‘บ้านตากอากาศ-แบรนด์เด็ดเรสซิเดนท์’จิ๊กซอว์ใหม่เติมพอร์ตฮาบิแททกรุ๊ป
ฮาบิแททกรุ๊ป ขับเคลื่อนธุรกิจหลังโควิด-19 ด้วยการต่อจิ๊กซอว์รับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปและลดความเสี่ยงผ่าน “แบรนด์เด็ดเรสซิเดนท์”เพื่ออยู่อาศัย และ “บ้านตากอากาศ” ออกมาทำตลาดจริงจัง! เสริมแกร่ง
ชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า พฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปหลังเกิดโควิด-19 คนซื้อให้ความสำคัญกับ “พื้นที่” มากกว่าทำเลที่ตั้ง สอดคล้องเทรนด์ทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือ WFA (Work from Anywhere) ซึ่งการทำงานผ่านออนไลน์เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ “บ้าน” ขายดีไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ หรือ ประเทศไทย
“จากเดิมที่เราโฟกัสการพัฒนาโครงการอสังหาฯ เพื่อลงทุน แต่วิกฤติโควิด 2 ปี ทำให้มีโอกาสทบทวนและปรับแผนธุรกิจใหม่ หลังพบว่าพอร์ตคอนโดสูงถึง 80% คอนโดลงทุนสูง เทียบการพัฒนาโครงการบ้านที่แบ่งเป็นเฟสๆ ได้"
ชนินทร์ ยอมรับว่า ก่อนโควิดเขากล้าลงทุนซื้อที่ดินจำนวนมาก! เพราะโครงการไลฟ์สไตล์อินเวสเมนท์ขายดี จึงซื้อที่ดินล่วงหน้า 2-3 ปี แต่พอโควิดมาเหมือนวิ่งๆ อยู่แล้วสะดุดหินก้อนใหญ่ จึงต้องวางแผนใหม่จากเมื่อก่อนใช้จักรยานสองล้อ ขี่เร็ว พอโควิดมาเปลี่ยนเป็นสี่ล้อขนาดใหญ่และขี่ช้าลงเพื่อลดความเสี่ยง!! ด้วยการหันมาขยายพอร์ตแนวราบ ตามเทรนด์ของคนที่หันไปซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น เพื่อบาลานซ์พอร์ตให้แนวราบเพิ่มเป็น 40% จากเดิม 20% คอนโด 60% จาก 80% อนาคตอาจเป็น 50 : 50
นั่นหมายความว่า ต่อจากนี้การซื้อที่ดินทำคอนโดใหม่ ”ลดลง” หันซื้อที่ดินทำแนวราบ ขนาด 10-20 ไร่มากขึ้น และจากเดิมจับกลุ่มซื้ออสังหาฯ เพื่อการลงทุนขยายเป็น “เรียลดีมานด์” ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่า ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของฮาบิแททกรุ๊ปในรอบ 10 ปี
“เรากลับสู่พื้นฐานเรียลดีมานด์จากเดิมเจาะกลุ่มนิชมาร์เก็ตที่ซื้อเพื่อลงทุน เพราะกลุ่มเรียลดีมานด์ที่ซื้อเพื่ออยู่ในตลาดพัทยายังคงไปได้ ยิ่งเมื่อต่างชาติเริ่มกลับเข้ามามีโอกาสมหาศาล”
แนวทางการทำตลาดกลุ่มเรียลดีมานด์ซื้อเพื่ออยู่อาศัยแตกต่างจากกลุ่มซื้อเพื่อปล่อยเช่า กล่าวคือ ห้องที่ซื้อเพื่อปล่อยเช่ามีขนาดไม่ใหญ่มาก ขณะที่ซื้อเพื่ออยู่เองต้องการขนาดห้องใหญ่ขึ้น มีฟังก์ชั่นตอบโจทย์การใช้ชีวิต และดีไซน์เหนือกว่าในตลาด เพื่อดึงดูดใจลูกค้าเรียลดีมานด์ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ แต่ช่วงที่ผ่านมาฮาบิแททยังไม่ได้เข้ามาทำอย่างจริงจัง เนื่องจากไลฟ์สไตล์อินเวสเมนท์ขายดี แต่การทำโมเดลนี้ไปเรื่อยๆ จะเป็นความเสี่ยงเพราะมีแอสเสทเดียว และไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดโรคระบาดขึ้นอีกหรือไม่ การพัฒนาโครงการไลฟ์สไตล์อินเวสเมนท์จะลดลงเหลือปีละ 1 โครงการ
