The Exponential Revolution

The Exponential Revolution

นช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเราเผชิญกับโลกที่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วราวกับกำลังเหยียบคันเร่ง การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงระหว่างกันจนส่งผลให้หลายสิ่งรอบตัวเราเปลี่ยนแปลงไปด้วยอัตรายกกำลัง (Exponential) ไม่เป็นเส้นตรง(Linear) แบบค่อยเป็นค่อยไปเหมือนในอดีต

ตัวแปรสำคัญที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือพลังของ Exponential Technology หรือ เทคโนโลยีที่มีพัฒนาการเพิ่มขีดความสามารถได้แบบเท่าทวีคูณสวนทางกับราคาที่ลดลงอย่างรวดเร็วและกลายเป็นตัวขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จนเกิดเป็นสินค้าและบริการประเภทใหม่ๆ รวมถึงสร้างนวัตกรรมจากการเปลี่ยนห่วงโซ่คุณค่าและ disrupt ภูมิทัศน์การแข่งขันของอุตสาหกรรมต่างๆ ไปอย่างสิ้นเชิง อาทิ คอมพิวเตอร์ควอนตัม ที่นำคุณสมบัติของอะตอมมาใช้ในการประมวลผล หรือ Internet of Everything ที่ช่วยให้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ สามารถเชื่อมต่อถึงกันจนสามารถจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ตลอดจนพลังของโปรแกรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่เมื่อนำมาใช้ร่วมกันแล้วทำให้เกิดกระบวนการผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุ (Additive Manufacturing) ที่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลโดยที่ควบคุมต้นทุนการผลิตให้ใกล้เคียงกับการผลิตจำนวนมากเอาไว้ได้ รวมถึงเทคโนโลยีด้านชีวภาพต่างๆ อาทิ Genetic Engineering, Bioinformatics, Synthetic Biology, Personalized & Regenerative Medicine ฯลฯ ซึ่งมีประโยชน์มหาศาลต่อภาคบริการสุขภาพและภาคการเกษตร

การเข้าใจ Exponential Technology และผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเทคโนโลยีกลุ่มนี้ต่างมีความซับซ้อนในตัวเองรวมถึงหากเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันก็จะยิ่งทำให้ทรงพลังมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว อาทิ พลังของคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะทำให้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Big Data ในอนาคตสามารถเรียนรู้วิเคราะห์ได้อย่างไม่สิ้นสุด หรือ การผสมผสานของวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมและชีววิทยาในสาขาสุขภาพและการแพทย์ที่นำเอา AI มาใช้เพื่อการวินิจฉัยและรักษาเฉพาะบุคคลร่วมกับการตรวจ DNA หรือการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาโดยการใช้ Machine Learning เป็นต้น

ภาคธุรกิจของทั่วโลกจึงได้รับทั้งผลประโยชน์และผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลนี้ซึ่งองค์กรที่สามารถตั้งรับและปรับตัวโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจและการแข่งขันก็จะสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดดกลายเป็น Exponential Organization (ExO) ที่สร้างผลกระทบมากกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อการเข้าถึงและบริหารจัดการทรัพยากรทั้งภายนอก S-C-A-L-E หรือ (1) Staff on Demand (2) Community & Crowd (3) Algorithms (4) Leveraged Assets และ (5) Engagement และภายในองค์กร I-D-E-A-S หรือ (1) Interfaces (2) Dashboards (3) Experimentation (4) Autonomy และ (5) Social ให้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ Uber/ Grab/ DiDi หรือ Airbnb ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของรถหรือสถานที่พักแต่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนา Platform และ Algorithm เพื่อเชื่อมโยงผู้ให้และผู้รับบริการเข้าด้วยกันจนทำให้ทั้งบริษัท ride-sharing เหล่านี้และ Airbnb ต่างมีมูลค่าทางการตลาดสูงกว่าผู้ประกอบการรถแท็กซี่หรือผู้ให้บริการโรงแรมหลายรายที่มีสินทรัพย์กระจายอยู่ทั่วโลกเสียอีก

The Exponential Revolution

ช่วงเวลาปัจจุบันจึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทยที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ซึ่งหากพิจารณาโอกาสการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตรที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานและแหล่งการจ้างงานสำคัญของไทย อาทิ การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) ที่เน้นการนำเทคโนโลยีและการจัดการข้อมูลมาใช้ในการเพาะปลูก เช่น การนำอุปกรณ์ GPS มาช่วยลดปัญหาการหว่านเมล็ด หรือ IoT มาใช้เพื่อควบคุมปริมาณการรดน้ำ ติดตามสภาพดินและอากาศ ควบคุมโรคและศัตรูพืชฯลฯ หรือการประยุกต์ใช้ Big Data และ AI เพื่อสร้างแผนที่เกษตร (Agri-Map) ระดับประเทศเพื่อใช้วางแผนและกำหนดพื้นที่การเกษตร หรือ โอกาสในการต่อยอดอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์เนื่องมาจากการก้าวเข้าสู่ Aged Society ที่ผู้ประกอบการชาวไทยสามารถพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์พยาบาล อุปกรณ์เครื่องมือ IoT ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ นวัตกรรมอาหารสุขภาพ หรือแม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ไปสู่ระบบอัตโนมัติเพื่อรองรับการเป็นสังคมอายุยืนดังกล่าว

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะที่ผ่านมาย่อมส่งผลทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะแตกต่างไปจากเดิม รวมถึงปรากฏการณ์ Knowledge Disruption ที่ความรู้หรือทักษะเดิมๆ ที่เราต่างเคยเรียนรู้หรือทำมาในอดีตอาจไม่สามารถนำพาเราไปสู่อนาคตได้อีกต่อไป โดย World Economic Forum เองก็คาดการณ์ว่าภายในปี 2022 จะมีตำแหน่งงานเกิดใหม่ราว 133 ล้านตำแหน่งในขณะที่งานอีก 75 ล้านตำแหน่งจะกลายเป็นอาชีพที่ล้าสมัยและถูกลดความสำคัญลงเนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์

ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องเน้นย้ำอีกครั้งถึงความสำคัญของการสร้าง Exponential หรือ Growth Mindset ที่จะทำให้พวกเราทุกคนมีความกล้าที่จะก้าวออกจากความเคยชินหรือ Comfort Zone เดิมๆ และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนอันจะเป็นกุญแจสำคัญทั้งในระดับปัจเจกบุคคล องค์กร และประเทศที่จะสร้างการเรียนรู้และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งจนเกิดเป็น Lifelong Learning ที่ช่วยผลักดันให้เราสามารถพัฒนา ต่อยอด และ refresh ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตและการทำงานในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคแห่ง VUCA World ที่เต็มไปด้วยความผันผวน ไม่แน่นอน สลับซับซ้อนและคลุมเครือตลอดเวลานั่นเอง www.wha-group.com

 

จรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริษัท

และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)