"ปธ.กมธ.สิทธิฯ ส.ว." ค้าน แนวทางลดโทษ กรณี8ปี จี้ "นายกฯ" สอบ "จนท.ราชทัณฑ์"

"ปธ.กมธ.สิทธิฯ ส.ว." ค้าน แนวทางลดโทษ กรณี8ปี จี้ "นายกฯ" สอบ "จนท.ราชทัณฑ์"

"สมชาย" ค้านแนวทางลดโทษ ใช้เกณฑ์8ปี สงสัยใช้เกณฑ์อะไรกำหนด เสนอ "ส.ส." รับร่างแก้ไข ป.วิธีพิจารณาความอาญา ไปแก้ไข ป้องกันเหตุในอนาคต จี้ "นายกฯ" เรียกเอกสารกรมราชทัณฑ์สอบการใช้ดุลยพินิจจนท.

           นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการปรับปรุงแนวทางการจัดชั้น เลื่อนชั้นนักโทษ เพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนต่อการอภัยโทษ ว่าในประเด็นมาตรการที่กำหนดให้นักโทษที่จะได้รับอภัยโทษ ไม่ว่าลดโทษหรือ ปล่อยตัว ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ จำคุกมาแล้ว 8 ปี หรือแล้วแต่ระยะเวลาใดถึงก่อน ตนสงสัยว่า เกณฑ์ 8 ปีนั้นนำมาจากไหน หากเป็นนักโทษที่ต้องติดคุก 50 ปี ถึง ตลอดชีวิต แต่ได้รับสิทธิลดโทษตามระยะปลอดภัย 8 ปีเหมาะสมหรือไม่ อย่างไรก็ดีตนเห็นว่าควรยึดเกณฑ์การรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นเกณฑ์เดียว  หรือกำหนดเวลารับโทษจำคุกมาแล้ว 15 ปี ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นตนมีข้อเสนอให้ ส.ส.รับไปพิจารณา คือการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้ใช้เป็นเกณฑ์ดำเนินการในอนาคต เนื่องจากส.ว.ไม่สามารถเสนอร่างกฎหมายให้สภาฯ พิจารณาได้

 

 

           นายสมชาย กล่าวด้วยว่าสำหรับการให้อภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานั้น ตนยืนยันว่าพระราชกฤษฎีกานั้นไม่ผิด และไม่ต้องแก้ไข แต่ประเด็นที่ควรตรวจสอบคือการใช้ดุลยพินิจ ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาลดโทษให้กับนักโทษ ที่มีความพิรุธ คือ พิจารณาลดโทษนักโทษ 3 ครั้งในปีเดียว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หรือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมสามารถสั่งการให้ทุกเรือนจำส่งรายงานการพิจารณาการลดโทษนักโทษที่ได้รับการลดโทษติดต่อกัน 3 ครั้งใน1 ปีให้ตรวจสอบได้ ซึ่งตนเชื่อว่ามีหลักสิบถึงหลักร้อยคนเท่านั้น

           “สิ่งที่ต้องตรวจสอบว่าการใช้ดุลยพินิจดังกล่าวใช้กับนักโทษทั่วไป ที่มีกว่า 2-3แสนคนหรือไม่ หรือใช้กับบางคนบางกรณีเท่านั้น เพราะเท่าที่ทราบพบว่ามีนักโทษบางคดี ที่ศาลพิพากษาจำคุก 100 ปี ในคดีฉ้อโกง ติดคุกจริงเพียง 3ปีเศษ และล่าสุดได้รับการปล่อยตัวแล้ว ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นต้องทำให้เป็นตัวอย่างเพื่อป้องกันในอีกหลายกรณีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ให้เกิดการใช้ดุลยพินิจที่ฉ้อฉล หากเรื่องนี้ไม่แก้ไขความผิดพลาด สังคมต้องตั้งคำถามต่อไป และหากไม่แก้สังคมไม่ยอมแน่” นายสมชาย กล่าว

 

           เมื่อถามว่ากรณีที่สังคมคาใจ แต่ผู้บริหารไม่แก้ไขจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า เชื่อว่าจะมีคนดำเนินการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หากพบว่าทุจริต ซึ่งตนไม่ได้กล่าวหา แต่สงสัยว่ากติกาที่ใช้นั้น ใช้กับนักโทษทุกคนหรือไม่ โดยเรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้ว่าในปี 2564 มีนักโทษกี่คนที่กรมราชทัณฑ์ลดโทษให้ 3 ครั้ง เหลือกี่ปี ขณะที่ศาลพิพากษาจำคุกกี่ปี และเปิดเผยต่อสาธารณะ ถ้าทำถูกคือถูก แต่อย่าอ้างว่า พระราชกฤษฎีกาอัยโทษผิด เพราะไม่เกี่ยว แต่ที่ผิดคือ คนเสนอเรื่องและใช้ดุลยพินิจ

 


           “เรื่องนี้ผมมองว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปราการทุจริตแห่งชาิต ควรตั้งอนุไต่สวน เพราะเป็นผู้แทนของรัฐและของประชาชนที่ตรวจสอบคดีจำนำข้าว ที่สร้างความเสียหายให้ประเทศกว่า 5แสนล้านบาท อีกทั้งป.ป.ช. ได้สร้างมาตรฐานทางจริยธรรมในคดีของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีตส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐมาแล้ว ดังนั้นบทบาทของป.ป.ช.สามารถทำได้ ทั้งเรียกเอกสาร ดำเนินคดี ถ้าไม่ทำอาจมีคนยื่นไต่สวนท่านเหมือนกัน” นายสมชาย กล่าว