เปิดบรรทัดฐาน ‘ศาลแพ่ง’ ประกาศพ.ร.ก.ได้ แต่ห้ามสลายม็อบ
'ศาลแพ่ง-ศาลรธน.' ล้วนเคยพิจารณาคดีการใช้สิทธิชุมนุมทางการเมือง ปรากฎว่าคดีของแต่ละศาลมีความแตกต่างกัน ซึ่งพอทำให้เห็นว่าบทสรุปของคดีม็อบคณะราษฎรจะลงเอยอย่างไร
การชุมนุมกว่าหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะไม่ได้เป็นการชุมนุมปักหลัก ยืดเยื้อ แบบไม่ชนะไม่เลิก แต่การต่อสู้ในลักษณะแฟลชม็อบ ก็สามารถสร้างความปวดหัวในทางการเมืองให้กับ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้อยู่พอสมควร ถึงขนาดที่ต้องส่งสัญญาณยอมเพื่อเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ทั้งๆที่อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะเปิดการประชุมสภาตามวงรอบปกติในเดือนพ.ย.
ขณะเดียวกัน รูปแบบของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับรัฐบาลเริ่มหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แต่เพียงการลงถนนเท่านั้น เพราะเริ่มมีการงัดกระบวนท่าทางกฎหมายขึ้นมาสู้กันด้วย
โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่ พรรคเพื่อไทยและนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นคดีที่มีความน่าสนใจว่าที่สุดแล้วศาลแพ่งจะมีบรรทัดฐานต่อกรณีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไร
ที่ผ่านมา ศาลแพ่งเคยมีคำพิพากษาในกรณีใกล้เคียงกันมาแล้ว คือ คดีที่เครือข่าย People GO Network ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดเรื่อง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกาศ เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
คดีนี้ศาลแพ่งจำหน่ายคดีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าตอนแรกที่มีการฟ้องนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกข้อกำหนดห้ามชุมนุมในชวงมีเหตุโรคไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขข้อกำหนดในทำนองให้ทำการชุมนุมได้ ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่ถึงกับต้องห้ามชุมนุมทุกกรณีเช่นเดียวกับขณะยื่นคำฟ้อง จึงไม่มีเหตุที่ศาลแพ่งต้องเพิกถอนประกาศ
ขณะเดียวกัน ยังอีกกรณีใกล้เคียงที่น่าสนใจ คือ เมื่อเดือนก.ย.2557 กลุ่มกปปส.ได้ยื่นฟ้องศาลแพ่ง เพื่อให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยมิชอบและยังไม่มีเหตุจำเป็น โดยศาลแพ่งพิพากษาว่ากฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนด จึงไม่มีการเพิกถอน แต่ศาลได้มีคำสั่งห้ามรัฐบาลในฐานะจำเลย 9 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย
1.ห้ามจำเลย มีคำสั่ง ให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม 2. ห้ามจำเลยยึดอายัด สินค้า อุปโภค บริโภค ที่ใช้ในการสนับสนุนการชุมนุม ของโจทก์ และผู้ชุมนุม 3.ห้ามจำเลย ตรวจค้น รื้อถอน สิ่งปลูกสร้าง ของผู้ชุมนุม
4.ห้ามจำเลย ห้าม ผู้ชุมนุมซื้อขายสิค้า เครื่องอุปโภค บริโภคที่ใช้ในการชุมนุม 5.ห้ามจำเลย ปิดการจราจรเส้นทางคมนาคม 6.ห้ามจำเลย สั่งห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
7.ห้ามจำเลย สั่งห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ตามที่จำเลยกำหนดไว้ในประกาศ 8.ห้ามจำเลย สั่งผู้ชุมนุมห้ามใช้อาคาร 9.ห้ามจำเลย มีคำสั่งห้ามบุคคล เข้า และ ออก พื้นที่การชุมนุม
นอกจากนี้ ศาลแพ่ง ยังเคยมีคำพิพากษาในลักษณะที่เห็นว่าการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อครั้งมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปี 2551
โดยเวลานั้นกลุ่มพันธมิตรฯได้ชุมนุมด้วยการล้อมและยึดทำเนียบรัฐบาล ทำให้สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งว่าการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯในฐานะจำเลยมีความผิดฐานละเมิด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่
ต่อมา ศาลแพ่งพิพากษาว่า การที่จำเลยนำกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 คุ้มครอง แต่เป็นการทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร กรณีจึงมีเหตุอันควรให้นำวิธีคุ้มครองชั่วคราวมาใช้ โดยมีคำสั่งให้ จำเลย และกลุ่มผู้ชุมนุม ออกจากทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งรื้อถือนเวทีปราศรัย และสิ่งปลูกสร้าง ออกจากทำเนียบรัฐบาล โดยคำสั่งให้มีผลทันที ศาลแพ่งได้ดำเนินการบังคับคดีด้วยการมีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ตำรวจนำคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอพื้นที่คืนจนเกิดการปะทะกันระหว่างสองฝ่าย
นอกเหนือบรรทัดฐานของศาลแพ่งที่เกี่ยวกับการอำนาจของฝ่ายบริหารในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ปรากฎว่าศาลรัฐธรรมนูญ ยังเป็นอีกศาลหนึ่งที่มีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานที่น่าสนใจเช่นกัน
กล่าวคือ เมื่อครั้งการชุมนุมของกปปส.เมื่อปี 2556 ต่อเนื่อง ปี2557 มีบุคคลยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา 68 ว่า กปปส.กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
ถึงที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า การชุมนุมของประชาชนตามคำร้อง เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงยังไม่มีมูลกรณีตามคำร้องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย
โดยประเด็นที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้นแตกต่างกับประเด็นที่ยื่นต่อศาลแพ่งอย่างสิ้นเชิง เพราะข้อพิพาทที่เสนอให้ศาลแพ่งพิจารณา คือ ความชอบด้วยกฎหมายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่กับกรณีของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการมุ่งไปที่ความชอบด้วยกฎหมายของการชุมนุมทางการเมือง
ดังนั้น เมื่อประมวลเหตุการณ์ในอดีตแล้วพอจะทำให้เห็นภาพพอสมควรคดีล่าสุดที่ยื่นไปยังศาลแพ่งนั้นมีบทสรุปอย่างไร และอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในทางการเมืองก็เป็นได้