“วีระชัย ธารมณีวงศ์” ไบโอวาลิส 10 ปี กับความท้าทายในตลาดวัคซีน
“วัคซีน” ถือเป็นชีวเวชภัณฑ์ที่มีความสำคัญในระบบสาธารณสุข นับเป็นเกราะป้องกันโรคต่างๆ เพื่อให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างไรก็ตาม การเลือกนำเข้าวัคซีนต้องคำนึงถึงทั้งประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และระบาดวิทยาของประเทศ ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่ง
ย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ากว่า 350 คนต่อปี หรือคิดเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตวันละ 1 คน แต่หลังจากมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดน้อยลงไม่เกิน 10 คนต่อปี จนกระทั่งในช่วงปี 2561 ประเทศไทย เกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าครั้งใหญ่ ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่วิกฤติอย่างมากเนื่องจากมีผู้สัมผัสโรคที่ต้องการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น และเนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ทำให้ไม่มีบริษัทใดที่จำหน่ายวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอกับความต้องการในขณะนั้น
บริษัท ไบโอวาลิส จำกัด โดยการนำของเภสัชกร “วีระชัย ธารมณีวงศ์” กรรมการผู้จัดการ หนึ่งในผู้นำเข้ารายใหญ่ด้านชีวเวชภัณฑ์และวัคซีนมากว่า 10 ปี ซึ่งมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนรวมป้องกันบาดทะยักและคอตีบ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตับอักเสบบี และ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมกันในเข็มเดียว วัคซีนโปลิโอ รวมถึงชีวเวชภัณฑ์อื่นๆ เช่น อิมมูโนโกลบินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จัดจำหน่ายให้แก่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นบริษัทเดียวในขณะนั้นที่สามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างเพียงพอ ทำให้ผู้สัมผัสโรคทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ทันเวลา
เภสัชกร “วีระชัย ธารมณีวงศ์” อธิบายว่า ความท้าทายอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจวัคซีน คือ ความสามารถในการจัดหาวัคซีนในช่วงวิกฤติให้เพียงพอ จากสถานการณ์ดังกล่าว ไบโอวาลิส เป็นบริษัทเดียวที่สามารถนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้เพียงพอกับที่กระทรวงสาธารณสุขต้องการจัดหา โดยมีการทำงานร่วมกับสถานเสาวภา สภากาชาดไทย และผู้ผลิตจากประเทศจีน เพื่อนำ Purified Bulk จากผู้ผลิตในจีนมาทำการผลิต แบ่งบรรจุ ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ในสถานการณ์วิกฤตนั้น หากมีวัคซีนไม่เพียงพอ อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าคาดว่าจะสูงขึ้นมากกว่าที่รายงานในปีนั้นอย่างแน่นอน
การเติบโตของตลาดวัคซีนกว่า 20 ปีที่ผ่านมา นับว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากการพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ คนมีความรู้เรื่องโรคมากขึ้น มีแนวคิดเรื่องการป้องกันโรค และเข้าใจโรคต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการในการใช้วัคซีนเพิ่มมากขึ้น ในแง่ของการวิจัยและพัฒนา (R&D) พบว่า มีวัคซีนใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร วัคซีนป้องกันไอกรนชนิดใหม่ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์
ขณะเดียวกัน ช่วงโควิด-19 แม้หลายอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ จากการที่ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลน้อยลง รวมถึงการฉีดวัคซีนเชิงป้องกันที่ลดลงเช่นเดียวกัน แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เราพบว่า การพัฒนาวัคซีนเป็นที่ถูกกล่าวถึงทั่วทั้งโลก จากเดิมวัคซีนส่วนใหญ่ เป็นประเภทวัคซีนเชื้อเป็นหรือวัคซีนเชื้อตาย แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 นั้น ทำให้เกิดการพัฒนาวัคซีน mRNA, วัคซีน DNA หรือวัคซีนจากใบยาสูบ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนาทางด้านวัคซีนที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ มาตรฐาน ความปลอดภัย และความเชื่อมั่น ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจวัคซีน เภสัชกรวีระชัย อธิบายว่า การเลือกวัคซีนที่จะนำเข้ามาจำหน่าย สิ่งแรกต้องดูความต้องการในตลาด โดยดูจากระบาดวิทยา เช่น โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคประจำถิ่นของไทย ถัดมา คือ ดูว่าใครเป็นผู้ผลิต มีมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) และ GMP PICs (Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในยุโรป รวมถึงความโดดเด่นด้านประสิทธิภาพในการป้องกันโรค และความปลอดภัย
