แพทย์เผย 'สื่อออนไลน์' ทำเด็กซึมเศร้าเพิ่มขึ้น เหตุติดเกมส์-ถูกกลั่นแกล้ง
สมาคมจิตแพทย์ฯ จัดประชุม เผยสื่อสังคมออนไลน์ ทำเด็กติดเกมส์ ถูกกลั่นแกล้งเกลียดชัง พบปัญหาซึมเศร้าตั้งแต่ระดับประถม
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 ธันวาคม 2562 ที่โรงแรมโนโวเทลเชียงใหม่ นิมมาน เจอร์นีย์ฮับ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการ จิตแพทย์สัญจรภาคเหนือ ประจำปี 2562 เพื่อแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้วิชาการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์ให้แก่ผู้ร่วมวิชาชีพ โดยมีจิตแพทย์ในเขตภาคเหนือทั้ง 14 จังหวัดเข้าร่วมประชุม เพื่อส่งเสริมป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์ให้ทันสมัยและมีคุณภาพ โดย รศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการ
รศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น และได้ส่งผลต่อเด็กทั้งในด้านบวก และด้านลบ ด้านบวกเด็กจะใช้สื่อเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสาร สามารถพูดคุยกับเพื่อนหรือญาติที่อยู่ห่างไกลได้สะดวก ครูบางท่านให้ประสานกับกลุ่มผู้ปกครอง ทำให้ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของเด็กได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นเด็กยังใช้ประโยชน์ในการเข้าค้นหาความรู้ ขณะเดียวกันบางแห่งได้ใช้เปิดชั้นเรียนสอนออนไลน์
ส่วนผลกระทบด้านลบ ที่มีตามมาจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น มีการเสพติดสื่อออนไลน์ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือ เล่นมากจนเกินไป จนพลาดกิจกรรมอย่างอื่น ทำให้เสียสัมพันธภาพกับคนรอบตัวและครอบครัว รวมถึงส่งผลกระทบต่อการเรียน ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อไม่ได้เล่น จะมีอาการหงุดหงิด อาละวาด ทำลายข้าวของ เครียด ซึมเศร้า และมีความต้องการจะเล่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดผลเสียงด้านสุขภาพ สมาธิลดลง รวมไปถึงอาจมีปัญหาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า วิตกกังวล และ ขาดความมั่นใจในตัวเอง
ปัญหาเรื่องเด็กกับการใช้สื่อออนไลน์เริ่มเพิ่มมากขึ้น จึงน่าที่จะมีหน่วยงานออกมาควบคุมดูแลการใช้สื่อออนไลน์ของเยาวชน ส่วนหนึ่งผู้ปกครองจะต้องรับทราบข้อมูลการเข้าใช้สื่อออนไลน์ของเด็กตั้งแต่เริ่มต้น ปัจจุบันเริ่มมีเด็กที่เข้ามาปรึกษาเรื่องการถูกเกลียดชัง ถูกกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ผ่านใช้สื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งโรงเรียนและผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวทำให้เด็กที่ถูกกระทำเครียด ซึมเศร้า ซึ่งปัญหาที่เริ่มมีเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากยังไม่มีการสำรวจอย่างชัดเจนจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีเพิ่มขึ้นจากจำนวนในสังคม หรือเยอะขึ้นจากที่ได้พบเด็กที่เข้ามาปรึกษา ส่วนใหญ่ที่เข้ามาปรึกษาจะเป็นเด็กวัยรุ่นที่ผู้ปกครองพาเข้าพบ ปัจจุบันพบผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าอายุน้อยลงมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มพบในเด็กชั้นประถมศึกษาช่วงอายุ 7-8 ปี แต่จำนวนยังไม่มากนัก ส่วนใหญ่พบในเขตเมือง ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นเพราะมีจำนวนมาก หรือ เข้าถึงบริการได้ง่ายกว่า ส่วนใหญ่ที่เข้ามาพบแพทย์จะเป็นกลุ่มที่มีอาการชัดเจนแล้ว ซึ่งหากพบแพทย์ตั้งแต่ช่วงเริ่มอาการ การดูแลรักษาจะง่ายขึ้น โอกาสกลับเป็นปกติได้เร็ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลของครอบครัว คนใกล้ชิดเป็นหลักด้วย