พร้อมมุ่งเซ็กเมนต์ใหม่เป็น ”ตัวช่วย” ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต โดยรุกไปยังน่านน้ำใหม่ที่คู่แข่งน้อย แข่งขันไม่รุนแรง เริ่มจากพัฒนาโครงการแบรนด์เด็ดเรสซิเดนท์เพื่ออยู่อาศัย “ไม่ใช่” เพื่อการลงทุน ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการเก็บไว้ใช้พักผ่อน จึงต้องการคอนโดแบรนด์ที่ดี มีบริการและการบริหารที่ดี ดีมานด์ลูกค้ากลุ่มนี้มีจำนวนมาก
ปัจจุบันคอนโดแบรนด์เด็ดเรสซิเดนท์ในกรุงเทพฯ มีหลายโครงการ อาทิ Banyan Tree Residences Riverside Bangkok, The Residence at Mandarin Oriental Four Seasons Private Residence Bangkok เป็นเซ็กเมนต์ที่ขายดี เป็นลูกค้าระดับอัลตราลักชัวรี ส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่มีเงินทุนและสเกลขนาดใหญ่ระดับ 6 ดาว
“ฮาบิแทท จะเข้าไปจับกลุ่มลักชัวรีระดับ 4-5 ดาวมีสเกลเล็กลงมาแต่มาตรฐานบริการต่างๆ ไม่ต่างกัน กลุ่มคนที่ซื้อโครงการระดับ 4-5 ดาวต้องการบริการแบรนด์เด็ดเรสซิเดนท์ ซึ่งคอนโดในพัทยาไม่มีแบรนด์เด็ดเรสซิเดนท์จึงเป็นโอกาสที่เข้าไปบุกเบิกตลาดนี้ก่อนคนอื่น”
ส่วนบ้านตากอากาศ (Vacation Home) ตลาดมีศักยภาพสูง ยิ่งหลังโควิด เพราะคนมองหาบ้านพักตากอากาศมากขึ้น ส่วนหนึ่งรับกับเทรนด์ Workation Home ที่เข้ามามีบทบาทและเติบโตสูงในอนาคต โดยเฉพาะโครงการติดริมทะเล จากซัพพลายที่มีเพียง 1% ของซัพพลายที่เหลือขายในพัทยาทั้งหมด ดึงดูดผู้ซื้อทั้งอยู่เอง ปล่อยเช่า และเพื่อการลงทุน โดยกลุ่มลูกค้าหลักเป็นคนไทยและต่างชาติที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมโซนอีอีซี เป็นระดับผู้บริหารที่ต้องการซื้อแทนเช่า ซึ่งโครงการ Vacation Home กับแบรนด์เด็ดเรสซิเดนท์ เริ่มดำเนินการปี 2566
“เรามองหาอะไรที่คนอื่นไม่ทำ ผมไม่ชอบเรดโอเชียลที่แข่งแล้วมาร์จิ้นไม่มี เพราะสเกลเราแข่งราคาสู้คนอื่นไม่ได้ แวลูแอดของเราขายความแตกต่างด้วยดีไซน์ ใส่วัสดุอุปกรณ์ลักชัวรี เพิ่มสเปซ ใส่แบรนด์และใส่การลงทุนเข้าไปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผมชอบทำของเล็กแต่ต้องดีมีคุณภาพซึ่งเป็นโพสิชั่นนิ่งของเรา”
ภาวะปกติใหม่ในอนาคตที่จะมีหน้าตาแตกต่างไปจากก่อนวิกฤติ! อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนสูง ในฐานะผู้ประกอบการ จำเป็นที่จะต้องพลิกโฉมธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ในอนาคต ที่สำคัญการบริหารจัดการความเสี่ยงธุรกิจและดูแลฐานะการเงินให้มีความทนทานต่อวิกฤติมากยิ่งขึ้น
“บริษัทต้องเปลี่ยนกลยุทธ์เพราะการอยู่แนวสูง 80% ต่อไปคงไม่ได้ ต้องบาลานซ์ความเสี่ยง มีการบริหารจัดการสภาพคล่อง ลงทุนคอนโดแต่ละครั้งเหนื่อย โควิดมา ต่างชาติหาย ธนาคารปล่อยกู้ยากขึ้น ถ้าเป็นคอนโด 100% ธนาคารไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อให้โปรเจกต์ไฟแนนท์ จึงต้องปรับแผนธุรกิจใหม่ ด้วยการบาลานซ์ธุรกิจให้ดีขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนและพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปในทุกมิติทั้งสินค้า ราคา ทำเล เซ็กเมนต์”