แนะพ่อแม่เฝ้าระวังคลิปการ์ตูนแฝงเนื้อหาอันตราย
กรมสุขภาพจิต แนะพ่อแม่เฝ้าระวังคลิปการ์ตูนแฝงเนื้อหาอันตรายที่กำลังระบาด
วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีข่าวเกี่ยวกับกับการพบคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กที่ถูกดัดแปลงขึ้นมาใหม่เพื่อเผยแพร่บนช่องทาง YouTube โดยผู้สร้างแอบสอดแทรกเนื้อหาที่มีความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายตนเอง อยู่ระหว่างเนื้อเรื่อง ซึ่งผู้สร้างคลิปอาจมีความจงใจใช้ฉากในการ์ตูนเพื่ออำพรางเล็ดลอดการตรวจจับของระบบรักษาความปลอดภัยบน YouTube และ YouTube Kids
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับคลิปการ์ตูนที่สอดแทรกเนื้อหาความรุนแรงที่ปรากฏนั้น เป็นการจงใจสร้างขึ้นเพื่อมุ่งเป้าโจมตีเด็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ให้ทำร้ายตัวเองตามแบบอย่างในคลิป นอกจากคลิปดังกล่าวแล้ว ทราบว่ายังมีคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กอีกจำนวนหนึ่งถูกนำมาดัดแปลงสอดแทรกให้มีความรุนแรงประเภทอื่นๆปะปนอยู่ด้วย เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน และการค้ามนุษย์ ซึ่งเมื่อผู้ปกครองตรวจสอบแบบผิวเผินอาจไม่พบความผิดปกติของเนื้อหาในเบื้องต้น เนื่องจากเนื้อหาอันตรายมักถูกนำมาสอดแทรกอยู่ส่วนกลางเนื้อหาของคลิป โดยอันตรายที่แอบแฝงมาในสื่อสำหรับเด็กเหล่านี้ อาจทำให้เด็กและเยาวชนที่ไม่เข้าใจผลกระทบจากความรุนแรงนั้นหรือไม่ได้รับการดูแลติดตามอย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครอง เกิดผลกระทบทางจิตใจได้อย่างมาก เช่น ความเครียด ความกลัว ความวิตกกังวล ฝันร้าย ไม่อยากไปโรงเรียน อารมณ์ซึมเศร้า หรือทำร้ายตัวเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ตามคำชักชวนที่ถูกแทรกในคลิปการ์ตูนได้
ทั้งนี้ พ่อแม่และผู้ปกครองควรให้การดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ควรนิ่งนอนใจ ไม่ควรปล่อยให้เด็กใช้สื่อเพียงลำพังโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ควรควบคุมเวลาและประเภทเนื้อหาสำหรับเด็กอย่างละเอียดถี่ถ้วน พยายามติดตามกิจกรรมออนไลน์ของลูกอย่างสม่ำเสมอ ใช้เวลาในการดูสื่อออนไลน์ไปพร้อมๆกับเด็ก ให้คำแนะนำที่เหมาะสมเกี่ยวกับเนื้อหาที่ปรากฏในสื่อต่างๆ มีการพูดคุยอย่างสม่ำเสมอในครอบครัวเกี่ยวกับเนื้อหาที่พบเจอบนโลกออนไลน์ หากเด็กได้รับสื่ออันตรายเหล่านี้ไปแล้ว ควรเปิดใจพูดคุยในสิ่งที่เด็กได้รับรู้มาและติดตามอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติตามที่กล่าวมาข้างต้น เช่น มีความเครียดรุนแรง สามารถขอรับบริการปรึกษาที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสม