พลัง 'อสม.' รากฐานแห่งความสำเร็จ 'สาธารณสุขไทย'
ทำความรู้จัก "อสม." หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มดงานตัวจิ๋ว ดูแลสุขภาพถึงหน้าประตูบ้าน เบื้องหลังความแข็งแกร่งของสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะช่วงการระบาด "โควิด-19" ที่แม้กระทั่ง WHO ยังให้ความชื่นชม
จากกรณีการเสียชีวิตของคุณตาบุญส่ง มะนาวหวาน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ "อสม." วัย 72 ปี ที่ จ.สุพรรณบุรี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างนำหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้าน เมื่อวันที่ 22 เมย.ที่ผ่านมา จนกลายเป็นที่กล่าวถึงในสังคมออนไลน์
และช่วงเที่ยงของวันนี้ (25 เม.ย.) นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้เขียนอาลัยถึงคุณตาบุญส่งผ่านทางเฟซบุ๊ค ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha พร้อมยกย่อง "อสม." นับล้านคนที่อาสาเสียสละแรงกายแรงใจ ในการช่วยประเทศชาติฝ่าวิกฤตโควิด-19
ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ โลกโซเชียลก็เพิ่งจะแชร์ภาพน่ารักๆ ของเหล่า GRAB Drug บริการล่าสุดของเหล่า อสม. ที่สร้างกระแสโซเชียลมีเดียในช่วง 2-3 วันที่ผ่าน โดยเป็นบริการขี่จักรยานตระเวนนำยาไปแจกจ่ายถึงหน้าบ้านให้กับผู้สูงอายุ และผู้ป่วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวบ้านลดการกระจุกตัวที่โรงพยาบาล เลี่ยงความเสี่ยงรับเชื้อโรคโควิด-19 ได้กลายเป็นแนวทางที่มีแปลกใหม่
ทั้งนี้ บทบาทของ อสม. มีความสำคัญกับคนไทยตลอดมา จนถึงขั้น องค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ประจำประไทยให้ความชื่นชมระบบของการดูแลสุขภาพ ถึงระดับครอบครัว เพราะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงจะขอพาไปทำความรู้จักกับ "อสม." หน่วยงานที่รวมพลของคนตัวเล็กตัวน้อยซึ่งอยู่คู่สาธารณสุขไทยมากว่า 40 ปี จนกลายเป็นพื้นฐานแข็งแกร่งของสาธารณสุขไทย
"อสม." มีที่มาอย่างไร ทำหน้าที่อะไรบ้าง และมีความสำคัญกับระบบสาธารณสุขกับประเทศไทยอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ!
- อสม. คืออะไร
อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน คืออาสาสมัครที่ได้รับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้สามารถทำการรักษาพยาบาลได้อย่างง่ายๆ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน
โครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2520 ในระยะแรกเป็นโครงการทดลองใน 20 จังหวัด โดยทดลองในทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ตำบล เรียกว่าเป็นการใช้ “การสาธารณสุขมูลฐาน” ซึ่งเป็นวิธีหลักในการพัฒนาสาธารณสุข
สาธารณสุขมูลฐานคืออะไร?
สาธารณสุขมูลฐาน คือการดูแลสุขภาพที่อยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติ โดยใช้เครื่องมือที่ถูกต้องตามหลักการและเป็นที่ยอมรับ ในการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล ครอบครัว และชุมชน การจัดการสาธารณสุขมูลฐาน ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนและในทุกขั้นตอนต้องเกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชน
การคัดเลือกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จะคัดเลือกโดยวิธีออกเสียงในที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วยกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน กลุ่มผู้สื่อข่าวสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล แต่จะไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากทางราชการ เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจว่า อสม. เป็นข้าราชการ
อสม. ซึ่งกำเนิดขึ้นจากแนวทางในการใช้การสาธารณสุขมูลฐาน นับเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสาธารณสุขของพี่น้องประชาชนทั้งในการ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลเบื้องต้น และติดตามปัญหาสุขภาพ
กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีมติให้ วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ เนื่องจากวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2522 เป็นวันที่รัฐบาลได้บรรจุให้การสาธารณสุขมูลฐานเป็นนโยบายและโครงการระดับชาติ พร้อมคำขวัญประจำ “แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข”
- 41 ปี ของการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
หน้าที่และบทบาทของอสม.ที่มักได้เห็นกันจนคุ้นตาคือการทำหน้าที่ผู้สื่อสารนำข่าวต่างๆ ในแวดวงสาธารณสุขไปบอกกล่าวแก่ชาวบ้านเช่น การประกาศแจ้งเรื่องโรคระบาดหรือโรคติดต่อในท้องถิ่น ให้คำแนะนำชาวบ้านทั้งการใช้ยา รักษาอนามัยร่างกาย ดูแลเหงือกและฟัน ส่งเสริมสุขภาพจิต ควบคุมโรคเอดส์ ป้องกันอุบัติเหตุ รวมถึงเป็นผู้ให้บริการแก่ประชาชนอย่างการติดตามดูแลผู้ป่วยตามบ้าน จ่ายยาคุม จ่ายถุงยางอนามัย ติดตามให้แม่นำเด็กไปฉีดวัคซีนตามกำหนด นอกจากนี้ยังวางแผนและเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพสำหรับคนในชุมชน เรียกได้ว่าเป็นการทำหน้าที่ครอบคลุมตั่งแต่การเกิดจนถึงการเสียชีวิต ที่มีประโยชน์สำหรับคนในชุมชนอย่างแท้จริง
ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขมีจำนวน อสม. ทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 หมื่นคน ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดย อสม. 1 คน จะดูแลประชากรในละแวกใกล้เคียงจำนวน 20 หลังคาเรือน
