Smart Logistics
อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics) เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ด้วยสถานที่ตั้งอยู่บนศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนและเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เนื่องจากกิจกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์เปรียบได้กับระบบเส้นเลือดที่คอยลำเลียงสินค้าจากแหล่งกำเนิดไปจนถึงมือผู้บริโภคทั้งภายในและนอกประเทศ ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์จึงส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนของสินค้าและบริการ รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Exponential Technology ทำให้ disruption เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติทั่วโลก การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เข้ามาเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานและกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม ความแพร่หลายของอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนทำให้พฤติกรรมและ Lifestyle ของผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม ธุรกิจ E-Commerce กลายเป็นเทรนด์ของธุรกิจออนไลน์ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดและทำให้ธุรกิจร้านค้าออฟไลน์หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ ต้องปรับตัว สำหรับประเทศไทยธุรกิจ E-Commerce เองก็เติบโตเป็นอย่างมากโดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท แนวโน้มดังกล่าวจึงส่งผลให้อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ต้อง transform กลายเป็นโลจิสติกส์ 4.0 ด้วยเช่นกัน
จากการที่ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปดูงานทั้งในประเทศญี่ปุ่นและจีนรวมถึงได้เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำต่างๆ อาทิเช่น Hitachi Transport System, JD.Com, Cainiao Network ฯลฯ ผู้เขียนพบว่า ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ระดับโลกต่างทยอยปรับเปลี่ยนเข้าสู่โหมด “Smart Logistics” และ “Data Platform” โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และอุปกรณ์เครื่องมือ อาทิเช่น Cobots, Automate Picking Tools, Automatic Guided Vehicles (AGVs), Automated Storage and Retrieval Systems (AS/RS), Internet of Things (IoTs) ฯลฯ รวมถึงระบบสารสนเทศ เช่น Warehouse Management System (WMS), Inventory Control Platform ฯลฯ มาใช้ในการบริหารจัดการคลังสินค้าตามแนวคิดระบบคลังสินค้าอัจฉริยะ หรือ Smart Warehouse กันอย่างแพร่หลาย
นอกจากนั้น การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาด E-Commerce ยังผลักดันให้อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ทั่วโลกเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงทั้งด้านราคา ความรวดเร็ว และคุณภาพของการบริการ ผู้ประกอบการจึงต่างมุ่งมั่นพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการที่ดีที่สุดบนต้นทุนต่ำสุดโดยการนำ Big Data และ Machine Learning เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงาน เช่น การพยากรณ์คำสั่งซื้อ การวิเคราะห์เส้นทางจัดส่งสินค้าแบบเรียลไทม์ การวางแผนกระจายและจัดส่งสินค้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ฯลฯ ตลอดจนการใช้อุปกรณ์และยานพาหนะยุคใหม่ เช่น ระบบ GPS ติดตาม หรือโดรนสำหรับการขนส่งพัสดุขนาดเล็กเพื่อประหยัดต้นทุนและระยะเวลาการจัดส่งในช่วงระยะทางสุดท้าย (Last mile) เป็นต้น การใช้ประโยชน์ของข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาลร่วมกับพลังของเทคโนโลยียุคใหม่ทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ “ข้อมูลเป็นตัวเร่ง” และเปิดโอกาสให้เกิด “Digital Disruption” เช่นเดียวกับที่หลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญอยู่
ยุทธศาสตร์โครงการลงทุนเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาครวมถึงนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนจึงเป็นการช่วยต่อยอดความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งและเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ชาวไทยเนื่องจากการเป็นศูนย์กลางทางการค้า การส่งออกและการเติบโตของตลาด E-Commerce ของภูมิภาคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีทั้งความเชี่ยวชาญและความพร้อมด้านเทคโนโลยีทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและค้นหากลยุทธ์ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้
เนื่องจากลักษณะการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกันค่อนข้างสูงจึงจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อาทิเช่น การเป็นพันธมิตรขนส่งและจัดการสินค้าร่วมกันหรือแม้กระทั่งการ Outsource ในบางเส้นทางหรือบางประเภทสินค้าตามความชำนาญของผู้ประกอบการหลายๆ รายจะทำให้เกิดความคุ้มค่ามากกว่าการบริหารจัดการขนส่งทั้งหมดโดยผู้ประกอบการเพียงรายเดียว แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นดังกล่าวจึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงทิศทางของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทยโดยผู้ประกอบการที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาจพัฒนาตนเองในฐานะธุรกิจ Startup และเชื่อมต่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน สำหรับผู้ประกอบการโลจิสติกส์แบบดั้งเดิมนั้นการปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็น Smart Logistics หรือ โลจิสติกส์ 4.0 ก็จะเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการชาวไทยมีความพร้อมในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจที่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายและฐานข้อมูลเข้ากับระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัยของผู้ประกอบการรายใหญ่อื่นๆ อันจะช่วยลดข้อจำกัดด้านความร่วมมือและบรรเทาความรุนแรงของการแข่งขันโดยเฉพาะด้านราคาระหว่างผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ ลงได้
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเหล่านี้จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้ผู้เขียนต้องเน้นย้ำอยู่เสมอว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แต่เราสามารถรับมือกับมันได้ การมองเห็นและปรับตัวเข้ากับสภาพการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปควบคู่กับการพัฒนาตนเองให้มีคุณค่าอยู่เสมอจึงเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในยุคปัจจุบันที่ disruption นั้นกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว