'กำแพง 3 ชั้น' สกัด 'โควิด' ผนึกกลไก 'ความมั่นคง'

'กำแพง 3 ชั้น' สกัด 'โควิด' ผนึกกลไก 'ความมั่นคง'

ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงต้นเดือนธันวาคม มีจำนวนผู้เดินทางผ่าน เข้า-ออกชายแดน เกือบ 5 ล้านคน และจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายทั้งหมด 8,420 ราย

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มสูงขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการป้องกัน ไม่ให้มีการลักลอบเข้าเมืองโดยไม่ผ่านการคัดกรองโรค โดยเฉพาะชายแดนไทยภาคเหนือ และด้านตะวันตก ที่รัฐบาลไทยได้บูรณาการทำงาน 3 ฝ่าย ที่เรียกว่า “กำแพง 3 ชั้น”

กำแพงชั้นแรก คือประเทศต้นทาง ใช้ความสัมพันธ์ทางทหาร ประสานข้อมูลกับกองทัพและเจ้าหน้าที่ของประเทศเพื่อนบ้านด้วยกลไกที่กองทัพมีอยู่เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และหากเล็ดลอดเข้ามาเจอกับ

กำแพงชั้นที่ 2 คือ กองกำลังชายแดน ทั้ง 7 กองกำลัง ประกอบ ด้วยกองกำลังบูรพา กองกำลังสุรสีห์ กองกำลังผาเมือง กองกำลังนเรศวร กองกำลังเทพสตรี กองกำลังสุรนารี กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี และเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวัง ตรวจพื้นที่รับผิดชอบ และได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติม ในการตรวจคัดกรองบุคคลที่ผ่านเข้าออกในพื้นที่ชายแดน ทั้งบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง จุดผ่านแดน จุดผ่อนปรน โดยมีมาตรการเพิ่มเติมในการสกัดกั้น ดังนี้

1. การเพิ่มกำลังพล และความถี่ในการลาดตระเวน เฝ้าตรวจโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง หรือง่ายต่อการลักลอบเข้าเมืองตามช่องทางธรรมชาติ
2. ตั้งจุดตรวจจุดสกัดตามเส้นทางคมนาคมสัญจร และช่องทางตามภูมิประเทศ
3.ติดตั้งไฟสองสว่างด้วยระบบโซล่าเซลล์ในพื้นที่ที่ล่อแหลมต่อการหลบหนีเข้าเมือง บริเวณช่องทางหรือท่าข้ามต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีการประสานกระทรวงมหาดไทยให้กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ช่วยกันดูแล และตรวจคนเข้า-ออกภายในพื้นที่ตัวเอง

หากผ่านเข้ามาพื้นที่ชั้นใน จะเจอกำแพงชั้นที่ 3 คือ กระทรวงแรงงาน โดยกรมจัดหางานต้องประสานผู้ประกอบการ ตรวจสอบแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยต้องผ่านการตรวจโรค

ขณะที่กองทัพบกได้จัดกำลังพลเข้าร่วมดำเนินการคัดกรองโรค รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชนที่ผ่านเข้า-ออก บริเวณพื้นที่ชายแดน ณ จุดผ่านแดนทางบก 24 แห่ง

โดยมีตัวเลขตั้งแต่เดือนมกราคมถึงต้นเดือนธันวาคม มีจำนวนผู้เดินทางผ่าน เข้า-ออกชายแดน เกือบ 5 ล้านคน และมีการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายทั้งหมด 8,420 ประกอบด้วย ชาวกัมพูชา 2,024 คน ชาวเมียนมา 6,129 คน ชาวลาว 163 คน และสัญชาติอื่น 31 คน

ส่วนกรณีที่คนไทยลักลอบไปทำงานในเมียนมาและกลับเข้ามาในประเทศ กองทัพบกได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทยให้กำชับหน่วยงานท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ช่วยกันตรวจสอบคนในพื้นที่ของตัวเอง ว่ามีบุคคลใดเดินทางไปทำงานประเทศเมียนมา และกลับเข้าประเทศโดยไม่ผ่านการกักตัว

ทั้งนี้ชายแดนไทย-เมียนมา มีระยะทางยาวถึง 2,400 กม. ครอบคลุม 10 จังหวัด ตั้งแต่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง 

โดยแต่ละพื้นที่มีช่องทางธรรมชาติเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก จึงไม่สามารถนำกำลังทหารไปเฝ้าระวังได้ทุกจุด ทำได้เพียงการลาดตระเวณ และส่งกำลังไปประจำจุดเสี่ยง รวมถึงการติดไฟส่องสว่าง

การจะหยุดยั้งการระบาดโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมาจากแนวชายแดน จึงต้องประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายอย่างเข้มแข็งและเอาจริงเอาจัง ไม่เช่นนั้นไทยอาจต้องเสี่ยงเผชิญหายนะจากการระบาดรอบสองในประเทศอย่างเลี่ยงไม่พ้น