คนเดือนร้อนมาก กับงบฯที่จำกัด
วิกฤติการณ์โควิด-19 สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งงบประมาณที่รัฐบาลจะนำมาดูแลเพื่อประคับประคองไม่ให้แต่ละกลุ่มเดือนร้อนนั้น ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และจำเป็นต้องบูรณาการจากทุกภาคส่วน
ชัดเจนว่า วิกฤติการณ์โควิด ครั้งนี้มีผู้เดือนร้อนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น ภาครัฐเองในฐานะที่ต้องดูแลเพื่อประคับประคองไม่ให้แต่ละกลุ่มเดือนร้อนนั้น ย่อมต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เพราะความเสียหายครั้งนี้รุนแรงและขยายเป็นวงกว้าง และต้องบอกว่าประเทศไทยยังไม่เคยเจออะไรที่คาดว่าจะเสียหายมากเท่าขนาดนี้ ดังนั้นเมื่อต้องพูดถึงการเยียวยา ฟื้นฟู ต้องใช้งบประมาณมหาศาล
ดังนั้นงบประมาณมาจากส่วนใดส่วนหนึ่ง คงไม่สามารถจัดการปัญหายิ่งใหญ่ครั้งนี้ได้ จำเป็นต้องบูรณาการจากทุกภาคส่วน จำเป็นต้องรื้อโครงสร้างงบประมาณและวิธีคิดเสียใหม่ สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ก็คงทำได้แค่โอนได้มาบางส่วน เพราะหลายอย่างถูกผูกพันไว้ก่อนและพิจารณามาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การโอนงบประมาณ พ.ศ... วงเงิน 100,395 ล้านบาท เป็นงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 2563 เพื่อเป็นงบประมาณเพิ่มเติมที่รัฐบาลจะใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และกรณีฉุกเฉินจำเป็นอื่นๆ เช่น ภัยแล้ง และอุทกภัย
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ามาตรการเยียวยาจากภาครัฐเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 1.35 แสนล้านบาท เป็น 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งเงินในส่วนนี้จะใช้จ่ายงบประมาณฯจากทั้งเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท รวมทั้งใช้เงินจากการโอนงบประมาณ 2563
เนื่องจากล่าสุด กระทรวงการคลังเสนอให้ขยายจำนวนผู้รับเงินชดเชยเยียวยาจากรัฐบาลเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 จาก 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน เนื่องจากพิจารณาจากจำนวนของผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มาลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีการตรวจสอบสิทธิตามที่ได้มีการอุทธรณ์เข้ามาพบว่ามีจำนวนที่เพิ่มกว่าเป้าหมายเดิมอย่างมาก
จึงขอขยายจำนวนคงที่เข้าโครงการซึ่งจะได้รับเงิน ซึ่งหากประเมินจากความเดือนร้อน ยังมีอีกหลายภาคส่วน ไม่เฉพาะอาชีพอิสระที่กระทบจากโควิด ยังมีอีกหลายส่วน และบางกลุ่ม รัฐยังเข้าไปไม่ถึง จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร เพราะวันนี้มีทั้งคนว่างงานชั่วคราว ถูกลดเงินเดือน และเลิกจ้าง ที่สำคัญสถานการณ์วันนี้ เพิ่งจะเริ่มต้นด้วยซ้ำ และจากการสำรวจของเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” พบว่าคนส่วนใหญ่เชื่อว่าเงินเยียวยา 3 เดือน เดือนละ 5,000 บาท ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยอีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤติที่ยังไม่รู้จุดจบแน่ชัด จากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในเกือบทุกสาขาธุรกิจ โดยมีความรุนแรงเป็นพิเศษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว วิกฤติดังกล่าวเป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงาน ซึ่งมีสัญญาณความอ่อนแอมาตั้งแต่ในช่วงก่อนหน้า โดยกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงสูงคือ กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้าง เอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นคนส่วนมากถึง 62% ของกำลังแรงงานไทย และมีความอ่อนไหวสูงต่อสภาวะเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ประเมินว่าจำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3-5 ล้านคน ถือเป็นระดับที่สูงกว่าทุกวิกฤติการณ์ในอดีตของไทย ทั้งนี้เพราะผลกระทบครั้งนี้กินวงกว้างกว่าและมีการหยุดชะงักฉับพลันของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเกษตรอาจไม่สามารถทำหน้าที่ดูดซับคนตกงานจากภาคอื่นๆ ได้เหมือนในอดีตจากปัญหาภัยแล้ง และแรงงานอีกจำนวนมากที่แม้จะไม่ตกงาน แต่จำนวนชั่วโมงทำงานและรายได้จะลดลงอย่างมาก และครัวเรือนไทยประมาณ 60% มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายเกิน 3 เดือน