'รัฐบาล' อยู่หรือไป? ประเมินหาก 'โควิด' เสี่ยงปะทุรอบ 2
"ต้องดูว่าในอีกเดือน สองเดือนข้างหน้า ตัวเลขคนตกงานพุ่งสูงหรือไม่ เพราะเป็นตัวเลขที่กระทบเสถียรภาพประเทศและรัฐบาล ในช่วงการผ่อนคลาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในระยะที่สอง หากคุมการปะทุและผลักดันการฟี้นฟูระดับฐานรากได้ สถานการณ์ของรัฐบาลไม่น่าจะเลวร้ายมากนัก"
การตัดสินใจคลายกฎเหล็ก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของ ครม. หวังขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก ให้สามารถเดินหน้าต่อได้ เพื่อให้ “คนตกงาน” ทั้งในระบบ นอกระบบ และแรงงานที่ไม่ปรากฎฐานข้อมูล ได้กลับไปค้าขาย ให้บริการ รวมทั้งเดินทางข้ามจังหวัดได้
แต่เมื่อ ‘โควิด-19’ ยังวนเวียนอยู่รอบตัวทุกคน มาตรการที่ยังคงเอาไว้ จะสามารถควบคุมการระบาดรอบใหม่นี้ ได้แค่ไหน ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่อยู่ระหว่างระดมทีม “ฟื้นฟูประเทศ” และไอเดีย เพื่อป้องกัน แก้ปัญหา ไม่ให้ยอดผู้ว่างงานทะยานเพิ่มสูงขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งอาจกลายเป็นที่มาของการเกิดจลาจล ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ารัฐบาล จะอยู่หรือไป
เดือนพฤษภาคมนี้ ต้องลุ้นกันว่า สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะกลับมาปะทุรอบใหม่หรือไม่ หากรัฐบาล ตัดสินใจพลาด แน่นอนว่า กระแสจะตีกลับทันที ซึ่งไม่เฉพาะกระแสสังคม แต่ยังจะลามไปถึงการเมืองด้วย
โดยประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาล “รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร” ฉายภาพในมุม “เสถียรภาพ” ของรัฐบาล ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ไว้อย่างน่าคิดว่า
“คำถามที่ว่า รัฐบาลจะอยู่รอดหรือไม่ ก็ต้องตัดสินกันในการแพร่ระบาดระลอกสอง และการฟื้นฟู เยียวยา จะเกิดขึ้นในระลอกสาม”
เพราะถึงแม้ไทยจะคุมอยู่ เพราะภาพรวมการติดเชื้อ ลดระดับลงมาเรื่อยๆ จนเหลือเลขตัวเดียว แต่หลังจากการคลายล็อค ก็ต้องรอดูการระบาดระลอกใหม่ ว่าจะมี “รอบสอง” หรือไม่ ขณะที่ไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน
“ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลทางการเมือง และความอยู่รอดของรัฐบาล ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะเข้ามาในช่วงระลอกสาม เพราะระลอกหนึ่งและสอง เป็นผลกระทบที่มาจากการแพร่ระบาดของไวรัส แต่ในระลอกที่สาม เป็นผลกระทบที่มาจากการปิดประเทศ และเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ตอนนี้รัฐบาลกำลังระดม หาทางฟื้นฟู และเริ่มผ่อนคลายในบางเรื่อง เพื่อให้สามารถเดินไปได้”
"ดังนั้นจึง ต้องดูว่าในอีกเดือน สองเดือนข้างหน้า ตัวเลขคนตกงานพุ่งสูงหรือไม่ เพราะเป็นตัวเลขที่กระทบเสถียรภาพของประเทศและรัฐบาล ในช่วงที่มีการผ่อนคลาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในระยะที่สอง หากคุมการปะทุและผลักดันการฟี้นฟูระดับฐานรากได้ สถานการณ์ของรัฐบาลไม่น่าจะเลวร้ายมากนัก"
