สัญญาณเตือน พาร์กินสัน

สัญญาณเตือน พาร์กินสัน

'สั่น' ไม่ใช่การบ่งชี้แรก หากแต่เป็นสุขภาวะการนอนที่ไม่ดี นอนละเมอ นอนกรน ซึมเศร้า หดหู่ นี้ร่วมกับอาการเกร็ง ขยับตัวลำบาก

คุณน้าวัย 58 ปีถูกประคองมาพบแพทย์ด้วยอาการสั่น ปากสั่น เดินไม่ได้ ตัวเกร็ง ยืนทรงตัวมีปัญหา แต่ที่เห็นชัดเจนคือ อาการสั่นมากของมือ

พาร์กินสัน เป็นตัวเลือกอันดับแรกสุดเมื่อพิจารณาจากสภาพที่ปรากฏกับผู้ป่วย โดยเฉพาะการสั่นของมือข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นขณะที่มือข้างนั้นอยู่เฉยๆ แต่อาการสั่นจะลดลงหรือหายไปเมื่อเคลื่อนไหว พร้อมกันนี้ก็มีอาการร่วมอื่นๆ ได้แก่ อาการเกร็งที่แขนขาและลำตัว ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้าลง ตัวค้อมและอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณที่เกิดการเกร็ง เมื่ออาการเหล่านี้หนักขึ้น ผู้ป่วยจะเดิน พูด หรือทำกิจวัตรประจำวันง่ายๆ ได้อย่างยากลำบาก

นพ.อภิชาติ พิศาลพงศ์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า อาการสั่นไม่ใช่การบ่งชี้แรก หากแต่เป็นสุขภาวะการนอนตอนกลางคืนที่ไม่ดี นอนละเมอ นอนกรน ร่วมกับปัญหาด้านการดมกลิ่น ท้องผูกพร้อมด้วยอาการซึมเศร้า หดหู่ หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการเกร็ง ร่างกายขยับได้ลำบาก จำเป็นต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เกิดเหตุจากการสูญเสียเซลล์สมองในส่วนที่สร้างสารโดปามีน (Dopamine) สารสื่อประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ เรียบเรียงความคิด และควบคุมการเคลื่อนไหว ดังนั้น ในการรักษา แพทย์จะให้ยาที่ส่งผลต่อการเพิ่มสารโดปามีนในสมองให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยต้องกินยาต่อเนื่องสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการปรับขนาดยาให้เหมาะสมตามอาการเพื่อลดผลข้างเคียงจากยา

“ต้นตอที่แท้จริงของโรคพาร์กินสันยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากอาการแสดงออกที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้การตรวจวินิจฉัยต้องทำในห้องปฏิบัติการเท่านั้น โดยแพทย์จะวินิจฉัยโรคพาร์กินสันโดยดูจากประวัติการรักษา และผลการทดสอบทางประสาทวิทยา ผลข้อมูลที่ได้จากการสแกนสมองด้วยเครื่องซีทีสแกนจำเป็นในการวินิจฉัย” คุณหมออธิบาย

อย่างไรก็ตาม พาร์กินสันเหมือนกันโรคทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคเป็นเวลานานและต้องกินยาเพื่อระงับอาการต่อเนื่องหลายปี อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผลการตอบสนองต่อยาเปลี่ยนไป จึงต้องมีเทคนิคการรักษาใหม่มาเสริมคือ การผ่าตัดใส่ชุดอุปกรณ์กระตุ้นประสาทส่วนลึก

อุปกรณ์ตัวนี้จะส่งสัญญาณไฟฟ้าอ่อนๆ เข้าไปยังสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว และป้องกันไม่ให้สมองส่งคำสั่งบางอย่างที่เป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหวผิดปกติ ทำให้สามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น และควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ดีกว่าเดิม

“เทคนิคนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการดื้อยาและไม่มีภาวะเสี่ยงของโรคแทรกซ้อน หากต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยจะช่วยลดปริมาณการใช้ยา ลดภาวะข้างเคียงของยา ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้ด้วย” นพ.ศรันย์ นันทอารี ศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท กล่าว

นอกจากนี้ การฟื้นฟูผู้ป่วยพาร์กินสัน เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากพาร์กินสันเป็นโรคที่ทำให้สูญเสียสมรรถภาพทางร่างกาย ตลอดจนมีความผันผวนของอารมณ์จิตใจ ซึ่งส่งผลต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัวและสังคมด้วย

การฟื้นฟูจึงมุ่งเน้นไปที่วิธีการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถของผู้ป่วยในการช่วยเหลือตนเอง ได้แก่ การทำกายภาพบำบัดเพื่อฝึกการใช้มือและการทำกิจวัตรประจำวันให้ดีขึ้น การฝึกกลืนและการฝึกพูดให้ดีขึ้น และการดูแลทางด้านจิตใจร่วมไปด้วยในระหว่างฟื้นฟู

“การฟื้นฟูยังช่วยฝึกให้มีการชดเชยหรือทดแทนในส่วนที่เสียการทำงานไป ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรค และเพิ่มคุณภาพชีวิต ช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถรับมือกับปัญหาและอยู่กับโรคได้ดีขึ้น” คุณหมอกล่าว