เบาหวานคร่าชีวิตทุก 5 วินาที! เอเชียร่วมสู้ศึกน้ำตาล ติดฉลาก-ขึ้นภาษี-จำกัดโฆษณา

เบาหวานคร่าชีวิตทุก 5 วินาที! เอเชียร่วมสู้ศึกน้ำตาล ติดฉลาก-ขึ้นภาษี-จำกัดโฆษณา

‘เบาหวาน’ คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปทุก 5 วินาที และไทยก็ไม่เว้นจากวิกฤตินี้ การบริโภคน้ำตาลสูงเกินไปเป็นสาเหตุสำคัญ เหล่าประเทศในเอเชียจึงประกาศศึกกับเบาหวาน ด้วย 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่ ติดฉลากแบ่งเกรด ขึ้นภาษีความหวานให้สูง และจำกัดโฆษณาเครื่องดื่มน้ำตาล

KEY

POINTS

  • คนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานสูงถึง 6.5 ล้านคน ตามข้อมูลจากกรมควบคุมโรค
  • สิงคโปร์ยังต้องการขยายการจัดเกรดเครื่องดื่มไปยังอาหารที่มี “โซเดียม” และ “ไขมันอิ่มตัวสูง” ด้วย
  • ไต้หวันออกระเบียบบังคับใช้ในปี 2016 “ห้ามแถมของเล่น” ร่วมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีไขมัน โซเดียม หรือน้ำตาลเกินกำหนด 

ในทุก ๆ 5 วินาที ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจาก “เบาหวาน” 1 คน โรคร้ายนี้เปรียบเสมือนมัจจุราชที่คอยพรากชีวิตผู้คนไปอย่างไม่เลือกหน้า โดยคนไทยป่วยเป็นโรคนี้สูงถึง 6.5 ล้านคน ตามข้อมูลจากกรมควบคุมโรค

ด้วยจำนวนผู้ป่วยเบาหวานที่พุ่งทะยานทั่วโลก รวมถึงก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในอวัยวะอื่น ๆ ตามมา จึงจุดกระแสให้ “รัฐบาลทั่วทั้งเอเชีย” ประกาศทำสงครามกับเบาหวาน ด้วยการกดปริมาณบริโภคน้ำตาลของประชาชนให้น้อยลง ซึ่ง มาตรการหลักที่ใช้มีอยู่ 3 ประการ” ได้แก่ ติดฉลากแบ่งเกรดเครื่องดื่มน้ำตาล ขึ้นภาษีความหวาน และจำกัดโฆษณาผลิตภัณฑ์น้ำตาลสูง

ฉลากแบ่งเกรด เปลี่ยนพฤติกรรมเลือกซื้อ

หนึ่งในประเทศแถบเอเชียที่เข้มงวดกับเรื่องนี้มากที่สุด คือ “สิงคโปร์” ด้วยการติดฉลากแบ่งเกรดสุขภาพเครื่องดื่มเป็น 4 ระดับตามระดับน้ำตาล (Nutri-Grade) ไม่เว้นแม้แต่ชานมไข่มุกยอดฮิตก็ต้องติดฉลากด้วย ประสานบริษัทเครื่องดื่มต่าง ๆ ให้ลดปริมาณน้ำตาล ไปจนถึง “เป็นประเทศแรกของโลก” ที่แบนโฆษณาเครื่องดื่มน้ำตาลสูงในทุกช่องทาง 

เบาหวานคร่าชีวิตทุก 5 วินาที! เอเชียร่วมสู้ศึกน้ำตาล ติดฉลาก-ขึ้นภาษี-จำกัดโฆษณา - ฉลาก Nutri-Grade ของสิงคโปร์ -

เดิมที ชาวสิงคโปร์ก็ติดหวานไม่แพ้กัน โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายยาคูลท์ในสิงคโปร์พุ่งไปถึง 80 ล้านขวด ทั้งที่ประชากรประเทศนี้อยู่ที่ราว 5.9 ล้านคน จนกลายเป็นประเทศที่ติดอันดับ 4 ด้านยอดบริโภคยาคูลท์ของโลก

แต่ด้วยฉลากกำกับที่รัฐบาลออกมาบังคับ ได้พลิกยอดขายยาคูลท์นี้ให้ร่วง เนื่องจากบริษัทถูกบังคับให้ใส่เกรดโภชนาการ “D” ลงไปในฉลาก ซึ่งหมายถึงมีน้ำตาลมากที่สุดและไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด และต้องหยุดเกือบทุกการโฆษณาผลิตภัณฑ์ เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง

เบาหวานคร่าชีวิตทุก 5 วินาที! เอเชียร่วมสู้ศึกน้ำตาล ติดฉลาก-ขึ้นภาษี-จำกัดโฆษณา

- ยาคูลท์ถูกติดเกรด D (เครดิต: Yakult Singapore) -

นี่จึงเหมือนการบีบให้บริษัทเครื่องดื่มต้องปรับผลิตภัณฑ์ให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งก็ค่อนข้างได้ผล บริษัท Yakult Singapore ได้คิดสูตรยาคูลท์ใหม่ที่มีน้ำตาลน้อยลง 59.6% ทำให้มีคุณสมบัติตรงตามเกรด “B” ซึ่งปราศจากข้อจำกัดด้านการโฆษณา บริษัทฯเสริมอีกว่าจำเป็นต้องใส่น้ำตาลบ้าง เพื่อให้ตัวจุลินทรีย์มีชีวิตอยู่ได้ และช่วยทำให้ยาคูลท์ไม่เปรี้ยวเกินไป

สำหรับตัวอย่างความเห็นของผู้บริโภค สตีเวน ลิ้ม ชายวัย 32 ปี ซึ่งเป็นพนักงานขายในสิงคโปร์มองว่า ถึงแม้ฉลากใหม่นี้ไม่ได้หยุดเขาจากการกระดกเครื่องดื่มหวาน แต่ก็ช่วยเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับเครื่องดื่มเหล่านี้ และกระตุ้นให้เขาตัดสินใจออกกำลังกายมากขึ้นเพื่อสร้างสมดุล

ลิ้มเสริมต่อว่า “นี่ทำให้ผมต้องคิดสองครั้งเกี่ยวกับสิ่งที่บริโภค และยังทำให้เกิดความรู้สึกผิดมากขึ้น”

หลังจากบังคับใช้ฉลากใหม่นี้ คณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพสิงคโปร์ระบุว่า ระดับน้ำตาลเฉลี่ยในเครื่องดื่มที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบ Nutri-Grade “ลดลง” จาก 7.1% ของปริมาณทั้งหมดในปี 2017 เหลือ 4.6% ณ เดือนกันยายน 2023

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังต้องการขยายการจัดเกรดเครื่องดื่มไปยังอาหารที่มี “โซเดียม” และ “ไขมันอิ่มตัวสูง” ด้วย แต่ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดของแผนดังกล่าว ซึ่ง “ไทย” และ “อินเดีย” ก็เคยพยายามนำระบบแบ่งเกรดอาหารมาใช้ แต่ได้รับการคัดค้านจากเหล่ากลุ่มอุตสาหกรรม

ขึ้นภาษีความหวานให้สูง

นอกจากฉลากแบ่งเกรดอาหาร “การขึ้นภาษีความหวาน” เป็นมาตรการที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดในเอเชีย เพื่อจูงใจให้ประชาชนลดการซื้อของหวานลง โดยไทย กัมพูชา ลาว เนปาล และปากีสถาน ปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มในปีที่แล้ว ในขณะที่บังกลาเทศและมาเลเซียปรับขึ้นในช่วงต้นปีนี้ อีกทั้งมาเลเซียและไทยมีกำหนดปรับขึ้นภาษีนี้อีกครั้งในปี 2025

เบาหวานคร่าชีวิตทุก 5 วินาที! เอเชียร่วมสู้ศึกน้ำตาล ติดฉลาก-ขึ้นภาษี-จำกัดโฆษณา - เครื่องดื่มน้ำตาลในร้านค้าสะดวกซื้อ (เครดิตรูป: Reuters) -

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียรายงานว่า ในบางครั้ง ภาษีเหล่านี้ไม่ได้ผูกกับ “ระดับความหวาน” ของเครื่องดื่มโดยตรง ตัวอย่างเช่น อัตราภาษีสูงสุดของกัมพูชาถูกใช้กับหมวด “เครื่องดื่มชูกำลัง” ในขณะภาษีของอินเดียพุ่งเป้าไปที่ “เครื่องดื่มคาร์บอเนต” วิธีดังกล่าวอาจทำให้การจัดเก็บภาษีง่ายขึ้น แต่ก็ทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มมีแรงจูงใจปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนน้อยลง

ต่างจาก “ไทย” ภาษีความหวานนั้นเชื่อมโยงกับระดับน้ำตาลของแต่ละเครื่องดื่ม ดังนี้

ปริมาณน้ำตาล 0-6 กรัม ไม่คิดภาษี

ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดภาษี 0.3 บาท/ลิตร

ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดภาษี 1 บาท/ลิตร

ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดภาษี 3 บาท/ลิตร

ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดภาษี 5 บาท/ลิตร

ปริมาณน้ำตาล 18 กรัมขึ้นไป คิดภาษี 5 บาท/ลิตร

“เมื่อคุณขึ้นภาษี ผู้คนจะตระหนักว่าน้ำตาลน้อยลงดีต่อสุขภาพของพวกเขามากขึ้น” นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ แพทย์และนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ก่อตั้งโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้กระทรวงสาธารณสุขกล่าว

“เมื่อลูกค้ายอมรับความคิดนั้น พวกเขาจะเรียกร้องเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยลง”

ในปัจจุบัน ประมาณ 30% ของเครื่องดื่มบรรจุขวดและกระป๋องที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตไทย เป็นสูตรน้ำตาลต่ำหรือไม่มีน้ำตาลเลย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 10% ก่อนหน้านี้ ตามข้อมูลของ ผศ. นพ. สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ด้านมาเลเซีย นำเสนอแนวทางที่คล่องตัวมากขึ้น ภาษีความหวานของประเทศนี้ใช้กับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลอย่างน้อย 50 กรัมต่อลิตร หรือในกรณีของเครื่องดื่มจากผลไม้หรือผัก อย่างน้อย 120 กรัมต่อลิตร โดยกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า การบริโภคเครื่องดื่มน้ำตาลในประเทศลดลง 9.3% ในช่วง 4 ปีแรกของการเก็บภาษี

เบาหวานคร่าชีวิตทุก 5 วินาที! เอเชียร่วมสู้ศึกน้ำตาล ติดฉลาก-ขึ้นภาษี-จำกัดโฆษณา

ภัยร้ายจากโฆษณา ต่อสุขภาพของเด็ก

“โฆษณา” ถือว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเราอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่ทักษะการใช้เหตุผล และวิจารณญาณยังไม่แข็งแรง จึงสุ่มเสี่ยงที่จะคล้อยตามและเลือกบริโภคอาหารที่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพเข้าไปได้ง่าย

ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงออกระเบียบบังคับใช้ในปี 2016 “ห้ามแถมของเล่น” ร่วมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีไขมัน โซเดียม หรือน้ำตาลเกินกำหนด ส่วนเกาหลีใต้ออกกฎ ซึ่งมีผลบังคับใช้ 4 ปีก่อนหน้านั้น ห้ามโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพทางโทรทัศน์ในระหว่าง 5 โมงเย็นถึง 1 ทุ่มซึ่งมุ่งเป้าไปที่เด็ก

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไทย บรูไน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ได้นำระเบียบควบคุมการตลาดของอาหารไม่ดีต่อสุขภาพมาใช้ แต่ในหลายกรณี มาตรฐานเหล่านี้เป็นเพียงการสมัครใจหรือมีขอบเขตบังคับใช้ที่จำกัด 

รายงานของกลุ่มประเทศอาเซียนชี้ให้เห็นว่า โฆษณาของอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ อ้วนมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กในประเทศกำลังพัฒนา ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัทอาหารนานาชาติที่หันมาทำตลาดในภูมิภาคนี้มากขึ้น เนื่องจากตลาดในกลุ่มประเทศร่ำรวยเริ่มอิ่มตัวแล้ว

สำหรับไทย ได้เกิด “ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารในเด็ก” ที่ผลักดันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสองปี โดยกฎหมายฉบับนี้มีมาตรการเข้มงวดขึ้น เช่น ห้ามใช้ตัวการ์ตูนและดาราบนบรรจุภัณฑ์อาหารไม่ดีต่อสุขภาพซึ่งมุ่งเป้าไปที่เด็ก ห้ามขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในโรงเรียน นอกจากนี้ การโปรโมตทางออนไลน์จะถูกห้ามเช่นกัน และผู้ฝ่าฝืนอาจถูกปรับสูงสุดถึง 300,000 บาท

จาก “เทรนด์ใหญ่” ที่เหล่าประเทศในเอเชียหันมาตื่นตัวเรื่องเบาหวานมากขึ้น แม้การควบคุมการบริโภคน้ำตาลอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม แต่ “ในระยะยาว” จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ

อ้างอิง: channutrinikkeiกรุงเทพธุรกิจกรุงเทพธุรกิจyakult