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. มีบทบาทหลักคือการช่วยดูแลสุขภาพและควบคุมป้องกันโรคให้กับประชาชนในพื้นที่ ดั่งคำขวัญที่ว่า “แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข” เนื่องจากพื้นที่ที่มีประชากรจำนวนมาก อสม. ถือเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่จะคอยส่งข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐลงไปในพื้นที่
ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขมีจำนวน อสม. ทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 หมื่นคน ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดย อสม. 1 คน จะดูแลประชากรในละแวกใกล้เคียงจำนวน 20 หลังคาเรือน มีหน้าที่คอยให้ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาโรคง่ายๆ ช่วยงาน รพ.สต. ดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการที่บ้าน ตลอดจนการคุ้มครองผู้บริโภค
“อสม. ถือเป็นกำลังหลักของกระทรวงสาธารณสุข เป็นสิ่งดีๆ ที่ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยเข้มแข็งมีชื่อเสียงระดับโลก โดยเฉพาะเรื่องการสาธารณสุขมูลฐานที่ลงไปสู่ชาวบ้าน และการส่งเสริมป้องกันโรคต่างๆ เนื่องในวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ พ.ศ. 2563 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีการประกวด อสม. ดีเด่นขึ้น เพื่อเชิดชูเกียรติ์ให้กับอาสาสมัครที่ทุ่มเทช่วยงานด้านสาธารณสุขให้กับชุมชนและสังคม ซึ่งการประกวดจะมีตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จังหวัด จนถึงระดับประเทศ ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติจะได้รับการเชิดชูเกียรติ์และได้รับการเสนอให้มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย”
อสม. ที่ในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 หมื่นคน จึงถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยดูแลสุขภาพให้กับคนในชุมชน ไม่แพ้หมอและพยาบาลในโรงพยาบาลก็ว่าได้
โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด การสร้างความเข้าใจและช่วยสอดส่อง ดูแลคนในชุมชน ถือเป็นสิ่งสำคัญในการชะลอการแพร่ระบาดของโรคได้
- อสม. กับภารกิจช่วยชาติต้านโควิด
นางจรวย ล่องหลง วัย 58 ปี อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชุมชนบ้านหน้าคราม ต.ทุ่งระยะ อ.สวี จ.ชุมพร ซึ่งได้รับตำแหน่ง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีเด่น ระดับชาติ สาขาการจัดการสุขภาพชุมชนและอนามัยสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2563 จังหวัดชุมพร เล่าว่า ภูมิลำเนาเดิมเป็นคน จ.สงขลา มีอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดำ หลังจากที่ย้ายตามสามีมาอยู่ที่ จ.ชุมพร เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ช่วงนั้นไข้เลือดออกระบาดและลูกชายก็ป่วยหนักแต่โชคดีที่คุณหมอช่วยไว้ได้ ตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นโรคที่น่ากลัว แต่เราไม่มีความรู้ เราเป็นชาวบ้าน เราจะทำอย่างไร ให้สามารถช่วยชีวิตคนอื่นได้ในระดับหนึ่ง
“หลังจากนั้นเห็นในหมู่บ้านมาประชุมอสม. ตอนนั้นมีอยู่ประมาณ 20 คน จึงศึกษาว่า อสม. คือใคร ทำอะไร ต้องมีความรู้อย่างไร และรู้ว่าเขาก็เป็นคนธรรมดาแบบเรา เราก็คงทำได้เพราะอ่านออกเขียนได้จึงตัดสินใจไปสมัครอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคลองน้อย จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 18 ปี นอกจากเป็น อสม. แล้ว ยังเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และดูแลเรื่องกองทุนต่างๆ ในหมู่บ้าน รวมถึงทำสวนทุเรียนและขายของในสหกรณ์หมู่บ้าน”
ความโดดเด่นของ อสม. คือ การใช้นวัตกรรมชุมชน ที่หลายๆ เรื่องก็เกิดจากไอเดียง่ายๆ บ้านๆ แต่ได้ผลดีชนิดคนถือตำรายังงง
อย่างเช่นล่าสุด อสม. จังหวัดเชียงราย เกิดบริการขี่จักรยาน ในชื่อ Grab Drug ตระเวนนำยาไปแจกจ่ายถึงหน้าบ้านให้กับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คนใน 4 หมู่บ้าน
นางบุษบง ไชยวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่คำ ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า หลังจากที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มีความเป็นห่วงผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องเดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาลอำเภอเชียงแสน จึงได้หาวิธีการที่ปลอดภัย ด้วยการประสานงานกับทางประธานอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ทั้ง 4 หมู่บ้านของตำบลป่าสัก ด้วยการเข้ามาเป็นตัวแทนในการรับยาไปส่งต่อให้กับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง ที่มีจำนวนมากกว่า 1,000 คน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับโดยจะทำหน้าที่เข้ามารับจากจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่คำ ก่อนจะกระจายยาไปยังอสม.อีก53 คน นำไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายถึงหน้าบ้าน
จาก Grab Drug ที่มีจุดเริ่มต้นในจังหวัดเชียงราย ณ ปัจจุบันหลายๆ จังหวัดได้นำมาทดลองใช้ด้วยเช่นกัน อย่างจังหวัดยโสธรเป็นต้น ซึ่งถือเป็นแนวทางใหม่ที่มีจุดประสงค์เพื่อเอื้อความสะดวกสบายแก่ประชาชน
เรียกได้ว่า อสม. ถือเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน และได้ทำหน้าที่อย่างคำขวัญ “แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข” เพื่อประชาชนตลอด 41 ปีที่ผ่านมา.
อ้างอิง