ชงเก็บภาษีรถยนต์ น้ำมัน-ค่าเข้าเมืองลดมลพิษ
สกว.โชว์เทคโนโลยีแก้ปัญหาฝุ่นละออง-หมอกควัน ชี้มีมากกว่า 60 ชิ้น ลั่นมีหลายชิ้นรอการสนับสนุนต่อยอดจากภาครัฐ และเอกชน ขณะที่นักวิจัย เสนอเก็บภาษีรถยนต์ น้ำมัน ค่าเข้าเมือง ลดมลพิษในเมือง พร้อมใช้ "ไมโครบัสไฟฟ้า" ในระบบขนส่งสาธารณะ
สกว.เตรียมอัดงบหนุนงานวิจัยฝุ่น-หมอกควัน
วันนี้ (22 ก.พ.)ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ประธานเปิดงานเสวนาทางวิชาการเรื่องสถานภาพเทคโนโลยีและแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และนิทรรศการเทคโนโลยีในการตรวจวัดและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองPM 2.5 ที่โรงแรมพลูแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพ(รางน้ำ)ว่าปัญหาเกี่ยวกับฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งสกว.ได้สนับสนุนให้นักวิจัยติดเทคโนโลยีนวัตกรรมหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องด้านฝุ่นละอองและหมอกควัน ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นการโชว์เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันจำนวน 62 โครงการ โดยโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ได้มีการนำไปทดลองในพื้นที่ต่างๆ อาทิ การพัฒนาระบบเครือข่ายเซนเซอร์และระบบภูมิสารสนเทศเพื่อติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือของประเทศไทย :การศึกษานำร่องในพื้นที่จ.น่าน หรืออุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 และ AQI ขนาดเล็กและพกพา การออกแบบโครงสร้างน้ำหนักเบาสำหรับรถโดยสารไมโครบัสไฟฟ้าในประเทศไทยด้วยวัสดุคอมโพสิท เป็นต้น ซึ่งทุกงานวิจัย ล้วนสามารถนำไปใช้ได้จริงและทางสกว.จะรวบรวมงานวิจัยทั้งหมดเพื่อเผยแพร่ หากภาครัฐ หรือเอกชน พร้อมที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน ต่อยอดงานวิจัยดังกล่าว ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาฝุ่นละอองได้อย่างแท้จริง
"สกว.พร้อมสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับฝุ่นละอองและหมอกควัน เพราะเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชน และประเทศในหลายด้าน ซึ่งในปีที่ผ่านมา งานวิจัย 62 โครงการนั้น มีทั้งงานวิจัยโครงการเล็กและโครงการใหญ่ ที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณ ตั้งแต่แสนกว่าบาท ไปจนถึงล้านกว่าบาท ในปีนี้ สกว.ก็มีการตั้งงบประมาณเกี่ยวกับงานวิจัยด้านดังกล่าวไว้แล้ว เพื่อเป็นการต่อยอดและพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยีที่เกิดจากผลงานของนักวิจัยไทย และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสม และสามารถนำมาใช้ได้จริง แก้ปัญหาได้จริง" ศ.นพ.สุทธิพันธ์ กล่าว
เก็บภาษี-ค่าเข้าเมือง ลดมลพิษในเมือง
ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงแนวคิดและแนวทางเศรษฐศาสตร์แก้ปัญหาเรื่องฝุ่นว่า ปัญหามลพิษ ในประเทศนั้น สามารถแก้ได้ด้วยเศรษฐศาสตร์ โดยการเก็บภาษีรถยนต์ ภาษีน้ำมัน ที่ปล่อยมลพิษทั้งภาครัฐ เอกชน และเป็นการส่งเสริม จูงใจให้ประชาชน องค์กรต่างๆ ใช้น้ำมันสะอาดมากขึ้น รวมถึงควรมีการเก็บค่าเข้าเมือง อย่างในต่างประเทศ จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะลดการใช้ยานพาหนะในเขตเมือง แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเก็บภาษีดังกล่าวได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย ต้องทำงานร่วมกัน รวมทั้งต้องมีการศึกษาถึงผลได้ผลเสีย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย ส่วนมาตรการสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภาครัฐจะต้องส่งเสริมการใช้รถบริการสาธารณะ รถประจำทางให้มากขึ้น และต้องสนับสนุนให้เกิดรถพลังงานสะอาดดัวย
"ไมโครบัสไฟฟ้า" แก้ระบบขนส่งไทย
ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล อาจารย์คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ออกแบบโครงสร้างน้ำหนักเบาสำหรับรถโดยสารไมโครบัสไฟฟ้าในประเทศไทยด้วยวัสดุคอมโพสิท กล่าวว่าสภาพการจราจรในประเทศไทยมีความแออัด ทำให้มีการหยุดรถและเพิ่มความเร็วของรถบ่อยครั้ง จะมีค่าอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานสูงมาก ดังนั้น ในงานวิจัยดังกล่าว ได้ออกแบบร่วมกับ ขสมก. เป็นโครงสร้างรถสำหรับระยะการขับขี่ 300 กิโลเมตร โดยนำรถไฟฟ้าของบริษัท เอดิสัน มอเตอร์ส ประเทศเกาหลีใต้ ให้บริการประชาชนบนเส้นทางรถประจำทาง ซึ่งผลการทดลองเชิงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พบว่า เมื่อความเร็วเฉลี่ยต่ำจะมีอัตราสิ้นเปลืองพลังงาน ขณะที่การใช้งานที่มีความเร็วเฉลี่ยสูงจะมีค่าอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานเข้าใกล้ 1กิโลวัตต์ชั่วโมง ต่อกิโลเมตร
"เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดขนาดของแบตเตอรี่ให้เล็กลง ได้ออกแบบ โครงสร้างแบบ Semi -monocoqueหรือ โครงสร้างส่วนรับแรงส่วนใหญ่เป็นผิวและมีคานรองรับพื้นห้องโดยสาร จากวัสดุคอมโพสิท และแบบแซนวิชแทนเหล็ก โดยคำนึงถึงขนาดและลักษณะของรถโดยสารให้สอดคล้องกับกฎหมายของกรมการขนส่งทางบก และผ่านมาตรฐานความปลอดภัยตาม UN-ECC ที่นำมาใช้ในกลุ่มประเทศยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ รวมถึงชนิดวัสดุและความสามารถในการผลิตในประเทศเงื่อนไขในการออกแบบอ้างอิงจากรูปแบบและลักษณะการใช้งานจริงบนท้องถนนตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล UN ECE-R66 ด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ผลการวิเคราะห์แบบจำลอง พบว่าในสภาวะการใช้งานโครงสร้างพื้นที่รองรับแบตเตอรี่เป็นส่วนที่เกิดความเค้นสูงสุด ขณะที่ภายใต้สภาวะการพลิกคว่ำโครงสร้างบริเวณด้านข้างของรถโดยสารและเสาเกิดความเสียหายบางส่วน ดังนั้น งานวิจัยดังกล่าวสามารถนำมาใช้งานได้จริง และลดฝุ่นละอองที่เกิดจากการขนส่งได้" ผศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าว
เชื้อเพลิงชีวภาพลดปริมาณมลพิษเขม่าได้50%
ผศ.ดร.ปรีชา การินทร์ อาจารย์หลักสูตรยานยนต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่าเครื่องยนต์ดีเซลจะปล่อยมลพิษอนุภาคเขม่าจากการเผาไหม้ในปริมาณที่สูง และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งในปอด อุปกรณ์กรองมลพิษอนุภาคเขม่าดีเซลหรือ DPF เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลังการเผาไหม้ที่ถูกออกแบบให้สามารถดักและสลายมลพิษอนุภาคเขม่าได้โดยอัตโนมัติ ควบคู่กับระบบควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีแผนจะนำมาใช้ในประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้ การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจะช่วยลดปริมาณการปล่อยแก็สคาร์บอนไดออกไซด์ ต้นเหตุของปัญหาโลกร้อน การใช้น้ำมันไบโอดีเซลซึ่งมีอะตอมของออกซิเจนในโมเลกุลเชื้อเพลิงจะสามารถลดปริมาณมลพิษอนุภาคเขม่าจากไอเสียเครื่องยนต์ตามสัดส่วนที่ผสมในน้ำมันดีเซล โดยลดปริมาณมลพิษอนุภาคเขม่าได้สูงสุดถึงประมาณ 50% เมื่อใช้น้ำมันไบโอดีเซลล้วนในเครื่องยนต์จุดระเบิดด้วยการอัดแบบฉีดตรง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลหรือปัญหาระบบการขนส่งนั้น จะต้องมีการส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น เพราะไม่ใช่เพียงลดปัญหาฝุ่นละออง มลพิษทางอากาศแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรภายในภูมิภาคอาเซียนได้อีกด้วย
เสนอเซนเซอร์เฝ้าระวังหมอกควันภาคเหนือ
ผศ.ดร.สรรเพชร ชื้อพิธิไพศาล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยการพัฒนาระบบเครือข่ายเซนเซอร์และระบบภูมิสารสนเทศเพื่อติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือของประเทศไทย :การศึกษานำร่องในพื้นที่จ.น่าน กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือนั้น เป็นปัญหาเกิดขึ้นมานาน และมีหลายหน่วยงานได้ลงพื้นที่ไปร่วมแก้ปัญหา ซึ่งการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกระจายไปทุกพื้นที่ของชุมชน เพื่อสร้างระบบติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที และเป็นข้อมูลเสริมจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศหลักที่มีอยู่ในอำเภอเมืองของทุกจังหวัดของภาคเหนือตอนบน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีขนาดเล็ก ติดตั้งใช้งานง่ายและสะดวกในการบำรุงรักษา สามารถตรวจวัดค่าความเข้มข้นของ PM 1.0 PM 2.5 และ PM 10 รวมถึงค่าอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ โดยผ่านการสอบเทียบค่ากับเครื่องมือตรวจวัดมาตรฐานที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมและสถานีตรวจวัดมาตรฐาน เพื่อกำหนดค่าปรับแก้ข้อมูล มีจอแสดงผลค่าข้อมูล และLED เพื่อใช้แสดงสถานะของค่าหมอกฝุ่นควันอย่างง่ายๆ ตัวอุปกรณ์เชื่อมต่อกับ Wifi และส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบ Cloud ทุก 5 นาที ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐ และประชาชนสามารถเข้าดูได้ที่ http://cusense.net/ พร้อมระบบการเตือนผ่านทวิตเตอร์ @foonReporter เป็นการให้ประชาชนได้เฝ้าติดตามสถานการณ์และร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด จึงอยากฝากให้รัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการติดตั้งระบบดังกล่าวไปจังหวัดอื่นๆ