ในนามของ “คนดี” ทำไมผู้คนจึงชอบการประชาทัณฑ์
ไม่มีใครอยากเป็นคนชั่วร้าย แต่ในนามของความดี ทำไม "คนดี" ถึงกลายหนึ่งในคนโหดร้ายที่ชื่นชอบการประชาทัณฑ์ไปได้
ไม่ได้เป็นญาติสนิทมิตรสหายของผู้ถูกกระทำ แต่ความโกรธแค้นขยายไปสู่ผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ด้วยความห่วงใย ด้วยคุณธรรมประจำใจ การประชาทัณฑ์จึงเกิดขึ้น
- ทำไมเราจึงชอบการลงโทษผู้อื่น
ปกติแล้วคนเราอยากเป็นคนดี อยู่ในกรอบศีลธรรม ไม่อยากทำร้ายให้ใครเดือดร้อน แต่ระบบป้องกันตัวเองตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ หากมีใครมาทำร้ายเรา “การแก้แค้น” ย่อมเกิดขึ้น เพื่อเตือนให้คนๆ นั้นรู้ว่า “อย่ามาทำร้ายฉันอีก ไม่งั้นจะเจอดี” และการแก้แค้นหรือลงโทษกลับนั้นก็ได้ผล ผู้ที่ถูกลงโทษก็จะเกิดการหลาบจำขึ้นมา ทำให้มนุษย์ซึมซับมายาวนานว่า “การลงทัณฑ์” บุคคลที่ทำผิดต่อเราเป็นสิ่งที่ดี ทำให้สามารถเราปกป้องชีวิตตัวเองและครอบครัวได้ เราจึงมี DNA ที่ชื่นชอบการลงโทษอยู่ลึกๆ กันถ้วนหน้า ขึ้นอยู่กับว่าจะมีสถานการณ์ให้มันเผยตัวออกมาหรือเปล่า
การทำร้าย ลงโทษ หรือแก้แค้นกันโดยตรงระหว่างคู่กรณีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติ แต่การลงโทษโดยบุคคลที่ 3 ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นโดยตรง มีความสำคัญในแง่ของการควบคุมความเป็นธรรมในสังคม เช่น หากเราเห็นคนถูกทำร้าย เราก็อาจเข้าไปช่วยห้าม หรือแจ้งเหตุ เห็นคนถูกกระชากกระเป๋า คนรอบๆ ที่เห็นเหตุการณ์ก็อาจพุ่งเข้าไปช่วยเหลือจับตัวคนร้าย บางทีก็เลยเถิดไปถึงรุมทำร้ายให้หลาบจำ ก่อนถึงมือตำรวจ
การไม่เพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของคนอื่นก็นับเป็นเรื่องดี เพราะช่วยกันดูแลและควบคุมสังคมในระดับหนึ่ง
แต่...บางทีความโกรธแทนก็แปรไปเป็นความสะใจ แล้วกลายเป็นการประชาทัณฑ์ ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Lynching ศัพท์นี้เกิดขึ้นในตอนใต้ของอเมริกา หลังสงครามกลางเมือง ช่วงที่ปลดแอกคนผิวดำ เมื่อยกเลิกทาสแต่การเหยียดผิวไม่จบลง นอกจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในสังคมสาธารณะแล้ว การที่คนผิวดำเริ่มเข้ามามีบทบาท แย่งงาน (แรงงาน) คนผิวขาว ทำให้เกิดการรุมทำร้ายคนผิวดำอย่างเอิกเกริก อย่างเหมือนจะชอบธรรม แต่มันคือการรุมประชาทัณฑ์อย่างโหดร้าย
- หรือสื่อโซเชียลกระตุ้นอุปทานหมู่
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมเราย่อมคล้อยตามสังคมใกล้ชิดได้โดยง่าย แม้ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับเหตุการณ์ดราม่าหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อผู้อื่น แต่ผู้คนก็พร้อมจะสนใจ (ไทยมุง) พร้อมไปแสดงความเห็นกันถ้วนหน้า
จากการรุมดักหน้าสถานีตำรวจเมื่อมีการเคลื่อนย้ายผู้ต้องหา ญาติพี่น้องและชาวบ้านต่างก็มารอรุมบ่มเพาะอารมณ์โกรธแค้น ยิ่งคดีอุจฉกรรจ์เท่าไหร่ ผู้ต้องหาคนนั้นก็ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกประชาทัณฑ์ จึงเห็นเป็นภาพคุ้นตาว่าผู้ต้องหาบางคนต้องใส่เสื้อเกราะ หมวกนิรภัย ตำรวจเองก็ต้องคอยคุ้มกันห้ามเหตุ ไม่ให้เป็นการทำร้ายบานปลายใหญ่โต เพราะถึงอย่างไร นักโทษก็มีสิทธิของเขา และต้องได้รับโทษจากการกระทำผิดตามกฎหมายอยู่แล้ว
แต่การรุมแสดงความคิดเห็น เข้าไปถล่มคนที่ทำผิดพลาด (และอาจป่วยทางจิต) ลามไปถึงพ่อแม่ ครอบครัว แฟน และญาติที่นามสกุลเดียวกันยังโดนไปด้วย ส่วนหนึ่งเพราะโซเชียลเน็ตเวิร์คที่แพร่กระจายคลิปไปอย่างรวดเร็ว เช่น คลิป “หนุ่มแว่นหัวร้อน” ที่ไปเร็วไปไกลยิ่งกว่าโฆษณาไวรัลที่ลงทุนเป็นล้าน จนถึงการตามไปดักรอดูหน้าคน “รวยจนขาดสติ” รอต่อว่าเขาด้วยความบันเทิง ตะโกนด่าบิดามารดาเขาราวกับเขาทำอาชญากรรมร้ายแรง เอาล่ะ การดูถูกคน หมิ่นชาติ หมิ่นสถาบันก็ร้ายแรง แต่เราอย่าลืมมองย้อนตัวเองด้วย
โซเชียลมีเดียคือส่วนสำคัญของไฟลามทุ่ง ต่อให้ไม่ใช่สังคมใกล้ชิด แต่สื่อโซเชียลก็ดึงคนเข้ามาดูราวกับอยู่ร่วมในเหตุการณ์ ความเห็นนับพันนับหมื่นที่สอดคล้องกันไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้ขนบที่ควรจะเป็นของสังคม ทำให้คนเชื่อว่าเรานี่แหละคือหนึ่งในคนดี ที่สามารถตัดสินความดีความชั่วของคนอื่นได้ เรามีอาวุธคือความเห็นที่กลายเป็นกลุ่มก้อนของอารมณ์ร่วมอันคุกรุ่น ถึงขั้นขาดสติตามหนุ่มแว่นหัวร้อน เหตุการณ์ดักรอดูหน้าราวกับดูมหรสพ ไม่ต่างจากความสะใจที่ได้เหยียบย่ำคนที่ทำพลาด
และไม่ต่างจากสัญชาตญาณการหัวเราะโดยอัตโนมัติเมื่อเห็นคนหกล้ม เพราะมนุษย์มีชีวิตเพื่อเหยียบย่ำผู้อื่นให้ตัวเองอยู่รอด
“สมควรแล้ว” “เลี้ยงลูกมายังไง” “ดูถูกคนไทยก็ไปอยู่ฝรั่งเศสซิ”
ไม่ได้สงสาร แต่แค่อยากรู้ว่าทุกคนถามตัวเองแล้วหรือยัง ว่าป่วยพอๆ กับหนุ่มแว่นหัวร้อนคนนั้นหรือเปล่า?
อ้างอิง: psychologytoday, washingtonpost