“Smart Table” จากเทคโนโลยีหลักล้านสู่ราคาไทยๆ
วิศวะคอม มจธ. พัฒนา Smart Table โต๊ะอัจฉริยะที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งาน และเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ โดยเทคโนโลยี Interactive Computing
ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยนวัตกรรมที่ล้ำสมัย เทคโนโลยีต่างๆ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับตาเทคโนโลยีส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกสบาย หรือลดขั้นตอนการดำเนินชีวิตที่ยุ่งยากของมนุษย์โดยเทคโนโลยีส่วนใหญ่ล้วนได้รับการพัฒนาขึ้นในประเทศในประเทศมหาอำนาจ หรือมีวิสัยทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์ที่ก้าวไกล
แต่ในประเทศไทยเองก็มีกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ไม่น้อยไม่ว่าจะเป็นระดับอาจารย์ นักวิจัย หรือระดับนักศึกษา อย่าง“เบสท์” หรือนายรัฐพล วิทยาสุทธิกุล และ “เติ้ล”หรือนายธีรภัทร บุญธรรมชนะรุ่งนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ก็ได้ใช้โอกาสในการทำโปรเจกจบการศึกษาพัฒนาเทคโนโลยี“Smart Table : Interactive table for data communication”ขึ้นมา
“เราอยากนำความรู้จากการเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์มาพัฒนาผลงานสักชิ้นที่คนอื่นเห็นแล้วรู้สึกว้าว!! กับมัน และจากการค้นคว้าผนวกเข้ากับประสบการณ์ที่เคยร่วมงานกับพิพิธภัณฑ์มาบ้างพบว่าเทคโนโลยีที่เป็นInteractive Computing หรือเทคโนโลยีที่สามารถตอบโต้กับผู้ใช้ได้นั้นกำลังเป็นที่สนใจแต่เป็นเทคโนโลยีที่มีราคาสูงมากโดยในต่างประเทศส่วนมากจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่ผู้เข้าชมสามารถโต้ตอบและมีส่วนร่วมกับการนำเสนอและรับรู้ข้อมูลเหล่านั้นได้ แต่ยังเห็นได้น้อยในเมืองไทย เราจึงเลือกที่จะพัฒนา smart table ขึ้นโดยหวังว่าคนไทยจะมีโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้นและใช้เทคโนโลยีนี้เป็นตัวช่วยในการลดปัญหาสังคมก้มหน้าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการแบ่งปันสิ่งที่อยู่ในหน้าจอส่วนตัวลงกันบน smart table เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในบริเวณเดียวกันได้มีการปฏิสัมพันธ์บ้าง”รัฐพล กล่าว
ทางด้าน ธีรภัทร กล่าวว่า smart table เป็นโต๊ะที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานของคนรุ่นใหม่ในยุคที่มีสมาร์ทโฟนเป็นปัจจัยที่ 5 ของการดำเนินชีวิต โดย smart table เป็นโต๊ะที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนเพื่อการถ่ายโอนข้อมูลที่เป็นไฟล์รูปภาพ หรือวีดีโอ และยังสามารถเล่นไฟล์เพลง หรือวีดีโอโดยสั่งงานผ่านโต๊ะตัวนี้ได้ เป็นการเพิ่มลูกเล่นลงไปให้แก่โต๊ะทำงาน และเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้งานอีกด้วย
“คอนเซ็ปของงานนี้คือการใช้โปรเจกเตอร์ฉายไปบนพื้นโต๊ะ แต่จะฉายไปที่ใดนั้นแล้วแต่นำไปประยุกต์ใช้ ตัวหลักคือdetection sensor ที่ใช้ในการตรวจจับการเคลื่อนไหวของคน หรือสิ่งต่างๆ เราสร้าง Smart table ขึ้นจากโครงโต๊ะเก่าที่ไม่ใช้แล้ว นำมาประยุกต์ทำเป็นโต๊ะประกอบเข้ากับแผ่นอะคริลิกขุ่นเนื่องจากมีคุณสมบัติในการรับแสงได้ดี ขนาด 30 คูณ 30 นิ้ว มาใช้เป็นพื้นโต๊ะ สั่งงานด้วยระบบทัชสกรีนที่เราพัฒนาขึ้นเองเนื่องจากทัชสกรีนนั้นมีราคาสูงมาก โดยใช้หลักการฉายโปรเจกเตอร์ขึ้นจอ input ให้ผู้ใช้ด้วยกล้อง IR ที่คล้ายกับกล้องวงจรปิดนำมาติดตั้งไว้ด้านบนระยะห่างจากพื้นโต๊ะ 0.8 เมตรซึ่งเป็นระยะที่เราต้องการให้เกิดการทัชสกรีน แต่หากนำมือออกห่างจากระยะที่กำหนดไว้นี้จะไม่มีภาพเกิดขึ้น หรือทัชสกรีนไม่สามารถทำงานได้นั่นเอง จากนั้นเราต้องเขียนโปรแกรมวิเคราะห์ เพื่อเก็บข้อมูลตำแหน่งต่างๆ ในการแตะจอทัชสกรีนเพื่อจับคู่กับโปรเจกเตอร์ฉายภาพขึ้นมาเพื่อให้เกิดภาพที่ตำแหน่งเดียวกัน แต่เนื่องจากโปรเจกเตอร์ฉายในระยะที่ใกล้มากภาพที่ออกมาจึงมีขนาดเล็ก เราจึงนำหลักการสะท้อนกับกระจกก่อนเพื่อฉายภาพไปยังแผ่นอะคริลิกที่เป็นพื้นโต๊ะอีกครั้งเพื่อทำให้ภาพมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นตามที่เราต้องการ”
ทั้งนี้ ธีรภัทร ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากกล้อง IR แล้วยังใช้กล้องธรรมดาอีกหนึ่งตัวเพื่อใช้จับตำแหน่งการวางสมาร์ทโฟน โดย Smart table จะสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนในระบบแอนดรอยด์ได้ครั้งละ 2 เครื่องเท่านั้น แต่ก็สามารถพัฒนาให้เชื่อมต่อได้มากเท่าที่เราต้องการทั้งนี้ขึ้นกับคุณภาพของอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณที่ใช้และนอกจากโปรแกรมที่ต้องเขียนขึ้นใหม่แล้ว การจะทำให้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่อกับ Smart table ได้นั้นต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นด้วย
“การใช้งาน smart table ต้องนำคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรม smart table เชื่อมต่อเข้ากับโต๊ะแล้วนำสมาร์ทโฟนวางบนโต๊ะจากนั้นกล้องจะจับตำแหน่งของสมาร์ทโฟนแล้วทำการเชื่อมต่อเชื่อมต่อระหว่าง smart table เข้ากับสมาร์ทโฟนผ่านแอพพลิเคชั่น smart tableเพื่อใช้งานการถ่ายโอนข้อมูลหรือใช้งาน media player ต่างๆ เพื่อแสดงภาพบนโต๊ะและใช้งานได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น”
ดร.ปริยกร ปุสวิโรกล่าวเพิ่มเติมในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาว่าเทคโนโลยีแบบนี้ในต่างประเทศมีการใช้งานมานานแล้ว อาจจะเห็นได้บ่อยใน youtubeหรือ event ต่างๆแต่ที่ไม่ค่อยเห็นในประเทศไทยก็เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาสูงดังนั้นสิ่งที่วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือภาควิชาอื่นๆ ใน มจธ. พยายามเน้นในการเรียนการสอนคือการกระตุ้นให้นักศึกษาใช้ความรู้ที่เรียนผสมผสานกับเทคโนโลยีราคาถูกที่หาได้ซื้อได้ในประเทศไทย
“การสร้างเทคโนโลยีที่ดีไม่จำเป็นต้องซื้อของแพงมาใช้ แต่ทำอย่างไรถึงจะใช้ความรู้ที่มีและใช้วัสดุราคาถูกที่หาได้ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์งานที่สามารถให้ผลลัพธ์เท่ากับเทคโนโลยีที่ต้องใช้เงินหลายล้านในการพัฒนา หรือเทคโนโลยีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้ทั้งนี้เทคโนโลยี smart table สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายด้านไม่ว่าจะเป็นใช้สั่งอาหารในร้านอาหาร โต๊ะประชุมในออฟฟิศ พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน โรงพยาบาล หรือคิดให้เป็นเหมือน shop window ร้านค้าที่เป็นตู้กระจกขายมือถือในย่านต่างๆ ถ้าทำพื้นด้านบนของตู้เป็น Interactive table ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะจริงๆ แล้วผลงานดังกล่าวสามารถใช้เป็นจุดขาย หรือสื่อmarketing add-on ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว”