ตู้แช่หมูสด-ไก่สด ตอบโจทย์ Food Safety
ผู้บริโภคซื้อเนื้อหมูสด ไก่สดจากตลาดสดที่ใช้ตู้แช่เย็นอย่างเหมาะสมแล้ว ผู้บริโภคก็ควรมีกล่องโฟม เพื่อรักษาอุณหภูมิอาหาร
ภาพข่าวหนูตัวใหญ่หลายตัวกำลังแทะเนื้อหมูบนเขียงในตลาดสดยังคงติดตาผู้เขียนมาจนทุกวันนี้ ครั้งนั้นทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่หลายฝ่ายจริงจังกับการฆ่าเชื้อและการกำจัดหนูตามตลาดสดมากขึ้นซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี แต่มันจะจีรังยั่งยืนเพียงใดจะป้องกันหนูและสัตว์ต่างๆไม่ให้นำเชื้อโรคมาสู่อาหารประเภทหมูสด ไก่สด ในตลาดสดได้มากแค่ไหน หรือจะรักษาคุณภาพของเนื้อสัตว์ได้หรือไม่ อย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องตั้งคำถาม
ประเทศไทยพยายามยกระดับมาตรฐานให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยในอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นที่เห็นกรมปศุสัตว์ตามไล่ล่าจับฟาร์มและโรงฆ่าสัตว์ที่ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดง เห็นการพัฒนากระบวนการเลี้ยงหมูที่ได้มาตรฐานตั้งแต่ออกกฏระเบียบการทำฟาร์มมาตรฐาน ไปยังโรงชำแหละที่มีระบบการจัดการที่ดี ไม่ให้ซากต้องสัมผัสพื้น และมีการควบคุมอุณหภูมิตลอดระยะเวลา กระทั่งส่งขายไปยังห้างร้าน ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆซึ่งก็มีระบบทำความเย็นคอยรักษาคุณภาพเนื้อหมูอยู่ตลอดเวลา จนกว่าผู้บริโภคจะมาเลือกซื้อไปจากชั้นวาง แล้วการซื้อขายเนื้อหมูสด ไก่สด ในตลาดสด จะทำอย่างไรจึงตอบโจทย์มาตรฐานอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภคสบายใจ?
โครงการ “เขียงหมูสะอาด” ของกรมปศุสัตว์ถือว่าตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่ง เพราะมีการระบุข้อกำหนดเพื่อความสะอาดปลอดภัยไว้หลายข้อเช่น ..... แผงจําหน่ายเนื้อสัตว์ต้องทําด้วยวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน พื้นผิวเรียบ ทําความสะอาดได้ง่าย ไม่ดูดซับน้ำและสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ และบริเวณวางจําหน่ายเนื้อสัตว์มีความสูงจากพื้นไม่น้อยกวา 60 เซนติเมตร มีสภาพดี ไม่เป็นแหล่งอาศัยของแมลงและสัตว์พาหะนําโรค ส่วนตู้จําหน่ายเนื้อสัตว์ต้องมีวิธีการที่สามารถป้องกันการปนเปื้อนและป้องกันแมลงและสัตว์พาหะได้ มีก๊อกน้ำล้างมือพร้อมสบู่หรือสารทําความสะอาด ในที่เหมาะสมหรือบริเวณใกล้เคียงและไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนกับเนื้อสัตว์
แต่ดูเหมือนข้อกำหนดเขียงหมูในตลาดสด จะยังคง “มองข้าม” เรื่องของการรักษา “อุณหภูมิ”เพื่อควบคุมคุณภาพให้เนื้อหมู เนื้อไก่สด ยังคงความปลอดภัยเพราะสภาพอากาศเมืองร้อนแบบบ้านเรานั้นเอื้อต่อการเติบโตของจุลินทรีย์เหลือเกิน ขณะที่ กองสุขาภิบาลอาหาร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้กำหนดอุณหภูมิสูงสุดสำหรับการวางจำหน่ายอาหารเพื่อความปลอดภัยไว้แล้ว คืออาหารเนื้อสัตว์ดิบ/ปลา/อาหารทะเล ต้องวางขายในที่ๆมีอุณหภมิไม่สูงเกินกว่า 5 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิขนาดนี้ก็คือ ต้องวางจำหน่ายในตู้แช่ หรือตู้เย็นนั่นเอง
แม้ทุกวันนี้จะได้เห็นการขายหมูไก่ในตู้แช่ตามตลาดสดอยู่บ้าง แต่ก็เห็นเฉพาะในตลาดสดที่ยกระดับเป็นตลาดไฮโซแล้วเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมาก แล้วยิ่งถ้าเป็นร้านค้าเล็กๆในชุมชนห่างไกลที่มักขายผักขายหมูรวมอยู่ในร้านเดียวกัน เป็นร้านเล็กๆที่เป็นเหมือนตลาดขนาดย่อยตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆซึ่งหลายแห่งยังไม่มีการรับรอง “เขียงหมูสะอาด” จะยิ่งแย่ขนาดไหนเพราะคนในชุมชนจำต้องซื้อหาเนื้อหมูที่ไม่มีการควบคุมความปลอดภัยทางอาหารที่เหมาะสม
คงจะดีไม่น้อย ถ้ามีเขียงหมูในตลาดสดทั่วไปสักกลุ่มหนึ่งริเริ่มนำตู้แช่มาตั้งให้บริการในแผงของตนเอง หรือแม้แต่หากจะมีภาคเอกชนรายใดเสียสละผลิตตู้แช่มาให้แผงขายหมูสด ไก่สด ในเครือข่ายของตนเองได้เช่าหรือยืม เพื่อยกระดับความปลอดภัยในอาหารของผู้บริโภคซึ่งน่าจะมองได้ว่าเป็น CSR หรือกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลที่ผู้คนไม่มีห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นทางเลือกในการซื้อหมูสดที่มีการรักษาอุณหภูมิ
อีกทางเลือกหนึ่ง...หากโครงการเขียงหมูสะอาดของกรมปศุสัตว์จะเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการรักษาอุณหภูมิตามที่กองสุขาภิบาลระบุไว้ ก็จะทำให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่นอกจากจะปลอดภัยจากสัตว์พาหะเช่นหนู และแมลงสาบแล้ว ยังปลอดภัยจากจุลินทรีย์ที่เติบโตได้ดีในสภาพอากาศบ้านเราอีกด้วย
ขั้นตอนหลังจากที่ผู้บริโภคซื้อเนื้อหมูสด ไก่สดจากตลาดสดที่ใช้ตู้แช่เย็นอย่างเหมาะสมแล้ว ผู้บริโภคก็ควรมีกล่องโฟม หรือกล่องเก็บความเย็นไว้ที่รถ เพื่อรักษาอุณหภูมิอาหารไปจนถึงตู้เย็นในบ้านเท่านี้ก็เรียกได้ว่าเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารสำหรับทุกคนในครอบครัวได้อีกขั้นหนึ่งแล้ว
ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดที่ต้องการเห็นผู้บริโภคได้รับอาหารที่ดีและปลอดภัย ต้องการเห็นความรับผิดชอบของเกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้จำหน่าย ตลอดห่วงโซ่การผลิตที่จะร่วมกันยกระดับความปลอดภัยในอาหารเพื่อคนในชาติ อย่าให้ความเข้มงวดในด้านนี้ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศเท่านั้น คนในประเทศเราก็ต้องได้รับมาตรฐานเดียวกันครับ./
โดยสมคิด เรืองณรงค์