“พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง” กรมวิชาการเกษตร ยกระดับ BCG Model ลดก๊าซเรือนกระจก
“พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง” กรมวิชาการเกษตร ยกระดับ BCG Model ลดก๊าซเรือนกระจก
ลุ่มน้ำปากพนังมีพื้นที่ 1,989,932 ไร่ ในอดีตเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของภาคใต้สามารถผลิตข้าวและผักและผลไม้ที่สำคัญ และมีความเป็นอยู่อย่างรุ่งเรืองของเกษตรกรในพื้นที่ ต่อมาเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นและมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินความจำเป็น ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ถูกทำลาย ทรัพยากรเสื่อมโทรมลง จึงประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงทราบถึงความเดือดร้อนและยากลำบากของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังในวโรกาสต่างๆ หลายครั้งอย่างต่อเนื่อง
กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สนองพระราชดำริ ด้วยการศึกษาวิจัย ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชที่เหมาะสมในพื้นที่ การจัดทำแปลงต้นแบบเพื่อขยายผลสู่เกษตรกรและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิชาการเกษตรให้ผู้สนใจได้นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการทำอาชีพเกษตรกรรม ด้วยการน้อมนำหลักการทรงงานมาเป็นแนวทางปฏิบัติ คือ “ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำงานอย่างผู้รู้จริง” โดยศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ตรงประเด็น
และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ และหลักการทรงงาน “องค์รวม” คือ พิจารณาเหตุการณ์แบบบูรณาการและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาให้ครบทุกด้าน เพื่อแก้ไขให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ได้ดำเนินงานสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรกรรม ได้แก่ สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ผลักดันการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร ส่งเสริมเกษตรปลอดภัย ขับเคลื่อน BCG Model ผลักดันไทยเป็นครัวโลก ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ” ซึ่งมีวิสัยทัศน์ว่า ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับ“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ” องค์การสหประชาชาติ คือ (Sustainable: S) ความยั่งยืน (Development: D) การพัฒนาและ (Goal: G) เป้าหมายซึ่งมุ่งสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
จากการดำเนินงานพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า มีผลผลิตเฉลี่ย 3,618 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี มีรายได้สุทธิเฉลี่ย 10,307 บาทต่อไร่ต่อปี และมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (BCR) เฉลี่ย 2.70 มีผลผลิตเฉลี่ยในแปลงต้นแบบเท่ากับ 4,026 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้ยังยกระดับการผลิตไม้ผลคุณภาพสู่การส่งออก เช่น ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม, มังคุด, เงาะ และพัฒนาการผลิตผักคุณภาพปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องต่อความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันและมีการปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP และนำภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) มาสร้างจุดเด่น สร้างกิจกรรม สร้างเรื่องราว (Story) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและสร้างรายได้ให้แก่คนชุมชน เน้นการผลิตและแปรรูปจากพลังงานธรรมชาติ เพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบที่มีระบบการผลิตพืชที่สอดคล้องตามระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแปลงต้นแบบขยายผลสู่ผู้สนใจ กลุ่มเกษตรกรและศูนย์การเรียนรู้ฯ ต่างๆ ไปยังจังหวัดใกล้เคียงได้อีกด้วย