โดยมีการคาดการณ์เบื้องต้นว่า สถานการณ์ของไทย “จะฟื้นตัวภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี”
แต่เอาเข้าจริง ก็ต้องดูกันวันต่อวัน ว่าที่สุดแล้วสถานการณ์โควิดจะลากยาวไปถึงไหน อาจารย์ปณิธานประเมินว่า "ระหว่างนั้น รัฐบาลอาจถูกตัดสินในระยะกลางได้ เพราะภารกิจที่มาพร้อมกับปัญหา ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้ง การเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบทำได้ทั่วถึงหรือไม่ จะมีทุจริตคอร์รัปชัน เม็ดเงินรั่วไหลหรือไม่ เรื่องพวกนี้จะเป็นจุดตัดสินทางการเมืองของรัฐบาล”
ก่อนหน้านี้ อาจารย์ปณิธานเคยประเมินอายุรัฐบาลชุดนี้ไว้ว่า ถ้าผ่าน 2 ปีไปได้ ก็ถือว่าเก่งแล้ว มาถึงจุดนี้ ก็ยังมองว่า รัฐบาลยังไปต่อได้ “ยกเว้นว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะรวนกันเอง”
จุดพลิกสำคัญคือ การตัดสินใจถอยทัพนักการเมืองออกมา แล้วเอาทัพข้าราชการส่วนกลางเข้ามาทำงาน ทำให้ประชาชนรู้สึกดี และยังไม่ถึงขั้นหงุดหงิดมาก
"ช่วงต่อจากนี้ ต้องดึงทัพนักการเมืองลงไปในพื้นที่อีกครั้ง เพื่อดูแลเรื่องเยียวยา ถ้าเขาไม่แตกกัน ก็อยู่กันได้ แค่ถ้าแตกกันจะยุ่ง เพราะในช่วงแรก ดูเหมือนจะไปคนละทิศคนละทาง แต่พอมีวิกฤตไวรัสโควิดขึ้นมาก็ทำให้ปรับระบบ นายกรัฐมนตรีดึงระบบข้าราชการมาช่วยทำให้เข้มแข็งขึ้นมา ก็ไม่ได้ขัดแย้งกันทางการเมืองภายใน"
"แต่เรื่องการเมือง การเยียวยาและฟื้นฟูเป็นจุดสำคัญ ที่รัฐบาลต้องบริหารให้ได้ว่า ใครได้หรือไม่ได้นักการเมืองกลุ่มไหนทำอะไร มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ เป็นจุดผกผันอีกจุดหนึ่ง"
นี่เป็นการประเมินชะตารัฐบาล ของประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาล ที่ไม่อาจมองข้ามได้
ขณะที่อีกด้านหนึ่งของ “การเมือง” ที่กำลังเป็นปัญหาซ้อนทับเข้ามาในวิกฤติโควิด โดยนายกรัฐมนตรี กำลังถูกลากเข้าไปเกี่ยว
ศึกในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แกนนำรัฐบาล ที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี “พี่ใหญ่” อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เสาหลักของพรรค ที่กำลังถูกนักการเมืองเชิดขึ้นมาเป็นผู้นำอย่างเป็นทางการ
เป็นที่รับรู้กันภายในพรรคร่วมรัฐบาลว่า จังหวะการปรับ ครม.รอบแรก จะมีการประเมินผลงานในระยะ 6 เดือนถึง 1 ปี และทำท่าจะมีการเขย่าเก้าอี้กันหลังศึกซักฟอกของฝ่ายค้านที่ผ่านมา
"ช่วงแรกก่อนเกิดการระบาดโควิด ก็จะปรับ จะเขย่าใหม่ เพราะเศรษฐกิจสะดุด เดินช้า ปั่นป่วน แต่พอมีสงครามไวรัส ต้องระดมกำลังไปสู้ โดยไม่มีการเปลี่ยนม้าศึกกลางสนามรบ แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่การผ่อนคลายเยียวยา อาจจะต้องมีการปรับทัพกันอีก" ข้อมูลบางส่วนที่อาจารย์ปณิธาน บอกเล่าถึงไทม์ไลน์การเขย่า ครม.
ขณะที่นักเลือกตั้ง นักการเมืองอาชีพ กลับรีบร้อนที่จะเดินหน้าตามไทม์ไลน์การเมือง ที่่มีข้อตกลง ในการผลัดเปลี่ยนเวียนเก้าอี้รัฐมนตรี
หากยังดันทุรังเดินเกมอย่างไม่สนปัญหาชาติบ้านเมือง “ชะตา”รัฐบาล จะอยู่หรือไป อาจไม่ใช่เพราะ“โควิด“รอบไหนๆ แต่ ”เกมบีบปรับ ครม.รอบแรก” นี่แหละ ที่อาจพังรัฐบาลก่อน!