"ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” คำประกาศปกป้องอนาคตทะเลไทย "ประมงพื้นบ้าน"
ชาว "ประมงพื้นบ้าน" เตรียมเดินทางจาก หาดปานาเระ จ.ปัตตานี ยื่นหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกกำหนดนโยบายและประกาศมาตรการควบคุมการ ซื้อ-จับ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อแก้วิกฤตอาหารทะเลไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ 6 มิถุนายน
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ที่ปัตตานี ชาว ประมงพื้นบ้าน เริ่มออกเดินทางจากหาดปานาเระ จังหวัดปัตตานี และจะล่องเรือจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ 6 มิถุนายน เพื่อยื่นหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกกำหนดนโยบายและประกาศมาตรการควบคุมการ ซื้อ-จับ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อแก้ วิกฤติอาหาร ทะเลไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ปัจจุบัน ปริมาณ สัตว์น้ำ ที่จับได้ในทะเลไทยมีมวลรวมอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี แต่ปริมาณสัตว์น้ำที่มีขนาดเหมาะกับการนำมาบริโภคของมนุษย์มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนและสัตว์น้ำคุณภาพต่ำที่จะถูกป้อนเข้าโรงงานอาหารสัตว์และตลาดแปรรูป
“ปลาทู” เป็นหนึ่งในตัวอย่างอาหารทะเลไทยที่กำลังจะหายไป ในปี พ.ศ. 2557 ประมงไทยจับปลาทูได้ 128,835 ตัน แต่ในปี 2562 จับได้ 24,374 ตัน และในปี 2563 เหลือเพียง 18,436 ตันเท่านั้น ขณะเดียวกัน ตัวอ่อนปลาทู รวมถึงตัวอ่อนของอาหารทะเลอื่น ๆ กลับถูกพบวางขายในห้างและตลาด ในรูปแบบสินค้าแปรรูป เช่น ปลาสายไหม ปลาข้าวสาร
หากสถานการณ์โดยรวมของอาหาร ทะเลไทย ยังอยู่ในภาวะเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องกับระบบนิเวศและชุมชนชายฝั่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะเข้าถึงอาหารทะเลที่มีคุณภาพสูงได้น้อยลง กิจกรรมรณรงค์ “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู - หยุดจับ หยุดซื้อ หยุดขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน” จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐกำหนดนโยบายและประกาศมาตรการควบคุม และส่งเสริมให้ผู้ขาย ผู้บริโภค และชาวประมงตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างจริงจัง
"ปิยะ เทศแย้ม" นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และหนึ่งในชาวประมงที่จะเดินทางมายื่นหนังสือกล่าวว่า “การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนทำให้ประมงพื้นบ้านที่เป็นประมงขนาดเล็กได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงผู้บริโภคที่ต้องซื้ออาหารทะเลในราคาที่แพงขึ้น การรณรงค์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับความมั่นคงทางอาหารในอนาคต”
“ทุกภาคส่วนควรเข้าถึงทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเท่าเทียม โดยมีสามส่วนหลัก ๆ ที่ต้องให้ความสำคัญ คือ รัฐ คนจับ และผู้บริโภค สามส่วนนี้ต้องสัมพันธ์กัน รัฐต้องดูเรื่องข้อกฎหมาย ทำอย่างไรให้ทุกคนอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่มีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งประมงขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ชาวประมงต้องตระหนักเสมอว่าวิธีการทำประมงต้องทำอย่างยั่งยืน ส่วนผู้บริโภคก็จะต้องมีรับผิดชอบ ไม่สนับสนุนการทำประมงที่จับสัตว์น้ำวัยอ่อน”
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า อาหารทะเลเป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์ทางสารอาหารสูง และเป็นผลผลิตธรรมชาติของเกษตรกรประมงไทย แต่ผู้บริโภคเริ่มเข้าถึงอาหารทะเลสดได้ยากขึ้น อาหารทะเลสดมีราคาสูงจนผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางอาจได้ทานอาหารทะเลในโอกาสสำคัญๆเท่านั้น
"ภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย และเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเข้มแข็ง จึงควรตระหนักถึงปัญหาแล้วประกาศมาตรการควบคุม เชื่อว่าเมื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้ จะสามารถเพิ่มปริมาณอาหารทะเลให้มีคุณภาพมากขึ้น ราคาอาหารทะเลลดลงจนถึงระดับที่เหมาะสมผู้บริโภคทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น”
กิจกรรม “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ชาวประมงพื้นบ้านจะเริ่มออกเดินทางจากหาดปานาเระ จังหวัดปัตตานี โดยระหว่างทางจะมีการจัดกิจกรรมและเสวนาปัญหาสัตว์น้ำวัยอ่อนและปัญหาประมงในแต่ละพื้นที่ ก่อนล่องเรือจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ายื่นหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สัปปายะสภาสถาน กรุงเทพฯ