เปิดสูตร ดึงคนทำงาน "Gen Z" จัดการองค์กรอย่างไรให้ได้ใจคนรุ่นใหม่
ปัจจุบัน หลายองค์กรเริ่มปรับการทำงานเพื่อตอบโจทย์ "คนรุ่นใหม่" กลุ่ม "Gen Z" มากขึ้น ขณะเดียวกัน การบาลานซ์การทำงานในทุกเจนเนอเรชั่น และความหลากหลายขององค์กรก็เป็นสิ่งสำคัญ ถือเป็นความท้าทายที่องค์กรต้องก้าวผ่านเพื่อไปสู่เป้าหมาย
Gen Z หรือ ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2540 – 2555 เป็นกลุ่ม คนรุ่นใหม่ ไฟแรงที่กำลังก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงาน และนับเป็นแรงขับเคลื่อนที่จะพาองค์กรไปสู่ความทันสมัยก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้น การเข้าใจธรรมชาติของ Gen Z จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่แต่ละองค์กรให้ความสำคัญ เพื่อดึงศักยภาพคนทำงานรุ่นใหม่ออกมาได้อย่างดีที่สุด
บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2544 ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมา 20 ปี มีพนักงานมากกว่า 90,000 คนทั่วโลก และมีพนักงานในไทยกว่า 400 คน นับเป็นหนึ่งในบริษัทที่ขับเคลื่อนองค์กรให้ทันสถานการณ์และความต้องการของคนทำงานรุ่นใหม่ หรือ Gen Z ที่ผสานการทำงานร่วมกับเจนอื่นๆ ในองค์กร ดึงความหลากหลาย ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
“รานีวรรณ รามศิริ” ผู้อำนวยการ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า คนรุ่นใหม่ Gen Z เป็นกลุ่มที่เกิดมาในยุคที่การเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย ขณะเดียว เมดโทรนิค มีความหลากหลายของเจนเนอเรชั่น ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงพนักงาน ความเชื่อของเรา คือ องค์กรต้องมีความหลากหลาย ทุกเจนเนอเรชั่นมีจุดแข็ง และจุดอ่อนแตกต่างกันไป Gen Z เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง เทคโนโลยีเป็นเรื่องง่าย และกล้าพูด กล้าท้าทาย กล้าให้ความเห็นสิ่งที่ดีที่สุดในมุมมองของเขา ดังนั้น Gen Z จะช่วยให้องค์กรปรับใช้เทคโนโลยีได้เร็ว
“ไอเดียต่างๆ เราจะได้รับฟีดแบคจากคนกลุ่มนี้ได้ง่ายกว่า แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ด้วยความที่ไวต่อเทคโนโลยี คิดไวทำไว ทำให้คนกลุ่มดังกล่าว ต้องการเติบโตไว และอาจไม่ได้มีความอดทนในสิ่งต่างๆ ที่ไม่ใช่เส้นทางของเขามากเท่ากับเจนอื่น ดังนั้น การที่จะได้คนกลุ่มนี้มาทำงาน”
สร้างคุณค่าให้กับงาน
รานีวรรณ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เมดโทรนิคมอง คือ กลุ่ม Gen Z จะมองหาคุณค่าในงาน ดังนั้น เรามองว่าการที่เขาได้มาทำงานกับเมดโทรนิค ไม่ใช่มาเป็นเซลล์ แต่ให้เห็นว่าเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยได้จริง และบุคลากรทางการแพทย์ เวลาทำงานกับเรา เขามองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ชีวิตคนๆ หนึ่งดีขึ้น ปลอดภัย และคุณภาพชีวิตเปลี่ยน มีคุณค่าในเนื้องานที่ทำ ขณะเดียวกัน ต้องมีระบบการฝึกอบรมต่อเนื่อง ล้ำสมัยมากพอ รวมถึงการเปิดรับความคิดเห็น มีช่องทางให้กลุ่มนี้ได้แสดงไอเดีย
ปีที่ผ่านมา ได้มีการเปิดโครงการ Thai Go โดยมุ่งทั้งในเรื่องของ Talent Destination เป็นองค์กรที่น่าทำงาน โดยไม่ใช่แค่ผู้บริหารคิดอย่างเดียว แต่ให้น้องๆ Gen Z ช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้องค์กรน่าอยู่ รวมถึง High Performing ทำอย่างไรให้น้องๆ ทำงานแล้วรู้สึกว่าทำงานได้รวดเร็ว ดั่งใจ ประสบความสำเร็จ
กลยุทธ์ในการเติบโตที่เหนือกว่าคู่แข่งในตลาด นอกจากกลยุทธ์ที่บริษัทคิดมาแล้ว มีอะไรที่เขาอยากนำเสนอ สามารถเสนอโครงการที่ทำให้ทำงานง่ายขึ้น เช่น มีอินโนเวชั่น เว็บไซต์ โชว์รูม หลายโครงการเกิดมาจากไอเดียน้องกลุ่ม Gen Z
