รมว.ท่องเที่ยว-บพข.- สกสว.ร่วมหนุนอาสาสมัครท่องเที่ยวรับการเปิดประเทศ และนำไปสู่ความยั่งยืน
“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.ท่องเที่ยวร่วมสนับสนุน ชี้บทบาทสำคัญคล้าย อสม.ที่มีส่วนช่วยควบคุมด้านสุขอนามัยในชุมชน
บพข. และ สกสว. กองทุน ววน. นำเสนอผลวิจัยจัดตั้งอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ เผย 1 ปีจากการลงพื้นที่เชียงราย บางกระเจ้า กระบี่ และสตูลนำร่อง สร้างอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยบนฐานข้อมูลดิจิตอลได้ถึง 1,124 ราย ชี้เป็นกลไกสำคัญในการผลักดัน”การท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน ขณะที่ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.ท่องเที่ยวร่วมสนับสนุน ชี้บทบาทสำคัญคล้าย อสม.ที่มีส่วนช่วยควบคุมด้านสุขอนามัยในชุมชน
ดร.กาญจนา สมมิตร จาก สมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (TRTA) ในฐานะผู้อำนวยการแผนวิจัย อาสาสมัครการท่องเที่ยวไทย ตามแผนงานสนับสนุนทุนวิจัย แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้ กองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ได้นำเสนอผลวิจัยต่อคณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุม คณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ ในการจัดตั้งอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทย
โครงการนี้มีเป้าหมายขับเคลื่อนงานวิจัยชุดการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวไทยภายใต้ สำนักประสานงานการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของ บพข. และสกสว. ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) โดยผลการวิจัยที่มีระยะเวลา 1 ปี ในพื้นที่เชียงราย บางกระเจ้า กระบี่ และ สตูล เป็นพื้นที่นำร่องงานวิจัยในเชิงปฏิบัติการ พบว่าทำให้เกิดอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยบนฐานข้อมูลระบบดิจิตอลที่ใช้งานได้จริง 1,124 ราย โดยงานวิจัยนี้ ค้นพบอาสาสมัครจำนวนมากที่มีความพร้อม และเป็นกลไกสำคัญในการผลักดัน”การท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน”
ภารกิจของอาสาสมัครเหล่านี้ นอกจากการดูแลใส่ใจต่อนักท่องเที่ยวที่เข้าไปยังพื้นที่แล้ว ยังรวมถึงการเก็บขยะชายหาดหรือใต้ทะเล ทั้งเป็นยามชายฝั่งที่คอยดูแลนักท่องเที่ยว หรือเป็นล่ามออนไลน์ที่คอยช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติในอนาคต และยังเป็นผู้คอยดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ การนำเสนอผลวิจัยนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เห็นประโยชน์ ได้ร่วมสนับสนุน โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการยกระดับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในอนาคต โดยเปรียบเทียบความโดดเด่นเทียบเคียงกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีในการช่วยควบคุมด้านสุขอนามัยในทุกชุมชน
ดังนั้นอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทย จึงเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งในอนาคตของการท่องเที่ยวไทยในการช่วยดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในประเทศไทย พร้อมรองรับการเปิดประเทศพร้อมกันนี้ที่ประชุมมอบหมายให้ นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการผลักดันวาระการจัดตั้ง “องค์กรอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทย”ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ เพื่อให้เป็นกลไกที่สำคัญของประเทศไทย เฉกเช่นเดียวกับอาสาสมัครสาธารณสุข ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในด้านสาธารณสุขของประเทศ และอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทย จะเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการเปิดประเทศ ตามนโยบายของประเทศ เนื่องจากอสท.จะทำงานเป็นกลไกในการเฝ้าระวังเรื่องสุขอนามัยร่วมกับ อสม.ต่อไปในอนาคต
อีกทั้ง อสท.ยังเป็นพลังขับเคลื่อนในการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เพื่อเป็นการยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยวโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวความคิดในการจัดตั้ง อาสาสมัครการท่องเที่ยวโดยมีระบบฐานข้อมูลดิจิตอลสนับสนุนนั้น เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือ การบริการ และเฝ้าระวัง แก่นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เช่นเกิดเหตุที่ใด จะมีรายชื่อ และตำแหน่งของ อาสาสมัครการท่องเที่ยว ที่มีความถนัดในด้านนั้น อยู่ใกล้พื้นที่ และสามารถประสานให้เข้าไปยังพื้นที่ได้ตลอดเวลา เพื่อให้ทันความต้องการของสถานการณ์ ในช่วงนั้นๆ