'อรรถวิชช์' ชี้แผนอุ้มการบินไทยต้องชัดเจน ต้องกล้าเข้าฟื้นฟูกิจการ

'อรรถวิชช์' ชี้แผนอุ้มการบินไทยต้องชัดเจน ต้องกล้าเข้าฟื้นฟูกิจการ

เลขาธิการพรรคกล้า ระบุ แผนอุ้มการบินไทยต้องชัดเจน ต้องกล้าเข้าฟื้นฟูกิจการ ตาม "พ.ร.บ.ล้มละลาย" ไม่งั้นสำเร็จยาก

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 63 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี  ถึงกรณีที่รัฐบาลออกแผนมาตรการฟื้นฟูกิจการ การบินไทย โดยเนื้อระบุว่า...

แผนอุ้มการบินไทยต้องชัดเจน ต้องกล้าเข้าฟื้นฟูกิจการ ตาม “พ.ร.บ.ล้มละลาย” ไม่งั้นสำเร็จยาก

ผมรักการบินไทย และยังจำได้ว่าขากลับจากเรียนหนังสือที่สหรัฐ แค่นั่งในเครื่อง TG ก็รู้สึกอบอุ่นเหมือนได้กลับถึงบ้านแล้ว ทั้งที่เครื่องยังไม่ทันขึ้นจากสนามบินในลอสแอนเจอลีสด้วยซ้ำไป ผมขอใช้สิทธิปกป้องสายการบินแห่งชาติ และประโยชน์ของรัฐไปพร้อมๆ กัน

ผมเห็นว่าการอุ้มการบินไทยต้องมีแผนฟื้นฟูกิจการที่ชัดเจน ผูกพันตามกฎหมายล้มละลาย ส่งสัญญาณเป็นการผ่าตัดใหญ่ ให้เจ้าหนี้และคู่ค้าตื่นตัว รวมถึงเป็นการสร้างความชอบธรรมที่จะชะลอการซื้อฝูงบินใหม่ 38 ลำ มูลค่า 1.5 แสนล้าน จากบริษัทโบอิ้ง สหรัฐอเมริกา

158925993214

การทำแผนฟื้นฟู ตาม “พ.ร.บ.ล้มละลาย” จะทำให้เกิดผลทางกฎหมาย คือ Automatic stay ภาษาบ้านๆ คือ จะมาตัดนำ้ตัดไฟไม่ได้ ธุรกิจเดินต่อได้ เจ้าหนี้ต้องมาดูแผนฟื้นฟูร่วมกัน ยอมลดหนี้ ประหนึ่งมาช่วยทำให้ธุรกิจเดินต่อได้ ไม่งั้นอดได้หนี้คืน เพราะถ้าเจ้าหนี้จะไม่ให้ทำธุรกิจต่อ หรือไม่อนุมัติแผนฟื้นฟูแล้ว เจ้าหนี้จะต้องไปรอการชำระบัญชี รอขายซากของธุรกิจที่ไม่คุ้มค่า

รัฐบาล การบินไทย สหภาพ เจ้าหนี้ต่างๆ ทุกฝ่ายต้องตัดสินใจ และมาช่วยกันทำ “แผนฟื้นฟูกิจการอย่างเป็นทางการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย” ไม่ใช่แค่แผนการปรับปรุงภายในองค์กรแต่เรียกชื่อว่า แผนฟื้นฟูกิจการ แบบที่เอาไปผ่าน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มานั้น น้ำหนักมันน้อยไป ไม่พอจะกระตุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องครับ

การที่รัฐจะช่วย 5 หมื่นล้านคราวนี้ มันได้แค่เอาเครื่องขึ้นกลับไปบินเหมือนก่อนวิกฤตโควิดเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้หลุดพ้นจากสภาพร่อแร่จากเดิม ถ้าไม่มีกลไกทางกฎหมายบีบให้เจ้าหนี้และทุกฝ่าย มาทำแผนฟื้นฟูภายใต้กฎหมายล้มละลายแล้ว ใส่เงินใหม่ลงไปในกิจการอีกแสนล้าน ก็ยังไม่พอกับสถานการณ์ปัจจุบัน

การทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย เป็นการส่งสัญญาณถึงสหรัฐอเมริกาด้วยว่า การรับมอบฝูงเครื่องบินโบว์อิ้งนั้นทำไม่ได้ เพราะการบินไทยอาการหนักจริง หมดเวลาเกรงใจสหรัฐแล้ว ! เพราะ 25 เมษายน 2563 ที่ผ่านมาคำสั่งประธานาธิบดีโดนัล ทรัมส์ มีผลเป็นการตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร GSP ทำให้สินค้าของไทยต้องเจอกับกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐ การสหรัฐที่ตัดสินใจกีดกันทางการค้าเพราะขาดดุลทางการค้าอย่างหนักกับไทย ไทยเองก็น่าจะใช้สิทธิ์ไม่รับเครื่องบินโบว์อิ้งเพราะการบินไทยก็ขาดทุนอย่างหนักหน่วงเช่นเดียวกัน เล่นกันแฟร์แฟร์ ไปเลย

ผมขอให้การบินไทยมีแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย แบบชัดเจน จะทำให้การบินไทยมีอำนาจการต่อรอง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตื่นรู้ และทำให้เงินใหม่ที่ลงไปคุ้มค่า...ต้องใช้ความกล้าผ่าตัดใหญ่ให้รอด อย่าใช้ความกลัวเลี้ยงไข้รอวันตาย.

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี
ผู้ก่อตั้งพรรคกล้า