เปิดโอกาส ในการหาประสบการณ์
ขณะเดียวกัน รูปแบบการทำงาน พยายามให้ตอบโจทย์ Gen Z คือ รวดเร็ว ทันสมัย มีช่องทางให้เขาได้แสดงความคิดเห็น แสดงไอเดีย สุดท้าย ให้เขาเห็นว่าเขาเติบโตได้ในองค์กร ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่มีโครงการ Talent Exchange หากอยากมีประสบการณ์ร่วมในประเทศอื่นๆ สามารถแลกเปลี่ยนบุคลากรได้ อาทิ ก่อนโควิด-19 มีการส่งบุคลากรไปแลกเปลี่ยนที่ไต้หวัน โดยทำงานอยู่ 2-3 ปี รวมถึงรับคนญี่ปุ่น มาทำงานกับทีมเพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การทำงาน ภาษา เป็นต้น
บาลานซ์การทำงานทุกเจนฯ
อีกทั้ง เมโทรนิค ต้องการเป็น Talent Destination ไม่ว่าจะเจนไหน สิ่งสำคัญ คือ บาลานซ์ทุกเจนเนอเรชั่น เพื่อให้ทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข เพราะทุกคนมีความแตกต่างกัน เราจะทำอย่างไรให้องค์กรสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ในมุมของทุกเจนเนอเรชั่น ไม่ได้มองถึงแค่งาน มาทำงานกลับบ้าน ไม่ใช่แค่ทำเพื่อให้ได้รายได้ แต่งาน คือ สิ่งที่ตอบโจทย์ประสบการณ์ที่อยากได้ในการทำงาน ทำอย่างไรให้งานเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์พนักงาน ดังนั้น การที่สามารถตอบโจทย์พนักงานได้ หรือต้องการให้องค์กรปรับปรุงตรงไหนเพื่อให้เขาอยู่ในองค์กรได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเจนไหนก็ตาม การรับฟังความคิดเห็นพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ"
ดังนั้น ไม่ว่าจะโครงการใดก็ตาม เมดโทรนิค ต้องการให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการออกไอเดีย รับฟังว่าพนักงานมีความคิดเห็นอย่างไร เพื่อให้ผู้บริหารเข้าใจพนักงานในทุกเจนเนอเรชั่น อะไรที่เราสามารถทำได้ แล้วพนักงานมีความสุข เราก็อยากจะทำเพื่อให้องค์กรเป็นองค์กรที่น่าอยู่ และหลังจากที่พนักงานมีความสุขในการทำงาน ทุกคนอยากมาทำงาน ก็จะส่งผลต่อ Productivity ด้วย
รับฟังความเห็น ส่งเสริมการเติบโตในมุมกว้าง
รานีวรรณ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน เทรนด์ของ HR ทั่วโลก ไม่จำเป็นที่พนักงานจะเติบโตในแนวดิ่งเสมอไป แต่ตอนนี้สามารถเติบโตในมุมกว้างได้ด้วย เช่น ตอนนี้เป็น HR วันหนึ่งอยากเป็นเซลล์หรือตำแหน่งไหนที่ไม่ใช่ HR แล้ว พนักงานมีสิทธิตัดสินใจ มีสิทธิแชร์ในสิ่งที่เขาอยากเติบโต และบริษัท พร้อมสนับสนุนอัพสกีล ให้สามารถบรรลุจุดประสงค์ได้
อีกทั้ง เน้นในเรื่องของการสื่อสารแบบสองทาง (2 way communication) โดยเปิดช่อง Raneewan’s Inbox “รานีวรรณอินบ็อกซ์” ช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้บริหารรวมถึงพนักงานทุกคนในองค์กรสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นโดยไม่เปิดเผยตัวตน โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการรับคำติชม ช่วยให้พนักงานทุกคนมีพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างอิสระ เพื่อนำความคิดเห็นนั้นมาปรับใช้ในการพัฒนาองค์กรร่วมกัน
Hybrid Work Model
ขณะเดียวกัน ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา การทำงานเปลี่ยนไปต้อง Work from Home (WFH) 100% ดังนั้น ขณะนี้ จึงมีการสำรวจความคิดเห็นพนักงาน ผู้บริหาร ระหว่างการทำงาน 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากมีการ WFH และทำ Hybrid Work Model พนักงานเข้ามาทำงาน 2-3 วัน และ 2 วันสามารถทำงานที่บ้านได้ เนื่องจากไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต ตอนนี้ค่อนข้างเปลี่ยนไป Work Life Balance เป็นสิ่งสำคัญ
