'เฉลิมชัย' ตอบแล้ว 6 ข้อที่ประชาชนสงสัย 'เยียวยาเกษตรกร'
"เฉลิมชัย" ตอบทุกคำถาม "เยียวยาเกษตรกร" ข้าราชการ-ผู้ประกันตน ม.33 ทำไม่ไม่ได้สิทธิ์นี้
เพจเฟซบุ๊กของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยแพร่คลิปการตอบคำถามในประเด็นเกี่ยวกับมาตรการ "เยียวยาเกษตรกร" ในประเด็นที่ประชาชนยังมีข้อสงสัย 6 ประเด็น ดังนี้
1.หลักเกณฑ์การพิจารณาการได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร
- เรามีการสำรวจทะเบียนเกษตรกรจากหน่วยงานต่างๆ นำเสนอ คณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินกู้ และนำเสนอต่อ ครม. ให้พิจารณาอนุมัตินำเงินมาเยียวยาเกษตรกร เบื้องต้นมีการสำรวจทะเบียนเกษตรกร ที่ ครม. อนุมัติไปเมื่อ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นจำนวน 10 ล้านราย ทางครม.ได้มอบให้กระทรวงเกษตรฯ จัดทำทะเบียนเพื่อส่งมอบให้กับ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ กระทรวงการคลังทำการพิจารณาจ่ายเงินเดือนละ 5 พันบาท 3 เดือน การเยียวยาครั้งนี้ เป้าหมาย ต้องการให้พี่น้องประชาชนได้ก้าวพ้นจากความยากลำบากในช่วงโควิด ต้องการช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ขาดรายได้จริงๆ สำหรับคนที่มีรายได้ประจำ คนที่ทำงานอยู่และสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ ก็ต้องถือว่า ท่านอยู่ในกลุ่มไม่ได้รับผลกระทบมาก จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมาว่า จะจ่ายให้ใครบ้าง
2.การดำเนินโครงการหรือขั้นตอนการขอรับสิทธิ
- การใช้เงินตรงนี้เป็นเงินภาษีจากพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้น การใช้เงินทุกบาททุกสตางค์จะต้องโปร่งใส ถูกต้องตามระเบียบราชการ เราได้รวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนโดยถูกต้อง เบื้องต้นที่เสนอไป 10 ล้านราย แต่เมื่อตรวจความซ้ำซ้อน รวมถึงเกษตรกรที่มีตัวตนอยู่จริง ก็ดำเนินการส่งไปให้คณะกรรมการฯ พิจารณา จำนวน 8.33 ล้านราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค.63
ขณะเดียวกัน เราก็มาตรวจสอบความซ้ำซ้อนอีกรอบหนึ่ง ยึดตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯ ตั้งขึ้นมา โดยในส่วนของเกษตรกรที่อยู่ใน "พรบ.ประกันสังคม ตามมาตรา 33" กรณี "ข้าราชการบำนาญ" และผู้ที่ได้รับการเยียวยาจากเราไม่ทิ้งกันไปแล้ว ตรวจสอบแล้วก็ตัดสิทธิตรงนี้ไปอีกประมาณ 5 แสนราย
ดังนั้นเหลือตัวเลขที่จะส่งไปให้กระทรวงการคลังประมาณ 7.8 ล้านราย ในจำนวนนี้ กระทรวงการคลังได้อนุมัติมาแล้ว 6.85 ล้าน เหลืออีกประมาณ 9 แสน ถึง1 ล้านราย ที่มีเอกสารไม่ครบถ้วน ถูกต้อง รอให้เข้ามาแก้ไข 2 แสนราย ก็ได้ดำเนินการส่งให้กับกระทรวงการคลัง ส่วนอีก 7 แสนรายอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ ซึ่งใน 7 แสนรายนี้ ก็รวมเกษตรกรที่เป็นข้าราชการด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะเป็นคนวินิจฉัยคนที่จะมีสิทธิได้รับเงินจากมาตรการเยียวยาตรงนี้ ซึ่งเมื่อคณะกรรมการอนุมัติมาเรา ก็จะส่งรายชื่อให้ ธ.ก.ส. เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีตรงไปยังผู้รับการเยียวยาท่านนั้นเลย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเงินจะไม่ผ่านมือเราเลย สามารถตรวจสอบได้
3.จำนวนเกษตรกรที่ได้รับเงินเยียวยาในแต่รอบซึ่งมีทั้งหมด 3 รอบ
- ในการขึ้นทะเบียน เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนก่อนวันที่ 30 เม.ย. เราได้ส่งชื่อไปประมาณ 7.8 ล้านราย จาก 8.3 ล้านราย แต่เราเชื่อว่า ยังมีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากที่อาจจะยังไม่ทราบ หรือถูกตัดสิทธิ์ว่า ไม่ได้เป็นเกษตรกรแล้ว เนื่องจากไม่ได้มายืนยันสิทธิ์ภายใน 3 ปี ไม่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานแต่ละหน่วยงาน เราจึงได้เปิดให้มีการขึ้นบัญชีเษตรกรขึ้นใหม่อีกรอบ เมื่อวันที่ 1-15 พ.ค. จากนั้นก็ปิดโครงการ
ส่งผลให้มียอดเกษตรกรที่มายื่นทบทวนสิทธิ์ และที่มายื่นจดทะเบียนใหม่ อีกประมาณล้านรายเศษๆ ซึ่งเป็นกรณีของเกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบถ้วนอยู่แล้ว สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ 9 แสนราย และมีเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นเกษตรกรจริง แต่ยังไม่ได้เพาะปลูกในฤดูกาลนี้ เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ก็ได้มีการรักษาสิทธิ์แก่เกษตรกรกลุ่มนี้ ให้มาลงทะเบียนไว้ก่อน ภายใน 15 พ.ค. แต่การรับรองสิทธิ์ จะยืดไปจนถึง 15 ก.ค. เพื่อให้ทำการเพาะปลูกแล้วไปแจ้งหน่วยงานที่สังกัด โดยกลุ่มนี้มีอีกประมาณแสนเศษนี้ จะได้รับเงินเยียวยาครั้งเดียว คือ 15,000 บาทเกษตรกรที่เข้าโครงการเยียวยาทั้งหมด ทุกท่านจะได้รับเงินเยียวยา 15,000 บาทเท่ากันทั้งหมด เพียงแต่ระยะเวลาจะทอดยาวไปบ้าง
4. การยื่นอุทธรณ์สิทธิ์มีวิธีการขั้นตอนอย่างไร และยื่นได้ที่ไหนบ้าง
- เราเปิดให้พี่น้องเกษตรกรสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ เช่น
กลุ่มแรก ที่ลงทะเบียนก่อน 30 เม.ย. แล้วถูกตัดสิทธิ์ไป ก็สามารถมายื่นอุทธรณ์ได้ในหน่วยงานทั้ง 8 หน่วยงานมายื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 15 พ.ค. - 5 มิ.ย. หรือเข้าไปตรวจสอบได้ที่ www.moac.go.th
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ขึ้นทะเบียนระหว่าง 1-15 พ.ค. เมื่อเรารวบรวมหลักฐานเสร็จทั้งหมด ท่านที่โดนตัดสิทธิ์ ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ โดยเรากำหนดเวลาการยื่นอุทธรณ์ชุดที่สอง คือ 31 พ.ค. - 5 มิ.ย.63
5.ทำไมผู้ที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 และข้าราชการบำนาญถึงไม่ได้รับสิทธิ์นี้
- วัตถุประสงค์ของการเยียวยาครั้งนี้ ตั้งใจช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเมื่อการดำเนินการเยียวยาจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ว่า บุคคลกลุ่มใดจะได้รับหรือไม่สามารถรับสิทธิ์ในโครงการนี้ได้ คือ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ก็ได้ออกหลักเกณฑ์มานำเสนอครม.
หนึ่งในหลักเกณฑ์นั้น คือ เกษตรกรที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 33 ถ้าถูกพักงาน หรือถูกเลิกจ้าง สำนักประกันสังคม จะเข้าไปได้ดูแลอยู่แล้ว โดยจะได้รับเงินมากกว่า 5 พันบาทต่อเดือน เพราะฉะนั้นเมื่อมีหน่วยงานของรัฐดูแลอยู่แล้ว โครงการนี้ จึงไม่ได้ให้สิทธิ์ของแรงงานภาคเกษตรที่อยู่ใต้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ม.33
และกรณีนี้เช่นเดียวกันกับ “ข้าราชการบำนาญ” ที่คณะกรรมการฯกำหนดไว้ว่า ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยานี้
เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นคนคิดว่า ใครจะได้ หรือ ไม่ได้ แต่เราเป็นคนรวบรวมบัญชีเกษตรกร
6. ข้าราชการที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรแท้จริงแล้วอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับสิทธิ์หรือไม่
- หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ออกมา บังเอิญว่า ไม่มีคำว่า ข้าราชการอยู่ในนั้น แต่จริงๆ ข้าราชการก็คือคนที่ได้รับการดูแลจากรัฐบาล ได้รับเงินเดือนอยู่ แต่บังเอิญไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า อยู่ในกลุ่มได้ หรือ ไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า ข้าราชการกลุ่มนี้ ไม่ได้เพิ่งมาขึ้นทะเบียนตอนนี้ แต่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ประกอบอาชีพเกษตรกรมาตั้งแต่ต้น และได้รับการดูแลจากรัฐในส่วนของภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ แต่เนื่องจากในกรณีนี้ เมื่อไม่ได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขหลักเกณฑ์ เราก็นำเสนอบัญชีรายชื่อไปให้คณะกรรมการ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ที่มีอำนาจในการวินิจฉัยว่า จะให้หรือไม่ให้
ซึ่งไม่ว่าคณะกรรมการฯจะวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ ให้หรือไม่ให้ กระทรวงเกษตรฯ ก็พร้อมดำเนินการ
แต่ความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่า ข้าราชการได้รับการดูแลจากภาครัฐอยู่แล้ว มีเงินเดือนอยู่แล้ว ไม่ได้ตกงาน ก็อาจจะอยู่ในกรณีที่รัฐดูแลอยู่แล้วก็ได้ แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ขอให้รอการตัดสินของคณะกรรการดีกว่า