อสังหาฯปี67ลุ้นQuick win หลังติดหล่มกำลังซื้อเหือด
อสังหาฯปี67ลุ้นQuick win เล็งยื่นมาตรการกระตุ้นอสังหาฯให้ นายกฯ พิจารณาหวังกระตุ้นดีมานด์หลังจากปี 66 ติดหล่มกำลังซื้อเหือด จากปัจจัยลบรุมเร้าจากเศรษฐกิจโลก กำลังซื้อในประเทศถดถอย ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง
นับถอยหลังสิ้นปี 2566 ภาพรวมตลาดอสังหาฯยังคงชะลอตัว จากตัวเลขของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์ว่า ปี 2566 ที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีจำนวน 87,732 หน่วย "ลดลง"19.8% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีจำนวน 109,451 หน่วย ส่วนมูลค่าคาดทั้งปีอยู่ที่ 514,512 ล้านบาท สูงขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยก่อนและหลังโควิด แต่ลดลง 6.5% เมื่อเทียบกับปี2565ที่มีมูลค่าเปิดตัวใหม่ อยู่ที่ 550,146 ล้านบาท หรือโตขึ้น150 % เทียบกับปี 2564 เป็นผลมาจากกำลังซื้อลดลง !
เป็นผลมาจากปัจจัยลบที่รุมเร้า ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลก จากวิกฤตสงคราม 2 ระลอก ส่วนเศรษฐกิจจีนก็ย่ำแย่ ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯไทยเพราะเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ รวมทั้งการส่งออก การท่องเที่ยวของไทยไม่ได้เติบโตตามเป้าหมาย แถมกำลังซื้อในประเทศถดถอยหลังอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่โหมดขาขึ้น ยอดการถูกปฏิเสธสินเชื่อพุ่งขึ้นตามไปด้วย
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคงหนี้ไม่พ้น จำนวนหน่วยที่เหลืออยู่ (Remaining) จากข้อมูล ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ในไตรมาส3 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 194,589 หน่วย บ้านจัดสรรมีจำนวนมากที่สุดถึง 120,481 หน่วยมูลค่าเหลือขายรวม 1,080,559 ล้านบาท บ้านจัดสรรมูลค่าเหลือขายสูงถึง 730,367 ล้านบาท !! สะท้อนให้เห็นว่า ซัพพลายที่อยู่อาศัยที่ยังเหลือขายในตลาดที่มีการสะสมมากเพิ่มขึ้น แต่อัตราดูดซับน้อยลง ! ส่งผลให้ภาพรวมตลาดไม่ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปีว่าจะฟื้นตัว
จึงเป็นที่มาของการนำเสนอมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ จาก3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย ธุรกิจบ้านจัดสรร อาคารชุดไทย อสังหาริมทรัพย์ไทย ที่ยื่นให้กับ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อหลังจากที่ก่อนหน้าที่มีการนำเสนอผ่านสื่อมาระยะหนึ่ง ประกอบกับยังไร้มาตรการที่เข้ามาช่วยสร้างแรงกระเพื่อมเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน
โดยมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้า ที่นำเสนอ ได้แก่ การพิจารณาต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่จะสิ้นสุดในปี 2566 ต่อไปอีกทั้งลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ลดค่าโอนเหลือ 1%และจำนองเหลือ 0.01% พร้อมขยายเพดานราคาบ้านเป็นทุกระดับราคา
ผ่อนปรนมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value : LTV)หรือLTV โดยให้ประชาชนสามารถกู้ได้ 100% อีก 2 ปี หลังจากที่ ธปท.ได้เข้มงวดเกณฑ์ดังกล่าว ด้วยการกลับมาใช้ เกณฑ์ LTV แบบเดิม คือ กู้หลังแรกวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท กู้ได้ 100% และตกแต่งเพิ่มได้อีก 10%, บ้านหลังที่ 2 วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท กู้ได้ 70-90%, วงเงิน 10 ล้านบาทขึ้นไป กู้ได้ 70-90% ฟื้นโครงการบ้านดีมีดาวน์และขยายวงเงินคืนเงินดาวน์ 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท สำหรับการซื้อบ้านทุกระดับราคา และจัดซอฟต์โลนปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นรวมทั้งการลดภาษีซื้อบ้านหลังแรก
ขณะเดียวกันขอมิดเทอมวีซ่าต่างชาติ 5 ปี เมื่อซื้อคอนโด 3-5 ล้านบาท และสามารถซื้อบ้านพร้อมที่ดินในโครงการจัดสรรได้ไม่เกิน 25% ในกรุงเทพฯราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป และต่างจังหวัดไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท พร้อมขยายเวลาการเช่าเป็น 50 ปี เพิ่มสัดส่วนต่างชาติซื้อคอนโดได้มากกว่า 49% เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวเร็วขึ้น