Focus Friday เพื่อใช้เวลาวันหยุดอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องของ Hybrid Work Model เท่านั้น มีการทำ Focus Friday Campaign ส่งเสริมให้พนักงานมีความสมดุลในชีวิตส่วนตัว ปลูกฝังการจัดประชุมให้พนักงานทุกคนเคารพเวลาร่วมกัน และหลีกเลี่ยงการรบกวนเวลาส่วนตัวของพนักงานหลังจากชั่วโมงทำงานหรือในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อให้ทุกคนมี Work Life Balance โดยหลีกเลี่ยงการนัดประชุมในทุกวันศุกร์เพื่อให้พนักงานมีเวลาสะสางงานในช่วงสัปดาห์เพื่อที่จะพักผ่อนในช่วงสุดสัปดาห์ ให้พนักงานมีเวลาส่วนตัวใช้เวลากับครอบครัวได้เต็มที่
ช่องว่างระหว่างวัย ความท้าทายองค์กร
สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างเจนเนอเรชั่น "รานีวรรณ" ยอมรับว่ามีช่องว่างบ้าง แต่ถือเป็นความท้าทายขององค์กร ในความหลากหลาย สุดท้ายก็มีประโยชน์กับองค์กร ความหลากหลายก็นำมาซึ่งความท้าทาย เจนเก่าจะมีความละเอียด รอบคอบ สู้ศึก เจนใหม่ รวดเร็ว สั้น กระชับ ถามว่าเราบาลานซ์ตรงนั้นอย่างไร คิดว่าส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรมีส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะทำงานด้วยสไตล์ไหน แต่เป้าหมายเดียวกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเถียงกันแต่สุดท้ายเราก็ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้งานออกมาดี ออกมาเร็ว
ถัดมา คือ ต้องสร้างวัฒนธรรมของการรับฟัง เห็นต่างได้ แต่ต้องไปในเป้าหมายเดียวกัน ยอมรับในความเห็นต่าง และมาประเมินร่วมกันว่าตรงไหนเป็นแนวทางที่ดีที่สุด และสุดท้าย สิ่งที่ทำให้แต่ละเจนทำงานด้วยกันได้ คือ การที่องค์กรวางแนวทางเน้นในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร ดังนั้น เจนเก่า พยายามสร้างองค์ความรู้ โครงการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับทีม และตัวเขาเองก็ปรับเข้ากับเทคโนโลยี
"ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ ก็เปิดช่องในการรับฟังความเห็นหลายช่องทาง สร้างการทำงานเป็นทีม ทำให้สามารถได้ประโยชน์ทั้งด้านความหลากหลาย ความเท่าเทียม ซึ่งตรงนี้ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปในโลกปัจจุบันที่ต้องการจุดแข็งของทุกเจน และส่งผลประโยชน์ต่อองค์กร ถามว่ายากหรือไม่ ยากอยู่แล้วในช่วงต้น แต่สุดท้ายทุกคนจะเห็นประโยชน์ในหลายๆ เจนที่ทำงานร่วมกัน" รานีวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
สถานที่ทำงานยอดเยี่ยม
ทั้งนี้ ล่าสุด เมดโทรนิค ได้รับรางวัลสถานที่ทำงานที่ยอดเยี่ยม (Great Place to Work-Certified™) ได้สำรวจพนักงานมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2535 โดยใช้ข้อมูลเชิงลึกนั้นเพื่อพิจารณาว่าอะไรที่เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เป็นบริษัทที่ยอดเยี่ยมและได้รับความไว้วางใจ โดยผลสำรวจพนักงาน เมดโทรนิค ประเทศไทย ได้รับคะแนนความพึงพอใจสูงสุด 98% ในด้านการปฏิบัติงานอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ อีกทั้ง 95% พนักงานมีความภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้ร่วมทำงานกับเมดโทรนิค และได้รับการสนับสนุนในด้านทรัพยากรความรู้และอุปกรณ์ในการทำงาน สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของเมดโทรนิค (ประเทศไทย) ในการสร้างองค์กรให้เป็นสถานที่ทำงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับพนักงานทุกคน