'นายกฯ'นำถก'ครม.'จ่อเคาะเยียวยาพื้นที่แดงเข้ม ลุ้นไฟเขียวลดค่าเทอม
"นายกฯ" นำถกครม.ผ่านวีดิโอ คอนเฟอเรนซ์ จาก บ้านพัก ขอ WFH 100% หลังประกาศฉ.ที่ 28 มีผลบังคับใช้ พร้อมพิจารณา เคาะจ่ายเงินเยียวยาลูกจ้าง ม.33-39-40 พื้นที่ล็อกดาวน์สีแดงเข้ม ลุ้น งดเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษา ลดค่าเทอม
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์จากบ้านพัก ภายในกรมทหารราบ มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ร.1 รอ. ซึ่งเป็นวันแรกหลังการออกประการฉบับที่ 28 ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถาการณ์ฉุกเฉิน มีผลบังคับใช้ เพื่อยกระดับมาตรการ ควบคุม การแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัส โค วิด -19 ที่เข้มข้นขึ้น โดยการ Work from home 100% เพื่อลดการเดินทางของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามายังทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ วาระที่น่าสนใจคือการพิจารณาจ่ายเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 หลังจากศบค. ประกาศยกระดับล็อกดาวน์ขั้นสูงสุดในพื้นที่สีแดงเข้ม เพิ่มเป็น 13 จังหวัด จากประกาศเดิม 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, สงขลา เพิ่มอีก 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และสภาพัฒน์ นำเสนอ
ภายหลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ควบคุม 10 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้รับการจัดสรรงบประมาณ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยงบประมาณ 42,000 ล้านบาท (แบ่งเป็นจ่ายเงินเยียวยา 30,000 ล้าน และอุดหนุนค่าน้ำ-ค่าไฟ 1,200 ล้านบาท )
โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีสัญชาติไทย จะได้รับการเยียวยา เป็นเงิน2,500 บาท โอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น
ส่วนนายจ้างจะได้รับการเยียวยา ตามจำนวนลูกจ้าง รายละ 3,000 บาท สูงสุดลูกจ้างไม่เกิน 200 คน โดยนายจ้างบุคคลธรรมดา จะได้รับเงินโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน นายจ้างสถานะนิติบุคคล จะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคล
กรณีบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐบาล นายจ้างต้องขึ้นทะเบียน e-service เพื่อแจ้งว่าไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามมาตรา 33 โดยระบุให้ชัดเจนว่าลูกจ้างมีกี่คน และหยุดงานตั้งแต่วันใดถึงวันใด
ส่วนลูกจ้างมีหน้าที่กรอกแบบ สปส.2-01/7 และแนบสมุดปัญชีออมทรัพย์ ส่งให้นายจ้างรวบรวมเพื่อนำส่ง สำนักงานประกันสังคม ภายใน 3 วันหลังจากที่ยายจ้างลงทะเบียน e-service แล้ว เพื่อจะได้รับเงินโดยเร็วซึ่งเงินกองทุนประกันสังคมจะจ่าย 50% (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) กรณีว่างงานสูงสุด 90 วัน ทั้งคนไทยและต่างชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
ส่วนวงเงินเยียวยาเพิ่มเติม ตามมติ ครม. มาจากเงินกู้วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยใช้ฐานข้อมูลของประกันสังคม ในส่วนนี้ เจาะจงจ่ายช่วยเหลือเร่งด่วนแก่กลุ่มแรงงานไทยและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด กรณีได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐบาลใน 9 กิจการ โดยลูกจ้างมาตรา 33 ที่ได้รับเงินจากประกันสังคมเยียวยาเดิมได้รับ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) รัฐบาลจะเพิ่ม่ให้สบทบลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน (รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท)
สำหรับประเภทกิจการที่ได้รับการเยียวยา ประกอบด้วย 1. ก่อสร้าง 2. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3. ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ 4. กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ 5. การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 6. การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 8. กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 9. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน โดยแรงงานสามารถเข้าตรวจสอบสิทธิได้ที่หน้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ผู้ประกันตนมาตรา 33 เพียงกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ก็สามารถตรวจสอบได้ ส่วนนายจ้างสถานประกอบการให้กรอกเลขบัญชีนายจ้าง 10 หลัก และเลขลำดับที่สาขา 6 หลัก
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ มาตรา 40 ซึ่งเป็นกลุ่มฟรีแลนซ์และอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์ครั้งล่าสุดนี้ รัฐบาลจะเยียวยา 5,000 บาท โดยผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 ก่อนวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ให้รีบสมัครภายในวันที่ 30 ก.ค. 2564 เพื่อสำนักงานประกันสังคม จะได้ส่งข้อมูลนำเข้า ครม. พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ จะมีการรายงานมาตรการลดภาระผู้ปกครองและนักเรียนในส่วนของค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าเทอมในเบื้องต้น ให้นายกรัฐมนตรี รับทราบ ที่ขณะนี้ อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้วางแผนจัดโครงการแพ็คเกจที่เหมาะสมไว้แล้ว
นอกจากนี้ สำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงมายังสื่อมวลชน ว่า ตามที่ ศบค. มีมาตรการให้หน่วยงานรัฐ WFH เต็มจำนวน นั้น หน่วยงานรัฐรับปฏิบัติตามมาตรการ เว้นแต่มีภารกิจที่จำเป็นต้องมาปฏิบัติที่หน่วยงาน เช่น การลงนามสัญญา ฯ ซึ่งจะมีเพียงคณะรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งยังมีความจำเป็นต้องใช้หน่วยงานเป็นที่ประชุมด้วยปัจจัยด้านเทคนิค เอกสารเร่งด่วน พร้อมกับย้ำว่า การปฏิบัติหน้าที่และงานของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะใช้ทำเนียบ หรือหน่วยงาน กรณีมีเหตุจำเป็นเท่านั้น