"ยุทธพงศ์" แฉ "เยอรมัน" ไม่ขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำให้ "จีน" ส่งออกมา "ไทย"
"ยุทธพงศ์" เปิดข้อมูลจากเว็ปไซต์Military Leak ทูตทหารเยอรมัน บอกไม่ขายเครื่องยนต์ใส่เรือดำน้ำลำแรกของไทย ให้จีน- ส่อผิดสัญญา เหตุรายละเอียดระบุสเปคชัดเจน
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงต่อกรณีโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของประเทศไทย ที่พบปัญหา ว่า โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ของรัฐบาลไทย ลำแรก มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ตามที่ทำสัญญาไว้ในสมัยพล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีต ผบ.ทร. ลงนามสัญญา เมื่อพฤษภาคม 2560 และต้องส่งมอบให้กับกองทัพเรือไทยในเดือนกันยายน 2566 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการต่อเรือที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเรือดำน้ำดังกล่าวเป็นรุ่น S26T หยวนคลาส แต่ขณะนี้มีปัญหา คือ ไม่สามารถหาเครื่องยนต์ได้ ทำให้ทางการจีนต้องบริจาคเรือดำน้ำมือ 2 ที่มีอายุใช้งาน 50 ปี ให้กองทัพเรือไทยฝึกซ้อมก่อน
นายยุทธพงศ์ กล่าวด้วยว่า ตนสืบค้นข้อมูลและพบว่าเว็ปไซต์ Military Leak ระบุว่า เครื่องยนต์ ที่จะนำมาติดตั้งให้กับเรือดำน้ำตามสัญญานั้น ชื่อรุ่น MTU Engines 4,000 โดยเป็นเครื่องยนต์ของประเทศเยอรมัน ทั้งนี้ผู้ช่วยทูตทหาร ของสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย แถลงว่า รัฐบาลเยอรมันไม่ออกใบอนุญาตส่งออกเครื่องยน MTU เพื่อติดตั้งให้กับเรือดำน้ำ S26T ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนไม่เคยติดต่อกับรัฐบาลเยอรมันเพื่อจัดซื้อเครื่องยนต์เรือดำน้ำ
"ประเทศจีนรู้ตั้งแต่ต้นว่าไม่มีเครื่องยนต์ และไม่เคยติดต่อเพื่อติดตั้งในเรือดำน้ำลำแรกของประเทศไทย แต่ในสัญญาณที่ลงนามร่วมกัน ระบุสเปคเครื่องยนต์ชัดเจน MTU 4,000 เรื่องนี้ถือว่ามีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ อย่างไรก็ดีข่าวที่ลงในเว็ปไซต์Military Leakระบุด้วยฐบาลเยอรมันระบุว่าจะขายให้ประเทศจีน แต่มีข้อกำหนดว่าให้ใช้ในประเทศ ไม่สามารถส่งออกต่อไปยังประเทศที่สามได้” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ กล่าวเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นคนที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้เพราะในปี 2560 ที่เคยดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม สนับสนุนให้จัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน ขณะเดียวกันในการลงนามสัญญา เมื่อ 5 พฤษภาคม 2560 ที่พล.ร.ลือชัยนำภาพระบุว่าเป็นการลงนามแบบรัฐต่อรัฐ ข้อเท็จจริงเป็นงานฉลองของกองทัพเรือจีน.