"ธัญวัจน์" แจงสถานะร่าง "สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต" ชี้รับ 2 ร่าง พร้อมกันได้
หลังจาก ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมผ่านวาระแรกไปแล้ว ฟัง "ธัญวัจน์" ในฐานะผู้ร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม บอกถึงความก้าวหน้าของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ
ผ่านมาแล้วหนึ่งเดือนหลัง สภาผู้แทนราษฎรรับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ 4 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนั้นมี ร่าง พ.ร.บ. "สมรสเท่าเทียม" และ ร่าง พ.ร.บ. "คู่ชีวิต" ที่หลายคนกำลังจับตา
แม้ในร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ จะมีส่วนที่คล้ายคลึงกันของเนื้อหาในเรื่องของการทำให้สิทธิ์ของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGTBQ+ แต่ในรายละเอียดของเนื้อหารายมาตรานั้นยังคงมีความแตกต่างกันอยู่
ทั้งนี้ "ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์" ส.ส. พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิมเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่....) พ.ศ.... หรือ "ร่างสมรสเท่าเทียม" เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญว่า ในวาระแรกได้รับหลักการจากสภา 4 ทั้งร่าง
ได้แก่ 1.ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ. …. หรือ “สมรสเท่าเทียม” เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และ คณะ พรรคก้าวไกล
2. ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ.... ซึ่ง เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)
3. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.. ซึ่ง ครม. เป็นผู้เสนอ
4. ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งร่างนี้โมีเนื้อหาสาระแตกต่างจาก ครม. คือการจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้นให้สิทธิ์กับคนทุกเพศ
ธัญวัจน์ กล่าวว่า กระบวนการของคณะกรรมาธิการวิสามัญต้องพิจารณาทั้ง 2 หลักการที่สภาได้ผ่านวาระที่ 1 มาแล้ว กล่าวคือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของ ครม. และประชาธิปัตย์ รวมเป็นหนึ่งร่าง โดยพิจารณาควบคู่กันไปทำให้เป็นร่างพระราชบัญญัติสมบูรณ์ที่สุด
และ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ “สมรสเท่าเทียม” และ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์ของ ครม. ก็ต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน และทำให้ร่างสมบูรณ์ที่สุดเช่นกัน
“ทุกหลักการสำคัญที่ผ่านวาระแรกในแต่ละร่างกฎหมายต้องถูกนำมาพิจารณาจะปัดทิ้งหลักการใดหลักการหนึ่งไม่ได้ และเมื่อเป้าหมายคือพิจารณา 2 หลักการสำคัญ ผลลัพธ์คือมีร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและคู่ชีวิตกลับเข้าสู่สภาในวาระ 2 และ 3 และจะมี 3 ทางเลือกคือ รับสมรสเท่าเทียมไม่รับคู่ชีวิต ไม่รับสมรสเท่าเทียมแต่รับคู่ชีวิต หรือสภารับทั้งสองร่างเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน สมรสเท่าเทียมคือสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกเพศ และคู่ชีวิตคือกฎหมายทางเลือกที่มีส่วนแตกต่างจากการสมรส” ธัญวัจน์กล่าว
สุดท้ายแล้ว ธัญวัจน์ ระบุว่า สภาสามารถรับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับได้ หากคำนึงถึงผลประโยชน์และชัยชนะของประชาชนสูงสุด ไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงร่างหนึ่งเพราะร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวให้สิทธิ์กับคนทุกเพศ หากยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศส ก็มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมและคู่ชีวิตได้
แต่หากฝ่ายรัฐบาลเลือกรับเพียงแค่ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตและปัดสมรสเท่าเทียมตกในวาระ 3 ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวว่าเป็นเรื่องการเมือง เป็นชัยชนะของผู้มีอำนาจแต่เป็นความพ่ายแพ้ของประชาชน