'สะเดาะกุญแจ' ม.256 ปูทางแก้รัฐธรรมนูญ

'สะเดาะกุญแจ' ม.256 ปูทางแก้รัฐธรรมนูญ

“สัญญาณ” แก้รัฐธรรมนูญ ณ เวลานี้เริ่มเห็นสัญญาณที่ใกล้ความจริงเข้ามาทุกขณะ  เห็นได้ชัดจากท่าทีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมล่าสุดที่ออกมาสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว ที่น่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ในการประชุมรัฐสภาในสมัยหน้า

 

 

 อย่างที่รู้กันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถูกออกแบบมาให้สามารถแก้ไขได้ยาก แม้กระทั่งปรมาจารย์ อย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะผู้คุมทีมยกร่าง ยังเอ่ยปากในว่า ต่อให้ฉีกแล้วไปร่างใหม่70 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องลอกจากรัฐธรรมนูญ 2560เพราะมันเป็นแพทเทิร์นของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นการที่จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้คงอยู่ที่การ “สะเดาะกุญแจ ดอกแรก นั่นคือ บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา256 ซึ่งถูกออกแบบไวแบบ “ซับซ้อนซ่อนเงื่อน 

ทั้งการใช้เสียงสนับสนุนจากส.ส.และส.ว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้ง2สภา คือ375 เสียงจาก750เสียง และในจำนวนนี้ต้องใช้เสียงส.ว. ไม่น้อยกว่า1ใน3หรือ84เสียง

นอกจากนี้ในขั้นตอนการให้ความเห็นชอบในวาระสามจะต้องมีส.ส.จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน

 

ไม่เพียงแค่นั้น ในมาตราเดียวกัน ยังมีอีก1ด่านซูเปอร์ล็อก นั่นคือ ขั้นตอนก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ที่ให้สิทธิส.ส.หรือ ส.ว.หรือทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภาหรือทั้งสองสภารวมกันเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่

ทว่า หากอ่านบทบัญญัติข้างต้นอย่างละเอียดจะเห็นได้ชัดว่า การที่จะสะเดาะกุญแจดอกนี้ได้ ยังมีอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญนั่นคือ เสียงจากสภาสูงคือส.ว. ซึ่งเวลานี้มีเสียงเร่งเร้าทางถามถึงความจริงใจ” ต่อการแก้ไขในครั้งนี้ว่ามีมากน้อยเพียงใด 

ข้อนี้มีความเห็นมาจาก อุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกกรธ. ที่เสนอ2ทางออกนั่นคือ 1.ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)เพื่อยกร่างใหม่หมด ซึ่งต้องแก้มาตรา 256 และทำประชามติ กับ หรือ2. การแก้รายมาตรา รายประเด็นที่ไม่จำเป็นต้องแก้มาตรา 256 แต่ใช้วิธีหารือกับ ส.ว. เพื่อกำหนดประเด็นแก้ไขให้เห็นพ้องต้องกัน

ปัญหาคือ เวลานี้ ซีกการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ดูเหมือนจะมีธงในประเด็น อำนาจส.ว. ซึ่งพวกเขามองว่า เป็นจุดสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยาก ดังนั้นหากเริ่มต้นด้วยการแก้ไขในมาตราดังกล่าวที่มีส่งผลให้อำนาจของส.ว.ตามที่ระบุไว้ลดลงตามไปด้วย คำถามที่ตามมาคือ ส.ว.จะเอาด้วยหรือไม่

แม้จะรู้ดีอยู่แล้วว่า การจะให้ส.ว.มาร่วมมือด้วยแทบจะไม่มีเปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้ แต่ครั้นจะไม่แก้ในเรื่องนี้ซึ่งถือเป็นสารตั้งต้น การจะแก้ในประเด็นอื่นๆย่อมเป็นไปได้ยากเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นระบบเลือกตั้ง” ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้รับผลกระทบจากการคำนวณส.ส. ไปแบบเต็มๆชนิดไร้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แกนนำพรรคตกงานกันยกแผง ขณะที่บางพรรคได้ส.ส.ไปแบบส้มหล่น

ดังนั้นการ ซีกการเมือง” ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ออกมาแสดงท่าทีที่ดูเหมือนว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาที่เรียกร้องให้รัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ประกาศ ยุบสภา” แต่พุ่งเป้าไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นลำดับแรก เพราะพวกเขารู้อยู่เต็มอกว่า  แม้ยุบสภาไปแต่ไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ ผลออกมาก็เป็นเหมือนเดิม ดังนั้นจึงต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อนแล้วค่อยยุบสภาฯ!!