มีรายการหนี้สินเป็นการกู้ยืมเงิน โดยระบุว่า หากจะยึด พรป.พรรคการเมืองใหม่ แล้วบอกว่าพรรคการเมืองไม่สามารถกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมทางการเมืองได้ตามตรรกะการลงมติของ กกต.ชุดปัจจุบัน
พรรคไหนกู้ ถือว่าผิด กม.ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ต้องตัดสิทธิการเมือง ต้องโทษอาญาจำคุก
จะกู้ 1,000 บาท 1 ล้าน หรือ กู้ 100 ล้าน แปลว่า กู้เหมือนกัน เหมือนลอกข้อสอบจะข้อเดียวหรือสิบข้อ จับได้ก็ต้องปรับตกไม่มีข้อยกเว้น
นายสมชัย ระบุด้วยว่า นอกจากพรรคอนาคตใหม่ยังมีพรรคการเมืองอื่นกู้ยืมเงินอีกหรือไม่ จากเอกสารงบการเงิน ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ที่พรรคการเมืองทุกพรรคนำส่ง กกต. ภายในเดือน พฤษภาคม 2562 มีพรรคการเมืองถึง18 พรรค (รวม อนาคตใหม่) ที่ปรากฏรายการเงินกู้ในเอกสารงบการเงินดังกล่าว
1. พรรคพลังศรัทธา มีรายการเงินกู้ระยะสั้น 300,000 บาท
2. พรรคพลังชาติไทย เงินกู้ระยะสั้น 113,988 บาท
3. พรรคไทยธรรม เงินกู้จากหัวหน้าพรรค 1,000 บาท
4. พรรครวมพลังประชาชาติไทย เงินกู้จากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกัน 5,000,000 บาท
5. พรรครวมใจไทย เงินกู้ยืมระยะสั้น 45,697.86 บาท
6. พรรคอนาคตใหม่ เงินกู้จากหัวหน้าพรรค 161,200,000 บาท
7. พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย เงินกู้ยืมระยะสั้น 226,000 บาท
8. พรรคพลังไทยรักชาติ เงินกู้ยืมหัวหน้าพรรค 85,000 บาท
9. พรรคเมืองไทยของเรา เงินกู้ยืมระยะสั้น 542,750 บาท
10. พรรคเพื่อชีวิตใหม่ เงินกู้ยืมระยะยาว 50,000 บาท
11. พรรคเงินเดือนประชาชน เงินกู้ยืมจากกรรมการ 822,183.70 บาท
12. พรรคไทรักธรรม เงินกู้ยืม กรรมการบริหารพรรค 4,376,000 บาท
13. พรรคพลังประชาธิปไตย เงินยืมจากหัวหน้าพรรค 5,584,290 บาท
14. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน เงินกู้ยืม 542,125 บาท
15. พรรคพลังท้องถิ่นไท เงินกู้ยืมระยะสั้น 1,427,000 บาท
16. พรรคไทยรักษาชาติ เงินยืมจากหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค 1,738,868.92 บาท
17. พรรคประชาธิปไตยใหม่ เงินกู้ยืมระยะสั้น 4,216,600 บาท
18. พรรคชาติพัฒนา เงินกู้ยืม 2,000,000 บาท
ทั้งหมดนี้ ถือเป็น "ความปรากฏ" ที่นายทะเบียนต้องรับรู้ และหากพบว่าเป็นความผิดต้องชงเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อมีมติดำเนินการ ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ที่มีพรรคการเมืองอย่างน้อย 4 พรรค กู้เงิน "ปรากฏ"ในเอกสารงบการเงินปี 2556 และเหตุการณ์ที่มีพรรคอีก 17 พรรค "ปรากฏ"ในเอกสารงบการเงินปี 2561 นั้น มีนายทะเบียนพรรคการเมืองคนละคน หากการกู้ทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นความผิด และมีการปล่อยปละละเลย นายทะเบียนต้องรับผิดชอบเป็นอันดับแรก และกรรมการการเลือกตั้งอาจต้องร่วมรับผิดในฐานะไม่กำกับดูแลงานให้เป็นไปอย่างถูกต้องด้วยกฎหมาย
นายสมชัย ระบุต่อไปว่า แต่หากบอกว่า ไม่ผิด กรณีชงเรื่อง เงินกู้อนาคตใหม่ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันมิชอบของนายทะเบียนพรรคการเมือง และ กกต. 5 ใน 7 ที่ลงมติส่งฟ้องยุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญ คงต้องรับผิดชอบต่อมติที่ลงด้วย. หมายเหตุ ปี 2557 นายทะเบียนพรรคการเมือง ชื่อ ศุภชัย สมเจริญ ปัจจุบันเป็น รองประธานวุฒิสภา ปี 2562 นายทะเบียนชื่อ จรุงวิทย์ ภุมมา ปัจจุบันเป็นเลขาธิการ กกต. และสำรองสมาชิกวุฒิสภาอันดับที่ 8
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ในวันที่ 15 ม.ค.เวลา 10.00 น. จะเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ตรวจสอบการกู้ยืมเงินของ 17 พรรคการเมือง ขณะที่ตลอดทั้งวันนี้ สำนักงาน กกต.ยังไม่มีการชี้แจงใดๆ เกี่ยวกับข้อมูลการกู้ยืมเงินของ 17 พรรคการเมืองที่นายสมชัยนข้อมูลออกมาเผยแพร่