ลักลอบนำเข้า "ยาเถื่อนโควิด" สะท้อนความต้องการผู้ป่วย
บก.ปคบ. บุกจับ "ยารักษาโควิดเถื่อน" ทั้ง "ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์" รวมกว่า 2,300 กล่อง 8 หมื่นเม็ด ชวนตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการ "รักษาโควิด" ของไทย
ถึงวันนี้โควิด-19 ระบาดมาสองปีครึ่งแล้ว แต่ผู้ป่วยโควิดในไทยยังรู้สึกว่าการเข้าระบบการรักษายังไม่ราบรื่นเหมือนกับที่รัฐโฆษณา การลงทะเบียนออนไลน์ยังไงๆ ก็ต้องเจอข้อติดขัด
ยิ่งเห็นข่าวกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) บุกจับกุม "ยารักษาโควิดเถื่อน" ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ รวมกว่า 2,300 กล่อง 8 หมื่นเม็ด มูลค่า 10 ล้านบาท ยิ่งต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการรักษาโควิดของไทย
เรื่องของเรื่องคือองค์การอาหารและยา (อย.) ร่วมกับ บก.ปคบ. สืบหาแหล่งขายยาโมลนูพิราเวียร์ผิดกฎหมายทางสื่อออนไลน์พบมีการลักลอบนำเข้ายารักษาโควิด เช่น โมลนูพิราเวียร์ ฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ สเปรย์พ่นจมูกที่มีส่วนประกอบของ Nitric Oxide เป็นต้น โดยไม่รับอนุญาต ไม่ผ่านด่าน อย. ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ไม่ผ่านการพิจารณาเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยา
ยาเหล่านี้ถูกลักลอบนำเข้ามาจากอินเดียโดยผู้ต้องหารู้จักกับคนอินเดีย จึงขอให้ช่วยซื้อและส่งมาลักลอบนำเข้ามาในไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า ยาที่จับเหล่านี้ไม่ทราบว่าเป็นยาจริงหรือปลอม แต่เป็นยาเถื่อน ไม่มีการขึ้นทะเบียน ก็จะนำไปทำลายต่อไป ไม่มีการนำไปบริจาคหรือนำไปใช้ต่อ
ความน่าสนใจหรือคีย์เวิร์ดของเรื่องนี้อยู่ที่ “อินเดีย” ถ้าจำกันได้ราวเดือน มี.ค.-พ.ค. 2564 อินเดียระเนระนาดด้วยโควิดสายพันธุ์เดลตา ภาพผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ออกซิเจนไม่มีพอให้คนไข้ ศพล้นไม่มีที่เผา อินเดียในฐานะประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ต้องระงับส่งออกวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อสงวนไว้ใช้ในประเทศ ผ่านไปไม่กี่เดือน ราว ต.ค. 2564 อินเดียประกาศว่าคุมสถานการณ์ได้แล้วและเตรียมส่งออกวัคซีนโควิดอีกครั้ง
นั่นคือเรื่องราวปีก่อนสถานการณ์โควิดตอนนี้ถือว่าทรงตัว ผู้คนติดกันเยอะแล้วคนที่ติดจึงมีความเข้าใจในโรคขณะที่คนยังไม่ติดก็หวาดระแวงกันต่อไป แต่เมื่อติดแล้วทุกคนอยากได้ยา พวกอาการน้อยรักษาตามอาการยังพอเข้าใจได้ แต่คนอาการหนักยาเป็นสิ่งจำเป็น
ข่าวคราวการลักลอบนำเข้ายารักษาโควิด-19 จากอินเดียชี้ให้เห็นว่า ถ้ายาอินเดียไม่เจ๋งจริงคงไม่มีใครอยากได้ คำว่า “ยาเถื่อน” ในที่นี้ รมว.สธ.บอกเองว่าเป็นยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนจะเป็นยาจริงหรือยาปลอมก็ยังไม่ทราบ ถ้าเช่นนั้นควรพิสูจน์กันหน่อยดีมั้ยว่าจริงหรือปลอม ถ้าจริงจะเอาไปทิ้งละหรือ ก็ในเมื่อยามีประสิทธิภาพรักษาได้ และการระบาดของโควิดยังไม่สิ้นสุด เก็บยาไว้รักษาคนที่ต้องการจะดีกว่า เว้นเสียแต่ว่าพิสูจน์แล้วพบว่าเป็น “ยาปลอม” อันนั้นถ้าจะทำลายทิ้งก็ถือเป็นเหตุผลสมควร