แน่นอนว่า ในอนาคตตลาดชีวเวชภัณฑ์และวัคซีนยังมีความจำเป็น เพราะคนเราห่วงใยเรื่องสุขภาพมากขึ้น ซึ่งการให้วัคซีนเป็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อีกทั้งประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวและการได้รับวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นมาก ทำให้การใช้วัคซีนมีมากขึ้น
“ขณะที่ทางภาครัฐบาล มีนโยบายเพิ่มชนิดของวัคซีนเข้าในโปรแกรมพื้นฐาน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดวัคซีนเติบโตขึ้น ประเด็นที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน คือ ทุกวันนี้พอพูดถึงโรคโควิด-19 ทุกคนก็คิดแต่ว่าเมื่อไหร่จะมีวัคซีน แน่นอนว่าโรคที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความต้องการในการใช้วัคซีนมีมากขึ้น และตลาดจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเพราะโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ” เภสัชกรวีระชัย กล่าว
โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เภสัชกร “วีระชัย ธารมณีวงศ์” ได้รับรางวัล “บุคคลตัวอย่างในภาคธุรกิจการแพทย์แห่งปี 2020” (Quality Persons of the Year 2020) โดยมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) ซึ่งถูกจัดขึ้น เพื่อประกาศเกียรติคุณและเป็นการยกย่องบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน และการอุทิศตนทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติในด้านต่างๆ
อนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้าของ บริษัท ไบโอวาลิส จำกัด เภสัชกรวีระชัย กล่าวว่า บริษัทฯวางแผนนำวัคซีนใหม่ๆ เข้ามา โดยดูจากปัจจัยระบาดวิทยาเป็นหลัก เช่น ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเด็กเล็กที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก จำนวนมาก ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังดำเนินการจดทะเบียนกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อจดทะเบียนสำเร็จแล้วก็จะนำเข้ามาจัดจำหน่ายเพื่อใช้สำหรับป้องกันโรคนี้ให้เด็กไทยต่อไป อีกด้านหนึ่ง ขณะนี้ไบโอวาลิส อยู่ระหว่างการขอรับรอง ISO 37001 ซึ่งเป็นระบบคุณภาพด้านการต่อต้านการติดสินบน ตามนโยบายของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) โดย ไบโอวาลิส จะเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมธุรกิจการแพทย์ที่ได้รับการรับรอง ISO 37001 จากเดิมที่บริหารจัดการโดยระบบคุณภาพ ISO 9001 มาแล้วก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน แผนในระยะยาว จากวิสัยทัศน์ที่ต้องการเป็นผู้นำด้านวัคซีน และ ชีวเวชภัณฑ์ ตลอดจนมีมาตรฐานในการจัดเก็บและจัดส่งที่ดี มีจรรยาบรรณทางธุรกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรต่อสังคม รวมถึงพันธกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และดูแลภาคส่วนต่างๆ อันได้แก่ ประชากรไทย หน่วยงานของรัฐ สังคม ชุมชน ลูกค้า และพนักงานอย่างสมดุล
“เพราะฉะนั้น ในอนาคตมองว่าต้องมีวัคซีนและ/หรือชีวเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัย เป็นประโยชน์ต่อประชากรไทย ร่วมมือและสนองนโยบายกับหน่วยงานภาครัฐภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสังคมในแง่ของการบริจาควัคซีนที่จำเป็นให้แก่หน่วยงานที่จำเป็น ให้บริการลูกค้าและดำเนินธุรกิจภายใต้เกณฑ์จรรยาบรรณ และ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) ของ ไบโอวาลิส เพื่อหาคนที่เหมาะสม มาบริหารจัดการและสานต่อเป้าหมายในการดำเนินงานของบริษัทต่อไป” เภสัชกรวีระชัย กล่าวทิ้งท้าย