แพทย์ทางไกลอัจฉริยะ เทคโนโลยีตัวช่วย ติดตามดูแลผู้ป่วยเรื้อรังติดเตียง
จากการศึกษาวิจัยเรื่อง “ตัวแทนแพทย์ทางไกลอัจฉริยะแบบพกพาเพื่อสนับสนุนการตรวจวัดและให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพผู้ป่วยติดเตียงในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง”
โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สนับสนุนให้ทีมวิจัยจาก ม.พิษณุโลก ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และ รพ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ร่วมศึกษารูปแบบฐานความรู้ เงื่อนไขที่จำเป็นต่อการตัดสินใจในการประเมินและติดตามความรุนแรงของอาการโรค ตลอดจนออกแบบและพัฒนาตัวแทนแพทย์ทางไกลอัจฉริยะแบบพกพา เพื่อสนับสนุนการตรวจวัดและให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยติดเตียงในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
ผศ.ปราโมทย์ สิทธิจักร หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า เป็นการประมวลผลองค์ความรู้โดยใช้เทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงและให้ข้อมูลช่วยตัดสินใจ ประเมินระดับความรุนแรงของอาการโรค ให้คำแนะนำการดูแลรักษาและบำบัดอาการโรค รวมทั้งแจ้งเตือนการส่งต่อผู้ป่วยที่มีระดับอาการรุนแรงหรือมีอาการไม่น่าไว้วางใจเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลผลการตรวจสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละรายไว้ดูย้อนหลังได้ด้วย
“ทีมวิจัยได้พัฒนาฐานความรู้เพื่อการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ มะเร็ง เบาหวาน ถุงลมโป่งพอง หัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง อัมพฤกษ์/อัมพาต หลอดเลือดสมอง รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่มีหลายโรคร่วมกัน โดยใช้การประมวลผลด้วยโมเดลอันชาญฉลาด บูรณาการร่วมกับการจัดการฐานความรู้บนระบบ Cloud ที่พัฒนาขึ้นด้วยกระบวนการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมกับแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์ในการตรวจรักษาและดูแลผู้ป่วยติดเตียง”
นักวิจัย อธิบายว่า ตัวแทนอัจฉริยะหรือตัวแทนชาญฉลาด (Intelligent Agent) เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนการทำงานให้แก่บุคคล ซึ่ง Intelligent Agent สามารถดำเนินการซ้ำๆ และมีความชาญฉลาดที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจข้อมูล เพื่อนำมาสรุปให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ได้ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูลมาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการดูแลและข้อมูลทางการแพทย์เพื่อช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ถูกต้องจากระยะไกลในการวินิจฉัย รักษา ป้องกันโรค และประเมินผล ภายใต้ระบบการประมวลผลตามข้อมูลหลักฐานที่มี เพื่อแนะนำการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยติดเตียงแบบอัตโนมัติ
ระบบยังสามารถเข้าถึงอุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจวัดค่าที่มีความจำเป็นต่อการประเมินสภาวะสุขภาพ เช่น ตัววัดอัตราการเต้นหัวใจ ความดันโลหิต ออกซิเจนในเลือด อุณหภูมิในร่างกาย ความชื้นจากการปัสสาวะ และการตรวจจับความผิดปกติการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย และมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับระบบถามตอบค้นหาอาการผิดปกติ เพื่อรวบรวมและส่งข้อมูลสุขภาพเข้าสู่ขั้นตอนวิธีการประมวลของซอฟแวร์ตัวแทนอัจฉริยะ เพื่อทำการตัดสินใจ วินิจฉัย และแนะนำด้านสุขภาพสำหรับผู้ป่วยติดเตียงผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ของตัวอุปกรณ์พกพาที่ติดตั้งใกล้ตัวผู้ป่วย และผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น Doctor9 App ที่ผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงข้อมูลสุขภาพและคำแนะนำการดูแลผู้ป่วยได้จากทุกสถานที่และทุกเวลา
ผศ.ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับฐานความรู้ของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จากการเก็บรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้จากแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และนักกายภาพบำบัด ที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจรักษาโรคเรื้อรังในผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 20 คน จากโรงพยาบาลพื้นที่ จ.สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เช่น ลักษณะอาการของโรค การควบคุมและติดตามผู้ป่วย การพิจารณาแนวโน้มของโรค และสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ เพื่อการดูแลไม่ให้การดำเนินของโรคไปสู่ภาวะที่แย่ลงหรือเสียชีวิต โดยการสนทนากลุ่มกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซ้ำอีกครั้ง ข้อสรุปพบว่า การพัฒนาฐานความรู้เชิงความหมายใน AI จะทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีในการให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่ถูกต้อง คลอบคลุม และได้ผลลัพธ์ที่ตรงเป้าหมายมากกว่าการพัฒนา AI เพื่อต่อเชื่อมกับระบบฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ทั่วๆ ไป
“ทั้งนี้ AI ที่วิจัยและพัฒนาขึ้น สามารถรับค่าสัญญาณชีพที่ผิดปกตินำมาพิจารณาร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ ที่ได้มาจากระบบถามตอบอัตโนมัติ ซึ่งสามารถทำนายอาการโรคที่เกี่ยวข้องที่ผู้ป่วยประสบอยู่ เช่น การเกิดแผลอาจพัฒนาไปเป็นแผลกดทับ หรือติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เป็นต้น และยังช่วยแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้อาการดีขึ้น เช่น การทำแผล การล้างไต การรับประทานอาหาร และการทำกายภาพบำบัด รวมทั้งระบบจะรองรับให้แพทย์ส่งข้อมูลการนัดหมายตรวจพิเศษ ณ โรงพยาบาลผ่านเว็บไซต์แอพพลิเคชั่นสำหรับแพทย์และพยาบาล และผู้ป่วยสามารถทราบการนัดและผลตรวจได้ที่หน้าจออุปกรณ์ได้เลย”
ทั้งนี้การใช้อุปกรณ์ดังกล่าว หากติดอยู่กับเตียงผู้ป่วย โดยฝึกให้ผู้ดูแลใช้งาน แล้วบันทึกข้อมูลส่งไปที่ระบบ Cloud แพทย์จะสามารถติดตามและดูแลผู้ป่วย โดยวินิจฉัยจากข้อมูลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่โรงพยาบาลแบบ Real time ได้เลย ซึ่งจากการนำไปทดสอบพบว่า ฐานความรู้ต่างๆ ได้รับการยอมรับจากบุคลากรทางการแพทย์ว่ามีเมนูการใช้งานที่ครอบคลุม ถูกต้อง ตลอดจนมีรูปทรงเหมาะสมกับการใช้งาน
หมายเหตุ : ต้นทุนในการผลิตอุปกรณ์ตัวแทนแพทย์ทางไกลอัจฉริยะแบบพกพา อยู่ที่ 15,000 บาท/เครื่อง ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยวางแผนนำวัสดุเหลือใช้มาประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสของการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และหลังจากงานวิจัยฯ ได้ผ่านการรับรองการทำวิจัยในมนุษย์ และมีการทดสอบเครื่องต้นแบบให้มีประสิทธิภาพแล้ว ทางทีมวิจัยกำลังดำเนินการเรื่องการจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงวางแผนในการผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อการใช้งานที่กว้างขวาง เกิดประโยชน์กับระบบสุขภาพในภาพรวมต่อไป