เมื่อโลกป่วยขั้นวิกฤต จะ "กู้โลก" ได้อย่างไร ?

เมื่อโลกป่วยขั้นวิกฤต จะ "กู้โลก" ได้อย่างไร ?

"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" นับเป็นปัญหาระดับโลก การจะ "กู้โลก" ให้รอดพ้นจากวิกฤติ ต้องอาศัยความร่วมมือกับ หลายภาคส่วน รวมถึงนวัตกรรมเข้ามาช่วย และแม้ปัญหาเหล่านี้จะเป็นวิกฤติ แต่ CEO หลายคนมองว่าเป็นโอกาส หากรู้จักปรับตัว

วานนี้ (19 ก.ค. 65) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวช่วงเสวนา เสวนา “โลกป่วยขั้นวิกฤต จะ กู้โลก ได้อย่างไร” ภายในงาน งาน ESG Symposium 2022 จัดโดย เอสซีจี โดยระบุว่า ตอนนี้โลกมีความเสื่อมลงค่อนข้างเยอะ สิ่งสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดปัญหามานานและจะทวีความรุนแรงต่อไป เราพูดกันเยอะในเรื่องสร้างความยั่งยืน แต่หากไม่แก้ไขด้าน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกก็จะค่อยๆ ถดถอยลง

 

อีกทั้ง ปัญหาฝุ่นควัน เกิดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย ทำให้สิ่งแวดล้อมเสีย เวลาพูดถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่ค่อยตระหนัก เรารู้ผลกระทบแต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ฝุ่นควันเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน โดยเฉพาะการเผาแปลงการเกษตร

 

ดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบรุนแรง สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความตระหนักสำหรับพวกเราทุกคน ปัญหากระทบตัวเราเองเป็นบุคคล โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ กระทบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การเกษตร สมัยก่อนเราพึ่งพาธรรมชาติได้ แต่ตอนนี้พึ่งพาธรรมชาติไม่ได้ เช่น น้ำฝน แต่ก่อนเราทำเกษตรอินทรีย์ตอนนี้ต้องใช้สารเคมี ในภาคอุตสาหกรรม ความยั่งยืนไม่มี ขาดวัตถุดิบ โลกป่วยเชื่อว่าจะรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อประเทศ

 

ที่สำคัญ คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาสากล การจะแก้ไข ต้องแก้ไขจากทุกภาคส่วนร่วมกัน ดังนั้น นวัตกรรมจะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ และต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมาจากภาครัฐ เอกชน ประชาชน รวมถึงต่างประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เอสซีจีร่วมมือ 300 องค์กรพันธมิตร ผลักดันโรดแมปสู่เน็ตซีโร่

นวัตกรรม กู้โลก

 

ดร.กิติพงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราทำได้หลายอย่างในการดูแลโลก หนึ่งในนั้น คือ นวัตกรรม เพราะทำให้เรามีหนทางใหม่ในการแก้ไข ทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่ หากจะแก้ปัญหาได้ด้วยนวัตกรรม ต้องมีกลไก 3 อย่าง คือ

  • กลไกด้านความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ
  • การแก้ปัญหาต่างๆ ต้องการความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ
  • การสนับสนุน จากทั้งระดับนโยบายภาครัฐ

 

โลกร้อน วิกฤติ โอกาส ?

 

"ภราดร จุลชาต" ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการประชุม CEO FORUM ความเห็นจากผู้บริหารกว่า 60 องค์กร ทั้งภาคการผลิต อสังหาริมทรัพย์ บรรจุภัณฑ์ การเงิน ในเชิงของธุรกิจผู้ที่เข้าร่วมกว่า 69% จาก 60 องค์กร มองว่า สภาวะโลกร้อนจะส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินกิจกรรม กิจการการผลิตเพิ่ม 29% มองว่ากระทบปานกลาง และเกือบ 100% มองว่ากระทบตั้งแต่ระดับกลางถึงมาก

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 5-6 ปีหลัง 46% มองว่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่ม 21% มองว่าส่งผลต่อรายได้ และที่น่าสนใจ คือ 13% พบว่า เป็นโอกาส

 

“หากรู้จักปรับตัวจะกลายเป็นโอกาส เพราะกำลังมองว่าโลกไปทางไหน เรามีแรงกดดันตั้งแต่ยุโรป สหรัฐ NGO และลูกค้า ผลิตภัณฑ์ บริการ ต้องปรับตัวเพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่มองเห็นโอกาส”

3 มิติทางออกของสังคม

 

ทั้งนี้ จากการประชุมดังกล่าว ได้ข้อสรุปในแง่ของทางออก แบ่งเป็น 3 มิติของสังคม ได้แก่

1. มิติสังคมพิชิตพลังงาน ในแง่ของภาคอุตสาหกรรม บริการ เริ่มจากอยากจะมองเห็นตั้งแต่มีฐานข้อมูลของประเทศในการจัดการด้านพลังงาน ตั้งแต่ระดับประเทศถึงระดับองค์กร ว่าเราอยู่ตรงไหนและจะไปทางไหน นอกจากนี้ ทุกองค์กรทยอยปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานที่ลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก และปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต บริการ ลดการใช้พลังงาน หรือทำให้มีการใช้ประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำอย่างไรให้มีการซื้อขาย คาร์บอนเครดิต ได้รับความนิยม

2. มิติสังคมไร้มลพิษ ทำอย่างไรให้สินค้าบริการไร้ขยะ ไม่ว่าจะวัตถุดิบ กระบวนการผลิต เกิดการหมุนเวียนให้ได้

3. มิติสังคมบริโภคอย่างยั่งยืน ทำอย่างไรให้ผู้บริโภค ที่จะบริโภคอย่างรับผิดชอบ ลดความฟุ่มเฟือย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรให้เกิดขึ้น เช่น การส่งเสริมให้เกิดการแยกขยะ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ทุกมิติจะสำเร็จได้ ภาคเอกชนทำฝ่ายเดียวไม่ได้ สิ่งที่ต้องการได้รับความสนับสนุน อย่างมาก คือ ภาครัฐ ตั้งแต่เรื่องการกำหนดแผนแม่บท ปรับเปลี่ยนกฎหมายกฎระเบียบ เพื่อเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

 

ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมพลาสติก สิ่งที่ฟันฝ่ามา 3 ปีและประสบความสำเร็จแล้ว คือ ขวดน้ำดื่ม ในที่สุดก็สามารถปลดล็อกให้สามารถนำวัสดุรีไซเคิล นำไปผสมและใช้ขวดน้ำดื่มได้ ภายใต้มาตรฐาน เป็นตัวอย่างของกฎหมาย กฎระเบียบ ที่อดีตทำไม่ได้ แน่นอนว่า BOI ลดหย่อนภาษี ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และภาครัฐเองอาจจะเป็นผู้นำในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อสร้างดีมานด์ และสุดท้าย คือ เรื่องของความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ทำอย่างไรให้เดินไปด้วยกันได้

 

มองเห็นความสำคัญโลก เพื่ออนาคตคนรุ่นใหม่

 

“คณาเนศ เวชวิธี” ทีมพัฒนาโปรแกรมแปลภาษามือ และเกมส์ออนไลน์เพื่อการศึกษา โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ในฐานะคนรุ่นใหม่ อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความเป็นพลเมืองของโลก ถ้าเราตระหนักว่าเราเป็นพลเมืองของโลก เราก็จะมองเห็นความสำคัญของโลก

 

ขณะเดียวกัน ฝากถึงผู้ใหญ่หลายคนที่มีทัศนคติ ความเชื่อเดิม หันมารับฟัง ไม่ตีกรอบความคิด ให้อำนาจเยาวชนตัดสินใจ เพราะพวกเขาคือคนรุ่นใหม่ที่จะได้รับผลกระทบจากโลกนี้มากที่สุด เพราะถึงแม้วันนี้จำนวนประชากรของ New Gen มีเพียง 30% แต่เขาคือ 100% ของอนาคต